เยียวยาโควิด : เปิดเงื่อนไข ‘เราชนะ’ ก่อนลงทะเบียน 29 ม.ค. จ่อถกช่วยพนักงานประจำ

วันที่ 28 มกราคม 2564 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ถึงมาตรการ “เราชนะ” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอกใหม่”

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “เราชนะ” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยแจกเงินเยียวยา 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาทตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค.64 โดยการลงทะเบียนจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com

ทั้งนี้การลงทะเบียน ‘เราชนะ’ มีเงื่อนไขเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนการลงทะเบียน ดังนี้
คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน

ผู้มีสัญชาติไทย 18 ปีขึ้นไป
ไม่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33
ไม่เป็นข้าราชการ
ไม่เป็นข้าราชการการเมือง
ไม่รับบำนาญหรือเบี้ยหวัดจากราชการ
ไม่มีรายได้เกิน 3 แสนบาท
เงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท

3 กลุ่มที่ได้สิทธิ “เราชนะ”

กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) จำนวนประมาณ 14 ล้าน คน

กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ต้องลงทะเบียน โดยได้รับสิทธิ์ทันที แบ่งเป็น

ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับเพิ่มสัปดาห์ละ 675 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,700 บาทต่อคนต่อเดือน บาท
ผู้ที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท จะได้รับเงินเพิ่มเป็น 700 บาทต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 2,800 ต่อเดือน

การโอนเงิน จะโอนเงินให้สัปดาห์ละครั้ง โดยเงินจะเข้าครั้งแรก วันที่ 5 ก.พ.64 และต่อไป จนกว่าจะครบ 7,000 บาท

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่เปิดใช้งานแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และผ่านการยืนยันตัวตนแล้ว

กลุ่มที่อยู่ใน G-wallet เช่น ผู้ที่ลงทะเบียนคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่จะต้องกด Consent หรือ “ยินยอม” เพื่อให้รัฐเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเรื่องของรายได้เพิ่มเติม

โดยผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อตรวจสอบแล้วผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินเข้าเป๋าตังเช่นเดียวกัน โดยจะได้เป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะเริ่มจ่ายครั้งแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ

ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง หรือประชาชนที่ไม่ได้มีฐานข้อมูล จะเปิดให้ลงทะเบียนใน www.เราชนะ.com วันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยจะโอนเงินช่วยเหลือทุกวันพฤหัสของสัปดาห์ โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป

บุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่ 3 ได้แก่

  • หาบเร่ แผงรอย
  • อาชีพอิสระ
  • เกษตกร
  • ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40
  • ผู้มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562)
  • ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ จะสามารถใช้วงเงินได้ถึงเดือน พฤษภาคมนี้เท่านั้น หากใช้สิทธิ์ไม่หมดไม่มีสิทธิ์ใช้เงินต่อ

อีกทั้ง ผู้ได้รับสิทธิ์จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ ต้องนำไปใช้ผ่านระบบเพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI – METER) และรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

รวมทั้งบริการต่าง ๆ ยกเว้นสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ในส่วนผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองหรือวิสาหกิจชุมชน

จ่อถกตั้งงบจ่ายเยียวยา ผู้ประกันตน ม.33 ต่อลมหายใจช่วง ‘โควิด’

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเรียกร้องให้เยียวยา กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 จะมีมาตรการเยียวยาหรือไม่ ว่า ผู้ประกันตนมาตราดังกล่าวมีประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งขณะนี้เรากำลังดูว่ารูปแบบที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

ส่วนรายละเอียดขอให้รอผลสรุปก่อน เนื่องจากต้องหารือกับทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา (สศช.) ถึงรูปแบบและวิธีการและต้องหารือกับ รมว.คลัง เนื่องจากงบประมาณที่จะใช้ดำเนินงานจะเป็นของกระทรวงการคลัง แต่ขณะนี้มีแนวโน้มสัญญาณที่ดี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็เป็นห่วง จึงให้ไปหาวิธีการในการช่วยเหลือ

“มีนักการเมืองที่อาจจะไม่เข้าใจระบบประกันสังคม ไม่เข้าใจรัฐบาลแล้วบอกว่ารัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งที่รัฐบาลอุดหนุนเงินกองทุนประกันสังคมปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยไปอยู่ในกองทุนว่างงาน และกองทุนชราภาพ ซึ่งกลับไปให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่ผ่านมาในอดีตกองทุนประกันสังคมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2.75 % แต่รัฐบาลที่ผ่านมาติดค้างยาวนานมูลค่า เป็น 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้ได้อุดหนุนและใช้หนี้เก่าให้กองทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า ในการระบาดของโควิด-19 รอบแรกใช้เงินประกันสังคม 62% ในการช่วยเหลือแรงงานกว่า 9 แสนคน ครั้งนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะช่วยเหลือเยียวยา โดยล่าสุดรัฐบาลจ่ายไปอีก 3 หมื่นกว่าล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและปิดกิจการ โดยคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ดังนั้นผู้ประกันตนในระบบไม่ต้องเป็นห่วง เรามีวินัยทางการเงินการคลังอย่างดีและจะพยุงช่วยเหลือทุกคนตามสิทธิที่ประโยชน์ที่ควรได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการเยียวยา ผู้ประกันตน มาตรา 33 ทางกระทรวงแรงงาน จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณารูปแบบการเยียวยา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจ่ายเป็นเงินให้กับผู้ประกันตน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจ่ายเยียวยา 7,000 บาท ทั้งนี้กรอบวงเงินที่จะเยียวยาจะต้องหารือถึงให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน