คุยกับทูต ฮาเซ็ม เอล ดาห์รี จากดินแดนฟาโรห์ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ (1)

ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เฮอรอโดทัส (Herodotos หรือ Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวว่า “อียิปต์เป็นของขวัญจากแม่น้ำไนล์” (Egypt is the gift of the Nile)

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอียิปต์เป็นส่วนของทะเลทรายสะฮารา ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี น้ำในแม่น้ำไนล์จะไหลท่วมท้นฝั่งทั้งสอง และจะเริ่มลดลงในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทิ้งโคลนตมไว้ตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำ

โคลนตมเหล่านี้เป็นปุ๋ยช่วยสร้างดินให้อุดมสมบูรณ์สำหรับปลูกพืชผล และยังทำให้ชาวอียิปต์โบราณได้รู้จักวิธีทำนา ทำนบกั้นน้ำ และการขนส่ง โดยขุดคูส่งน้ำลำเลียงเข้าไปในดินแดนซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากฝั่ง เป็นการขยายพื้นที่ประกอบการกสิกรรม

แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำในทวีปแอฟริกาและเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวทั้งสิ้น 6,695 กิโลเมตร

ส่วนช่วงที่อยู่ในประเทศอียิปต์มีความยาวจากใต้จรดเหนือกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยกิโลเมตร รู้จักกันในนามสายน้ำแห่งอารยธรรมอียิปต์

เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต การเกิดใหม่ ความเป็นอมตะของชาวอียิปต์โบราณ

และเป็นสายเลือดใหญ่แห่งอียิปต์คอยหล่อเลี้ยงชีวิต

แม้อียิปต์จะแห้งแล้ง แต่สองฝั่งแม่น้ำไนล์ก็ประกอบด้วยหินแกรนิตและหินทราย ซึ่งใช้ก่อสร้างและพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองด้านสถาปัตยกรรม

วัสดุเหล่านี้มีความคงทนแข็งแรงและช่วยรักษามรดกทางด้านอารยธรรมของอียิปต์ให้ปรากฏแก่ชาวโลกมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ชาวอียิปต์โบราณยอมรับอำนาจและเคารพนับถือกษัตริย์ฟาโรห์ดุจเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงมีอำนาจในการปกครองและบริหารอย่างเต็มที่ทั้งด้านการเมืองและศาสนา โดยมีขุนนางเป็นผู้ช่วยในการปกครอง และพระเป็นผู้ช่วยด้านศาสนา การที่ฟาโรห์มีอำนาจเด็ดขาดทำให้อียิปต์สามารถพัฒนาอารยธรรมของตนได้อย่างเต็มที่

ชาวอียิปต์สามารถคิดค้นเทคโนโลยีและวิทยาการด้านต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ เรขาคณิต และฟิสิกส์ เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิต สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่อียิปต์ในด้านการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม

ว่ากันว่า หากปราศจากแม่น้ำไนล์ อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของอียิปต์ย่อมไม่อาจถือกำเนิดขึ้นมาได้

แม่น้ำไนล์ไหลผ่านกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ 3

บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ จึงเปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย เพราะอียิปต์ล้อมรอบด้วยทะเลทรายซึ่งเสมือนปราการธรรมชาติป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก

นอกจากนี้ แม่น้ำไนล์ยังมีอิทธิพลและความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับอารยธรรมอื่นๆ ของโลกอีกด้วย

สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า อียิปต์ เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีประชากรมากที่สุดถึง 95 ล้านคน เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาหรับที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ.1954

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียิปต์มีความก้าวหน้ามาโดยตลอด ปราศจากความขัดแย้งทางการเมือง มีการสนับสนุนกันทั้งในเวทีระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และกรอบพหุภาคีต่างๆ

อียิปต์สามารถเป็นประตูให้แก่ประเทศไทยสู่ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ขณะที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงอียิปต์กับอาเซียน โดยมีความร่วมมือกันหลายด้าน เช่น พลังงาน วิชาการ และการศึกษา

มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ การเสด็จเยือนอียิปต์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี ค.ศ.1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี ค.ศ.2007 ตลอดจนการเชิญผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al Azhar) เยือนไทย เมื่อปี ค.ศ.2007

นับเป็นความก้าวหน้าในความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ

ปัจจุบัน นายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ คือเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

และ นายฮาเซ็ม เอล ดาห์รี (His Excellency Hazem El Tahry) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.2015 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา

เอกอัครราชทูตเอล ดาห์รี เกิดที่กรุงไคโร ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1964 หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อายุ 25 ปี ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงต่างประเทศ ปี ค.ศ.1989 ในปีต่อมา สำเร็จการศึกษาจาก Egyptian Diplomatic Institute และ DSE Institute for junior diplomats ที่กรุงเบอร์ลิน

ท่านทูตเล่าว่า

“เพราะผมมาจากครอบครัวนักการทูตและสื่อมวลชน คือ คุณพ่อเป็นนักการทูตสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และคุณลุงเป็นนักการทูตประจำกระทรวงต่างประเทศ ส่วนคุณแม่เป็นนักข่าวสายการเมือง”

“ผมเป็นนักการทูตที่ได้ไปประจำสถานทูตอียิปต์ในต่างประเทศ คือ กรุงเบอร์ลิน แอลเจียร์ ดามัสกัส มอสโก โซเฟีย ออตตาวา และดูไบ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่สำคัญๆ ที่กระทรวงต่างประเทศ ในกรุงไคโร”

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะมาประเทศไทย คือ ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการรัฐสภา (Deputy Assistant Minister for Parliamentary Affairs) ที่ประเทศอียิปต์

การมีพรสวรรค์ด้านภาษาเป็นข้อดีในการทำงาน ซึ่งท่านทูตสามารถพูดได้หลายภาษา

“ผมเรียนที่โรงเรียนภาษาฝรั่งเศสในกรุงไคโร ความสามารถในการใช้ภาษาฝรั่งเศสของผมนับว่าดีกว่าภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังพูดภาษารัสเซียและบัลแกเรียได้ด้วย การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศสำหรับผมไม่เป็นเรื่องยากลำบาก ยกเว้นภาษาไทย” ท่านทูตพูดแล้วหัวเราะชอบใจ

“ผมก็พยายามแล้วนะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปัญหาคือ การออกสำเนียง”

อย่างไรก็ตาม ท่านทูตเห็นว่า การได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ถือเป็นจุดสูงสุดในสายนักการทูต เพราะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต

“เป็นการมาประเทศไทยครั้งแรกในชีวิต ซึ่งอันที่จริง ผมมีความตั้งใจที่จะมาหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่ประจำในดูไบ แม้ได้จองตั๋วเครื่องบินแล้วก็ตาม แต่มักจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นทำให้ผมไม่อาจเดินทางมาได้ ครั้นเมื่อต้องมาประจำประเทศไทยจึงรู้สึกกังวลในระยะแรก”

ท่านทูต เอล ดาห์รี ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน ก็ได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยเข้าใจด้วยตนเอง

“วัฒนธรรมไทยค่อนข้างแตกต่างจากอียิปต์และทุกประเทศที่ผมได้เคยไปปฏิบัติงาน เมื่อได้มาอยู่ที่นี่ ผมจึงเกิดความประทับใจในวัฒนธรรมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทย ซึ่งผมคิดว่า นี่คือความลับที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศไทย”

“เพื่อนชาวอียิปต์หลายคนที่มาที่นี่ทุกๆ สามเดือนหรือมากกว่านั้น ได้พยายามอธิบายเรื่องความลับนี้ให้ผมฟัง แต่ผมไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จึงได้เข้าใจและซาบซึ้งในความลับที่ว่านี้ นั่นคือ ลักษณะเฉพาะของคนไทยที่อบอุ่น เป็นมิตร น่ารัก และมักจะยิ้มแย้มเสมอ”