อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | Shades of Red #ทุกอย่างไม่ได้ซอฟต์ลงเพราะเป็นพาสเทล

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อวันที่ 1 เมษยนที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอีกงานหนึ่ง เลยถือโอกาสหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

Shades of Red

อันเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินหนุ่มชาวไทยชื่อ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ผู้สร้างผลงานโดดเด่นในวงการศิลปะร่วมสมัยของบ้านเรามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ภายในห้องแสดงงานโปร่งโล่ง บนผนังสีขาวสะอาดตา มีภาพถ่ายสี่เหลี่ยมสีแดงบนกรอบสีขาวจำนวนนับร้อยภาพติดเรียงรายอยู่เป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ

โดยสีแดงเหล่านี้เป็นสีแดงในโทนพาสเทลอันอ่อนหวานละมุนตา

ดูๆ ไปก็คล้ายกับตารางเฉดสีของบริษัท Pantone ที่เหล่านักออกแบบทั้งหลายคุ้นเคยกัน ซึ่งภาพถ่ายสี่เหลี่ยมสีแดงหลากโทนเหล่านี้ อังกฤษได้มาจากธนบัตรฉบับละ 100 บาทนั่นเอง

“ผมเอากล้องถ่ายภาพแบงก์ร้อย แล้วเลือกขยายบางส่วนด้วยโปรแกรม Photoshop จากขนาด 5 x 6.2 ซ.ม. ให้กลายเป็นขนาด 1,000 x 1,250 ซ.ม. แล้วใช้ฟิลเตอร์ทำให้ภาพแบงก์ร้อยที่ขยายนั้นกลายเป็นพิกเซลโมเสกจำนวน 500 ช่อง แล้วก็เลือกขยายแต่ละพิกเซลนั้นให้กลายเป็นกรอบสีและพิมพ์มันลงบนกระดาษอัดรูปออกมา โดยเลือกกรอบเฉดสีออกมาในจำนวน 100 ภาพ”

“ที่ผมเลือกพิกเซลมาแค่ 100 ภาพ แทนที่จะเอามาหมดทั้งหมด 500 ภาพเนี่ย เพราะเราตั้งใจจะจัดนิทรรศการให้มันมีลักษณะโปร่งโล่ง และพอคำนวณพื้นที่แล้วก็ลงตัวที่ 100 ภาพ โดยการสุ่มมา แล้วก็ติดให้มันสูงเพื่อให้มันมีความรู้สึกเบา ผนวกกับสีของมันที่ออกโทนพาสเทล หวานๆ ชวนฝันนิดนึง ดูเป็นสวรรค์ๆ หน่อย ทำให้บรรยากาศของห้องแสดงงานมันสว่าง นิ่ง น้อย และลดทอนมากๆ”

ถึงผลงานชุดนี้จะดูอ่อนหวาน เบาบาง ชวนฝัน เหมือนกับประโยคที่วัยรุ่นสมัยนี้ชอบพูดกันว่า “ทุกอย่างดูซอฟต์เมื่อเป็นพาสเทล”

แต่ภายใต้ความซอฟต์และความอ่อนหวานเบาบางนั้น กลับแฝงประเด็นทางสังคมอันเข้มข้นและหนักหน่วงอยู่ไม่น้อย

“ผมเริ่มพัฒนาความคิดของงานชุดนี้มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 คือผมนั่งมองดูแบงก์ร้อยแล้วเราก็รู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ศูนย์รวมจิตใจ แล้วเราก็มีคำถามว่า เรารู้จักหรือเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีแค่ไหน เรารู้สึกว่าความจริงที่เรารู้มันอยู่ไกลมาก หรือไม่ก็อยู่ใกล้จนเกินไป”

“การที่เราทำเป็นพิกเซลเนี่ย มันเหมือนกับเราซูมเข้าไปจนเราแทบจะไม่เห็นอะไรเลย ก็เหมือนกับเราต่างคนต่างเห็นความจริงกันแต่ในแบบนามธรรม เป็นพิกเซลนึงของความจริง ความจริงก็เหมือนจิ๊กซอว์ เราเห็นจิ๊กซอว์แค่เพียงชิ้นเดียว ถามว่าจิ๊กซอว์นั้นเป็นความจริงไหม เป็น แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความจริง เราเข้าใจมันทั้งหมดไหม ก็ไม่เข้าใจ”

