รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ‘จิลส์ การาชง’ พระราชสาส์นทองคำ ความลับ-สมบัติทางการทูตที่ปารีส (2)

ตอน 1

โดย : ชนัดดา ชินะโยธิน

ครั้งที่คณะราชทูตสยามนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางโดยเรือถึงเมืองแบรสต์ (Brest) แคว้นเบรอตาญ (Bretagne) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1686 ก่อนที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

เหตุการณ์แห่งความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งนี้ มีประจักษ์พยานด้วยการที่ฝรั่งเศสเรียกถนนแซงต์ ปิแอร์ (St.Pierre) และถนนหลายสาย ซึ่งคณะราชทูตใช้เป็นทางผ่าน ทั้งในกรุงปารีส (Paris) เมืองมาร์แซย์ (Marseille) เมืองแบรสต์ (Brest) และเมืองโลรียองต์ (Lorient) ว่า ถนนสยาม (Rue de Siam)

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน คือ ถนนแบรสต์ (Rue de Brest) หรือชื่อเดิมคือ ซอยเจริญกรุง 36 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1857 เมื่อนายมองตันยี กงสุลฝรั่งเศสได้ขอเช่าพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ขนาดประมาณ 4 ไร่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1875 และได้รับเอกสารกรรมสิทธิ์ ในปี ค.ศ.1925

แต่เดิมการคมนาคมติดต่อกับสถานทูตใช้ทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (ค.ศ.1893) กองทัพฝรั่งเศสนำเรือรบสองลำเข้ามาเทียบท่าที่หน้าสถานทูต

ต่อเมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุง จึงทำถนนเป็นทางเข้าอีกด้านหนึ่งด้วย

%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%b9%e0%b8%95-2ตัวอาคารบ้านพักเอกอัครราชทูตซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ก่อสร้างโดยช่างชาวอิตาเลียน อาคารสูง 3 ชั้น ระเบียงด้านหน้าหันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มุขหน้าสูง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นจากภายนอก 2 ปีกของมุข ที่จั่วมุขประดับอักษรย่อ fr หมายถึง France (ประเทศฝรั่งเศส) ชายคาตกแต่งด้วยลูกไม้และไม้แกะสลัก ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเวลาก่อสร้างอาคารที่แน่นอน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ราว ค.ศ.1857 บ้านหลังนี้ก็เป็นที่อยู่ของกงสุลฝรั่งเศสแล้ว

อาคารนี้เป็นทั้งที่ทำการสถานทูต และบ้านพักหรือทำเนียบเอกอัครราชทูต แต่เมื่อย้ายที่ทำการสถานทูตไปยังอาคารใหม่ อาคารเดิมจึงเป็นบ้านพักเพียงอย่างเดียว

มีการบูรณะครั้งใหญ่ปี ค.ศ.1959-1968 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ ค.ศ.1984 หลังจากนั้น มีการปรับปรุงตกแต่งเป็นระยะๆ โดยยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้

นับเป็นครั้งที่สองที่ท่านทูตการาชงมาประจำที่ประเทศไทย และเดือนตุลาคมปีนี้เป็นเวลาครบรอบ 1 ปีเต็มในตำแหน่งเอกอัครราชทูต

“ผมได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งในการเป็นตัวแทนของประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยในทุกๆ ด้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมกับให้ความช่วยเหลือคุ้มครอง ดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนฝรั่งเศสในประเทศไทย”

%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%b9%e0%b8%95-1

“การทำงานของเอกอัครราชทูตนั้น เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นผู้ควบคุม (conductor) วงดนตรีขนาดใหญ่ (orchestra) ต้องคอยตรวจสอบว่า นักดนตรีทุกคนสามารถเล่นเครื่องดนตรีของตนให้ออกมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างถูกต้องแน่นอน ทูตเป็นตัวแทนของประเทศ ผมจึงมีตารางนัดหมายที่แน่นมากทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานทูต”

“ผมชอบมากที่งานนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารได้พบปะพูดคุย ทำความรู้จักกันและกัน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากบุคคลต่างๆ เป็นการฝึกฝนที่ช่วยให้สามารถวิเคราะห์เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ และในฐานะที่ผมเป็นนักประวัติศาสตร์เก่า จึงมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างดี”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ท่านทูตสามารถพูดภาษาพม่าและภาษาฮินดีได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนภาษาไทยก็ได้ในระดับหนึ่งเพียงพอในการสื่อสารกับคนขับแท็กซี่ แม้ส่วนมากจะใช้ลีมูซีนของสถานทูตก็ตาม

“ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1856 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ” ท่านทูตการาชงเล่าประวัติศาสตร์ต่อ

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งคณะราชทูตนำโดย พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อถวายพระราชสาส์นทองคำ (Golden Letter) และเครื่องราชบรรณาการ มีงานเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตสยาม ในวันที่ 27มิถุนายน ค.ศ.1861 ณ พระราชวังฟงแตงเบลอ (Château de Fontainebleau) ตั้งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 55 กิโลเมตร อันปรากฏเป็นภาพวาดสีน้ำมันแสดงถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจนี้โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฌ็อง-เลออง เฌอโรม (Jean-Léon Gérâme)”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“พระราชสาส์นทองคำฉบับนี้เป็นสมบัติของฝรั่งเศส เพิ่งได้รับการบูรณะเพื่อจัดแสดงในงานศิลปะเพื่อสันติภาพ (L’art DE LA PAIX) ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ปีนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เปอตี ปาเล (Le Petit Palais) กรุงปารีส อันเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและฝรั่งเศสครบรอบ 160 ปี (ค.ศ.1856-2016) จัดโดยกระทรวงต่างประเทศและการพัฒนาระหว่างประเทศของฝรั่งเศส (French Ministry of Foreign Affairs and International Development)”

“พระราชสาส์นในลักษณะเดียวกันจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว พระราชสาส์นฉบับที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ จึงเป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่ง ผมจึงขอแนะนำว่า ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสอยู่ในกรุงปารีสช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ควรไปชมงานศิลปะเพื่อสันติภาพ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับและสมบัติล้ำค่าทางการทูต”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.2016 ณ หอจดหมายเหตุการณ์ทูตของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส (Les archives diplomatiques) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต และภริยาได้ทูลเชิญพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จทอดพระเนตรพระราชสาส์นทองคำ และเอกสารประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีผู้แทนหอจดหมายเหตุฯ และเจ้าหน้าที่รับเสด็จ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยและฝรั่งเศส มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ประทับใจ โดยเฉพาะทำเนียบแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเราไม่เคยย้ายออกจากที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเหมือนอย่างสถานทูตบางประเทศ”

“เนื่องในโอกาสครบรอบ 160 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เราจะมีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองในเดือนธันวาคมปีนี้ ณ บริเวณสวนอันสวยงามของเรา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”

“ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและฝรั่งเศสเป็นไปอย่างแนบแน่นและยาวนาน ผมพร้อมด้วยทีมงานกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อมุ่งมั่นสานต่อความสัมพันธ์ให้มีพัฒนาการก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป”