ใส่บ่าแบกหาม / พรพิมล ลิ่มเจริญ /Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ใส่บ่าแบกหาม / พรพิมล ลิ่มเจริญ

 

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

 

ธอจ๊ะ

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri แค่ชื่อก็เก๋มากแล้ว ตัวเนื้อหนังนั้นอย่างเก๋ เท่ ฉลาด

ขนาดเข้าไปชิงรางวัลออสการ์แต่ว่าไม่ชนะ ซึ่งก็ไม่ต้องเสียใจอะไร เมื่อมันเป็นหนังดี มันก็จะดีของมันต่อไปตราบนานเท่านาน

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นหนังชีวิต ดำมืดหดหู่ใจ มี Frances McDormand แสดงเป็นมิลเดร็ด แม่ที่ต้องทนขมขื่นใจ ลูกสาวถูกข่มขืนและฆ่า และเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าคือ คดีไม่คืบหน้า มีแต่ความเงียบงัน

She’s tough as an old boot.

แม่เป็นหญิงแกร่ง

(as) tough as old boots หมายถึง เป็นคนแข็งแกร่งมากและไม่อ่อนแอง่ายๆ ด้วย

เพราะเป็นคนแบบนี้ มีหรือคุณมิลเดร็ดจะยอม บวกกับโกรธเกลียดขึ้งแค้นต่อเรื่องนี้เอามากๆ วันหนึ่งขับรถผ่านป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ หรือป้ายบิลบอร์ด มีทั้งแบบตั้งเดี่ยวๆ โดดๆ หรือแบบที่ใช้ตึกรามอาคารเป็นที่ตั้ง ปกติที่เราเห็นกัน มักใช้เป็นรูปสินค้าขนาดใหญ่ ใส่สโลแกนเข้าไปประกอบ ให้คนจำได้ โดยเฉพาะคนสัญจรไปมาที่ต้องแวะข้างทางยืดแข้งยึดขาให้คลายเหนื่อยเมื่อยล้ากับการขับรถมานานๆ

ของไทย สมัยฉันเด็กๆ เขาก็ใช้วาดเอานะ คล้ายๆ ที่วาดป้ายโฆษณาหน้าโรงหนัง ป้ายแต่ละป้ายจะต่างกันตามฝีมือช่างวาด ตอนนี้มีเทคโนโลยีภาพพิมพ์ ป้ายเลยเหมือนกันไปหมด

เลยไม่แปลกใหม่ในใจฉัน

 

วันหนึ่งมิลเดร็ดขับรถผ่านป้ายบิลบอร์ดร้าง 3 ป้าย บนถนนทางไปบ้านตนเอง แล้วไอเดียบังเกิด

ไปเช่าเลยดีกว่า ทั้ง 3 ป้าย

ป้ายที่หนึ่ง “Raped while dying”

ป้ายที่สอง “And still no arrests?”

ป้ายที่สาม “How come, Chief Willoughby?”

มาแรงแซงทางโค้งเลย เอ่ยชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบด้วย!

ขนาดเพื่อนสนิทที่ทำงานด้วยกันยังต้องขอถามว่าทำทำไม? ไปเช่าป้ายทำไม?

My daughter, Angela, was murdered

seven months ago along this

same stretch of road here.

แองเจล่าลูกสาวฉันถูกฆาตกรรม

ที่ถนนเส้นนี้

เมื่อเจ็ดเดือนที่แล้ว

แล้วตำรวจไม่มีคำตอบให้

It seems to me the police department

is too busy torturing black folks

to solve actual crime.

ฉันว่าแผนกตำรวจเอาแต่ยุ่ง

กับการทรมานคนดำ

เกินกว่าจะมาแก้คดีที่เกิดขึ้นจริง

คุณมิลเดร็ดแกก็ศึกษามาดีก่อนจะไปเช่าเพื่อขึ้นป้าย

What’s the law on what you can

and can’t say on a billboard?

กฎหมายว่าไง คำไหนขึ้นได้

คำไหนขึ้นป้ายไม่ได้?

จะมีอะไร ก็คำหยาบคายต่างๆ เหล่านั้นที่ห้าม ป้ายแกไม่มีคำหยาบคาย แต่สร้างความตื่นตะหนก

 

ตํารวจสองคน อันได้แก่ Chief Bill Willoughby ผู้มีชื่อหราปรากฏบนป้าย กับลูกน้องคุณตำรวจ Jason Dixon ได้เห็นป้ายก็ตกตะลึง

คุณตำรวจดิ๊กสัน ลูกน้องของขึ้นเยอะกว่าเจ้านาย จะเอาเรื่องคุณมิลเดร็ด ข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่คุณตำรวจหัวหน้าวิลละบี้ส่ายหัว

It isn’t defamation if she’s

simply asking a question.

ไม่ใช่เรื่องทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

เพราะเขาแค่ถามคำถาม

ซึ่งก็ใช่ตามนั้น ป้ายเขียนแค่ “How come, Chief Willoughby?” How come? ทำไมล่ะ?

คำถามจริงๆ ด้วยสิ! ให้ใครที่ไหนอ่านก็ต้องรู้ว่าเป็นคำถาม

ถึงตอนนี้ก็แอบคิดถึงป่าแหว่งดอยสุเทพ ถ้าขึ้นป้ายถามเขาได้ก็คงจะดี ว่าเหตุผลกลใดมี ถึงได้จะใช้พื้นที่ในป่าที่เป็นของพวกเราทุกคน เจ็ดสิบกว่าล้านคนเจียวหนา เป็นพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง

เรื่องมันเศร้า!

คุณตำรวจวิลละบี้ก็มาพูดคุยกับคุณมิลเดร็ดอย่างสันติ คือแกก็เป็นตำรวจดีอยู่ดอก ไม่เอาแต่มัวหาเรื่องคนผิวสีแบบลูกน้องแก

I’d do anything to catch your daughter’s killer.

I don’t think them billboards is very fair.

ผมทำทุกวิธีทางที่จะจับคนฆ่าลูกสาวคุณ

ผมว่าป้ายบิลบอร์ดนี่ไม่แฟร์มากๆ นะ

แล้วคุณตำรวจวิลละบี้ก็บอกอีกเรื่อง เป็นเรื่องสำคัญ

I got cancer. I’m dying.

ผมเป็นมะเร็ง กำลังจะตาย

คุณมิลเดร็ดก็ไม่ได้ตกใจในความจริงข้อนี้ คุณมิลเดร็ดรู้ ชาวบ้านร้านช่องก็รู้ รู้กันทั้งเมือง

รู้แล้วยังขึ้นป้ายอีกรึ? คุณตำรวจถาม

They wouldn’t be as effective

after you croak, right?

งั้นมันจะมีผลอะไรเล่า

ถ้าทำหลังคุณตายแล้ว?

croak ปกติหมายถึง เสียงกบร้อง เสียงอีการ้อง ที่เป็นเสียงต่ำๆ แบบที่เราไอโขล่กๆ เวลาหวัดลงคอและไอหนักหนาสาหัสก็ใช้คำนี้ได้ แต่ในที่นี้เป็นสแลง หมายถึง ตาย แบบในนิยายราคาถูกชอบใช้

เวลาตายเสียงดัง คร่อก!

 

ชาร์ลี สามีเก่าของคุณมิลเดร็ดที่แยกกันไปแล้ว ก็อุตส่าห์ดั้นด้นทุรนทุรายกลับมาหาความภรรยาเก่า ดังนั้น สามีเก่าจึงเป็นทั้งสามีเก่าและเป็นตำรวจเก่าด้วยน่ะสิ แต่คุณมิลเดร็ดหาได้ยี่หระกับการณ์นี้ไม่

Ex-cop, ex-wife-beater.

Same difference, I guess, right?

อดีตตำรวจ อดีตคนทุบตีเมีย

เหมือนกันนั่นแหละ

same difference เป็นสำนวน ใช้พูดเวลาเปรียบของสองอย่างที่มันไม่เหมือนกันเลยซะทีเดียว แต่เราก็ไม่คิดว่าความเหมือนหรือความต่างมันจะสำคัญอะไร

คุณมิลเดร็ดโกรธอยู่ก็จริง แต่ทุกสิ่งที่ทำไป แกคิดดีแล้ว

The more you keep a case in the public eye,

the better your chances are of getting it solved.

ยิ่งคดีดังเท่าไหร่

ก็จะยิ่งมีโอกาสแก้คดีได้มากเท่านั้น

in the public eye หมายถึง มีชื่อเสียง โด่งดัง มีคนพูดถึงกล่าวถึงเขียนถึงในสื่ออย่างในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโทรทัศน์

เรื่องมาวุ่นวายตอนหัวหน้าวิลละบี้ตาย ผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

หนังสนุกดีน่ะ หดหู่แต่ดูสนุก ฉันชอบ มีขำแบบดาร์กๆ ปะปน เป็นอีกเรื่องที่สร้างยาก คนสร้างหนังเขาพาเราไปสู่ความจริงในแบบของเขา และทำให้เราเข้าใจ ไม่ต้องไปมีประสบการณ์ร่วมใดๆ เราจะเข้าใจเขา

แล้ว ณ วินาทีที่ความเข้าใจมันเปรี้ยงเขามาในสมองจนรู้สึกได้ ฉันจะขนลุก เธอเป็นไหม? หนังเรื่องนี้ทำฉันขนลุก

ฉันเอง