“ผมรู้สึกว่าเราต่างคนต่างเห็นกันคนละส่วน บางคนอาจจะเห็นแค่ห้าช่อง บางคนอาจจะเห็นยี่สิบช่อง แล้วผมคิดว่าการยึดถือความจริงของใครของมันแบบนี้ ที่เราต่างคนต่างเห็นไม่เหมือนกันเนี่ย มันคือบ่อเกิดอันหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะพอเราถือว่าเราจริง เราถูกเนี่ย กลายเป็นว่าคนอื่นไม่จริง คนอื่นไม่ถูก มันก็เลยเกิดความขัดแย้งเต็มไปหมด ก็เลยเป็นที่มาของการทำงานชุดนี้”

“ที่ผมเลือกแบงก์ร้อยเพราะมันอยู่ตรงกลางระหว่างแบงก์ 500, 1000 กับ 50, 20 มันเป็นอะไรที่อยู่ในกระเป๋าเราทุกคน คนไทยแทบจะหยิบจับมันทุกวัน เราพกมันติดตัว เราสะสม และใช้มันแลกเปลี่ยนเป็นความพึงพอใจ แล้วรูปบนแบงก์เหล่านี้ เราก็เห็นตั้งแต่เราเกิดน่ะ แต่เราไม่เคยมีคำถามเลยด้วยซ้ำ เพราะเราเห็นมาตลอด จนกลายเป็นความคุ้นเคยอยู่ในตัวเรา”

“ผมก็เลยอยากจะตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน และเหตุผลอีกอย่างที่ผมเลือกมาแค่ 100 ภาพ ก็เพราะผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ไม่มีใครเห็นภาพรวมของทุกสิ่งทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ก็เลยสุ่มเลือกมาแค่จำนวนหนึ่ง”

“ตัวอักษรและตัวเลขที่อยู่บนแถบสีขาวใต้ภาพถ่ายสีแดงก็คือตำแหน่งของมันบนแกน X แกน Y ของแบงก์ ทุกชิ้นมีที่อยู่ของมัน พอเราดูโค้ดบนภาพเราก็จะพอจินตนาการได้ว่าพิกเซลนั้นมันอยู่ตรงไหน แล้วการทิ้งแถบขาว ผมก็จงใจทำให้มันเหมือน Pantone ซึ่ง Pantone มันก็เป็นไอเดียของการนิยาม จำแนก และอธิบายสิ่งต่างๆ ให้มันแยกย่อยลงไปว่าอันนี้คืออันนี้ เฉดสีนี้คืออะไร”

“แล้วในความคิดของผมเนี่ย คำว่าเฉด (shade) เนี่ย มันสำคัญ เพราะนอกจากจะแปลว่าเฉดสีแล้ว มันยังแปลว่า “ที่กำบังแสง” หรือ “เงา” และมันยังเป็นคำสแลงที่แปลว่า “Demon” หรือ “อสุรกาย” หรือแปลว่า การเหยียดเพศ เหยียดผิว ในภาษาอังกฤษอีกด้วย เพราะฉะนั้น เฉดของสีแดงเนี่ย มันมีความหมายมากไปกว่าแค่เฉดสีที่แตกต่างกัน”


ต่อคำถามที่ว่า การเลือกเฉดสีแดงของอังกฤษในผลงานชุดนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองเรื่องสีเสื้อในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ อังกฤษตอบว่า

“ที่ผมเลือกสีแดงในผลงานชิ้นนี้เนี่ย มันโยงใยไปถึงการเมืองแน่นอน แต่ในความคิดเห็นของผม “สีแดง” คือเสรีภาพ คือความเป็นมนุษย์ มันไม่ได้เกี่ยวกับขบวนการทางการเมืองอันไหน แต่เรามองกว้างไปกว่านั้นคือ เราเชื่อว่าถ้าศิลปะมันไม่เชื่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำมันอีกต่อไป”

“แต่ในขณะเดียวกัน การที่ผมทำเป็นพิกเซล มันก็คือการเซ็นเซอร์อย่างหนึ่ง เหมือนการเซ็นเซอร์หนัง อันนี้คือความตั้งใจทำให้มันเป็นพิกเซล เป็นโมเสก คือสิ่งนี้มันถูกเซ็นเซอร์ เป็นเซ็นเซอร์ที่หวานและสวยงาม แต่มันปิดบังไม่ให้เราเห็นความเป็นจริง ซึ่งเราก็เข้าใจไปว่าการปิดบังที่ว่านี้คือความเป็นจริงอย่างหนึ่ง”

“ก่อนหน้าที่จะทำผลงานชุดนี้ ในช่วงที่เกิดรัฐประหาร ผมได้วาดรูปธงชาติด้วยสีแดง ผมตั้งใจทำออกมาเป็นภาพวาดจำนวน 112 ชิ้น เพื่อต้องการประท้วงกฎหมายอาญามาตรา 112 คือในฐานะศิลปิน ผมไม่ใช่นักประท้วงที่เดินขบวนออกไปบนท้องถนน ผมไม่พอใจเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันไม่มีความยุติธรรม แต่เราเป็นศิลปิน เราจะทำอะไรล่ะ? สิ่งที่เราทำได้คือ ผมทำงานชุดที่ว่านี้ขึ้นมาเพื่อบันทึกไว้กับตัวเองว่าเรามีความคิดแบบนี้ นี่คือการประท้วงของเรา แต่ผลงานชุดนี้ก็ยังไม่เคยแสดงที่ไหน”

“หลังจากทำภาพวาดธงชาติ 112 ชิ้นแล้ว ผมก็เริ่มวาดทับงานเก่าๆ ของตัวเองด้วยสีแดง เพราะผมคิดว่า เนื้อหาที่เราเคยทำมาในอดีตมันไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่มีเสรีภาพ ซึ่งงานชุดนี้ก็แสดงไปเมื่อสองปีก่อน เป็นการประท้วงด้วยการทำลายงานตัวเองนั่นแหละ”

“ผมว่ามันยังมีความเป็นไปได้อีกมากที่งานศิลปะจะนำเสนอความจริง หรือแม้แต่ความไร้สาระอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดี งานศิลปะต้องการเครื่องมือสำคัญในการแสดงตัวของมันเอง เป็นเครื่องมือชนิดเดียวกับที่จิตวิญญาณเราต่างแสวงหา เครื่องมือนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นสากลว่า “เสรีภาพ” นั่นเอง”

ถึงวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันเปิดนิทรรศการนั้น จะเป็นวันเอพริลฟูลส์ หรือวันโกหกโลก วันที่หลายต่อหลายคนโกหกเพื่อความตลกขบขันหรือเพื่อแดกดันประชดประชันชีวิตจริงอันเฮงซวย หรืออะไรก็แล้วแต่

และถึงแม้ว่าในชีวิตจริงของเรา ต่างก็โกหกและโดนโกหกแหกตากันทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่ต้องรอวันโกหกโลกด้วยซ้ำ

แต่การโกหกด้วยศิลปะนั้นออกจะแตกต่างออกไปเสียหน่อย เพราะไม่ว่าจะเป็นการปั้นดินหรือปั้นน้ำให้เป็นตัว การเอาใบบัวคลุมทับกงจักรเพื่อสร้างวิมานบนอากาศ หรือการสร้างภาพฝันสีพาสเทลอันแสนหวานเพื่อเบลอบังความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่ แต่ในหลายๆ ครั้ง สิ่งเหล่านั้นก็ถูกทำขึ้นเพื่อตั้งคำถามและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมอย่างเราๆ เกิดความสงสัยต่อสภาวะที่แท้ของความเป็นจริงในสังคมที่เราอาศัยอยู่

ดังคำกล่าวที่ว่า “ศิลปินนั้นโกหกเพื่อเปิดเผยความจริง” นั่นแหละ

เพราะบางครั้ง ทุกอย่างก็ไม่ได้ซอฟต์ลงเพียงเพราะมันเป็นพาสเทลหรอกนะครับ ท่านผู้อ่าน!

 


นิทรรศการ Shades of Red จัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 20 พฤษภาคม 2560 มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจไปชมก็เข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อี-เมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์ เวอร์