การศึกษา / เปิดผลประเมิน ‘PISA 2018’ 20 ปีการศึกษาไทย… ยังย่ำอยู่กับที่??

การศึกษา

 

เปิดผลประเมิน ‘PISA 2018’

20 ปีการศึกษาไทย…

ยังย่ำอยู่กับที่??

 

การแถลงผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) ปี 2018 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยรอบนี้ เน้นประเมินด้านการอ่าน มีนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 600,000 คน ถือเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 32 ล้านคนทั่วโลก จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

สําหรับไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทําหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ จัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดเข้าร่วมการประเมิน

ซึ่งผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากจีน 4 มณฑล (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) และสิงคโปร์ มีคะแนนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

ส่วนประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในด้านการอ่าน ซึ่งเน้นในรอบการประเมินนี้ ได้แก่ จีน 4 มณฑล สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย

สําหรับผลการประเมินของไทย นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่าน 393 คะแนน จากค่าเฉลี่ย OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) 487 คะแนน คณิตศาสตร์ 419 คะแนน จากค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน จากค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่าน ลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลําดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติ ถือว่าด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนน ตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง!!

 

นอกจากนี้ กลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

ทั้งนี้ คะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียน มีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA 2015

เมื่อพิจารณาความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนสูง (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90) กับนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของไทยในภาพรวม พบว่า มีช่องว่างของคะแนน 200 คะแนน โดยแนวโน้มความแตกต่างด้านการอ่าน และวิทยาศาสตร์ ยังคงที่ ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนกว้างขึ้น เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะที่นักเรียนกลุ่มต่ำมีคะแนนเฉลี่ยลดลง

เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการอ่าน ที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 39 คะแนน

OECD ยังแบ่งระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละด้านเป็น 6 ระดับ โดยระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ พบว่า ด้านการอ่าน ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียน 77% ที่มีความสามารถด้านการอ่านตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

สำหรับในประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีคะแนนสูงอย่างจีน 4 มณฑล แคนาดา เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฮ่องกง ไอร์แลนด์ มาเก๊า โปแลนด์ และสิงคโปร์ มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

ส่วนไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถด้านการอ่านตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปประมาณ 40%

ในด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยมีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ประมาณ 47% และ 56% ตามลําดับ จากค่าเฉลี่ย OECD คณิตศาสตร์ 76% และวิทยาศาสตร์ 78% ซึ่ง 2 ด้านนี้มีสัดส่วนของนักเรียนไทยที่มีความสามารถระดับสูง คือระดับ 5 และ 6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ PISA 2015!!

 

อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตสําคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก ผลการประเมินชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพ และพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ไทยจะยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้

ประการที่สอง นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูง และกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ มีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน อีกทั้งสื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อยกระดับความสามารถด้านการอ่าน

และประการที่สาม แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่าน มีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านอย่างเร่งด่วน

ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ภูมิใจที่นักเรียนรักษาระดับได้คะแนนในส่วนของคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่ขยับเพิ่มขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าการทำงานของ ศธ.ที่เน้นเรื่องคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จ ส่วนประเด็นการอ่านนั้น ภาพรวมทุกประเทศตกทั้งหมด แต่ไทยอาจตกไปมาก

โดย ศธ.กำลังพัฒนาทุกๆ ด้าน ทั้งพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการอ่าน วิเคราะห์ให้มากขึ้น ไม่ใช่ส่งเสริมเพื่อเป็นทักษะในการสอบเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้ทั่วประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้น วิธีที่จะป้องกันที่ดีที่สุด คือทำให้นักเรียนทั่วประเทศมีความสามารถใกล้เคียงกัน เพื่อให้มั่นใจว่าอีก 2 ปีข้างหน้า นักเรียนจะทำคะแนนได้ดีในทุกภาคส่วน

 

ส่วนนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า สาเหตุที่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเรื่องแบบทดสอบ วิธีประเมิน โดยปีนี้เน้นเรื่องการอ่าน

ดังนั้น ข้อสอบที่ใช้จะเน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างยาก ผลที่ออกมาจึงไม่ผิดความคาดหมาย

ส่วนด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ผลประเมินเพิ่มขึ้น มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปประมาณ 47% ขณะค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 76%

ถือแนวทางส่งเสริมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จ

แต่ยังต้องเร่งพัฒนา และส่งเสริมให้โรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม

 

ปิดท้ายที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฟันธงว่าการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ เพราะไทยเข้าร่วมทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี 2000 เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่สถิติคะแนนสอบตั้งแต่ครั้งแรกถึงปัจจุบัน กราฟไม่ขยับขึ้น แถมยังลดลงตลอด สะท้อนว่าไทยไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“ที่นายณัฏฐพลภูมิใจที่คะแนนออกมาดี แต่ผมกลับเห็นตรงข้าม ไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจเลยที่คะแนนย่ำอยู่กับที่มาเกือบ 20 ปี ส่วนตัวคิดว่าน่าสลดใจมากกว่า ต้องประเมิน ศธ.ครั้งใหญ่ว่าทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะทักษะการอ่านที่ลดลงถึง 16 คะแนน ยิ่งน่าห่วง เพราะการอ่านคือรากฐานสำคัญในการคิด วิเคราะห์ คะแนนการอ่านยิ่งตกต่ำ ยิ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศที่ยิ่งอ่อนลง”

ส่วนคะแนนคณิตศาสตร์ระหว่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนสาธิต กับโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แตกต่างกันถึง 200 คะแนน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ดังนั้น หากการศึกษาไม่พัฒนา จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น

นักวิชาการจากรั้วจามจุรีทิ้งท้ายว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ควรเร่งปรับปรุงหลักสูตรโดยด่วน เน้นการคิดวิเคราะห์ และการลงมือปฏิบัติจริง

   “อย่าตีความคะแนนเข้าข้างตัวเอง โดยไม่ดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”!!