พิพิธภัณฑ์ “แห่งชาติ” สะท้อนสังคม-การเมืองไทย/สุจิตต์ วงษ์เทศ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยู่พื้นที่ “วังหน้า” ใกล้สนามหลวงและใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เป็นหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเหมาะสำหรับจัดเป็นพิพิธภัณฑ์วังหน้ามากกว่าอย่างอื่น (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)

 

พิพิธภัณฑสถาน “แห่งชาติ” ของไทยทุกวันนี้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์ “ท้องถิ่น” ทั่วไทย สะท้อนโครงสร้างสังคม-วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ-การเมืองปัจจุบัน สืบทอดและผดุงไว้ซึ่งลักษณะศักดินาเจ้าขุนมูลนายสมัยล่าอาณานิคมเมื่อศตวรรษที่แล้ว โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามความก้าวหน้าของโลก

มิวเซียมแบบอาณานิคม ซึ่งมีลักษณะศักดินาเจ้าขุนมูลนายเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑสถาน “แห่งชาติ” ของไทย ประเภทมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ สนองการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เน้นรวบรวม “ของเก่า” หรือโบราณวัตถุ (จากดินแดนอาณานิคม และจากอาณานิคมภายใน) แล้วเลือกสรรจัดแสดงอวดอลังการ “มาสเตอร์พีซ” ตามรสนิยมของคนชั้นสูงหรือชนชั้นนำสมัยนั้น โดยมีต้นแบบสำคัญและยิ่งใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส (เช่น มิวเซียมลูฟร์และกีเมต์), อังกฤษ (เช่น บริติชมิวเซียม) เป็นต้น [ต้นแบบมิวเซียมอาณานิคมเป็นที่รู้กันทั่วโลกจนปัจจุบัน ยูเนสโก “เตือน” ซ้ำอีกให้ส่งคืน “มาสเตอร์พีซ” ที่เจ้าอาณานิคมล่ามาจากประเทศกรีซ] ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้มาก่อนแล้วอยู่ในมติชน (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564) จะยกบางตอนมาดังนี้

มิวเซียมแบบอาณานิคมต่อมาบรรดารัฐชาติเกิดใหม่ที่ตกเป็น “อาณานิคม” เรียกอย่างเลิศว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา ฯลฯ และไทย (ซึ่งเป็น “อาณานิคมทางอ้อม”) มีแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” (แต่ไม่ตามมาตรฐานสากลแบบอื่นซึ่งมีอีกมากโดยไม่อาณานิคมและ ไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”)

[ข้อมูลเหล่านี้มีในหนังสือสำคัญของโลก ชื่อ ชุมชนจินตกรรม ของ เบน แอนเดอร์สัน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ แปลจาก Imagined Communities Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2552]

ลักษณะร่วมของมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” หรือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ได้แก่

(1.) อาคารใหญ่โตโอ่อ่า ขรึม ขลัง เสมือนข่มขู่ผู้เข้าชมคนพื้นเมืองต้องนอบน้อมยอมจำนนต่ออาคารสถานที่ซึ่งเทียบได้กับ “เจ้าขุนมูลนาย”

(2.) วัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ถูกจัดวางแวดล้อมด้วยอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ “ไฮเทค” เพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างวัตถุกับคนดู ทำให้ “มาสเตอร์พีซ” ในมิวเซียมกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนดูต้องสงบและสำรวมเหมือนอยู่ในโบสถ์วิหารตลอดเวลาที่อยู่ในมิวเซียม

(3.) ป้ายคำอธิบายข้อมูลความรู้ในมิวเซียม เหมือน “รหัสที่รู้กัน” สำหรับนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือเจ้าอาณานิคมผู้เป็น “เจ้าขุนมูลนาย” อ่านกันเอง แต่ไม่เหมาะให้สามัญชนคนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจ

(4.) ในไทยจัดแสดงยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทยตามการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (ที่เป็นมรดกจากเจ้าอาณานิคม) ได้แก่ สมัยทวารวดี, สมัยศรีวิชัย, สมัยลพบุรี, สมัยเชียงแสน, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา เป็นต้น ซึ่งไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นสิ่งที่เจ้าอาณานิคมศตวรรษที่แล้วอยากให้มี แล้วเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา

(5.) ไม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และวิถีชีวิตของชุมชน “คนเท่ากัน” หลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ดังนั้น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ในประเทศไทยไม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนประเทศไทยว่าก่อนจะมีรูปร่างอย่าง “ขวานทอง” ทุกวันนี้ เคยมีหน้าตาอย่างไร? และคนทั้งหลายก่อนจะเรียกตนเองว่า “ไทย” เคยถูกเรียกหรือเรียกตนเองด้วยชื่ออย่างไรบ้าง? พูดภาษาอะไรบ้าง? เป็นต้น แม้เรื่องความเป็นมาของพระแก้วมรกตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นประเทศไทยก็ไม่มี

“คนเท่ากัน” ในมิวเซียมของไทย

รัฐไทยจัดให้สังคมไทยมีแบบเดียวคือมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” ประเภทมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะในนาม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ดังนั้นไทยไม่มีมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” ประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์บอกเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติจนถึงสมัยรัฐชาติต่อเนื่องจนปัจจุบันสนองการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

หลายปีมาแล้วรัฐบาลสมัยนั้นปรารถนาสร้างมิวเซียมเป็นแหล่งเรียนรู้สู่สาธารณะอย่างสากลโลกในระบอบบเสรีประชาธิปไตย โดยหลีกเลี่ยงหน่วยงานเก่าที่ตามไม่ทัน “โลกไม่เหมือนเดิม” จึงสร้างหน่วยงานใหม่แล้วทำมิวเซียมแบบ “ไม่อาณานิคม” ซึ่งรู้จักทั่วไปในชื่อ “มิวเซียมสยาม” แต่ด้วยข้อจำกัด (ซึ่งไม่มีใครรู้) ทำให้ยังห่างไกลมิวเซียมสากล

มิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” เป็นประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์บอกเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติจนถึงสมัยรัฐชาติต่อเนื่องปัจจุบัน สนองการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

เลือกสรรวัตถุทั้งของจริงและจำลองเพื่อประกอบการจัดแสดงให้เข้าใจวิถีชีวิต “กินขี้ปี้นอน” ของคนทุกระดับหรือทุกชนชั้นอย่างเสมอหน้าตั้งแต่รากหญ้าถึงยอดไม้ ถ้าจะมีวัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ก็มีอย่างเสมอภาคทั้งของชนชั้นบนและของชนชั้นล่าง

ประเทศทางตะวันตกเป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้มีมิวเซียมหลากหลาย “ร้อยสีพันอย่าง” ทั้งมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”)  ขณะเดียวกันต้องมี “มิวเซียมหลัก” ไว้ทุกเมืองใหญ่ คือ มิวเซียมประวัติศาสตร์ของดินแดน (พื้นที่) และผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ (ลักษณะ Natural History Museum) ประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐจัดให้มีมิวเซียมแบบนี้เกือบทุกรัฐ นี่ยังไม่รวมมิวเซียมเอกชนซึ่งมีนับไม่ถ้วนตั้งแต่ขนาดไม่ใหญ่โต จนถึงขนาดมหึมาเป็นสถาบัน เช่น สถาบันศิลปะเมืองชิคาโกที่เคยครอบครองและจัดแสดงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง (จ. บุรีรัมย์)

ส่วนกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยิ่งมีมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” จัดแสดงแบบปลอดโปร่งเบาสบาย แต่มีความเป็น “สมัยใหม่” ไม่อวดอลังการด้วยเฟอร์นิเจอร์ “เว่อร์” ราคาแพง (เหมือนบางประเทศยากจนในอุษาคเนย์ แต่ “เว่อร์”)

พิพิภัณฑ์ “ท้องถิ่น” ทั่วไทย จัดแสดงตามต้นแบบ “แห่งชาติ” เลยไม่มี “สตอรี่” ความเป็นมาของท้องถิ่นนั้นๆ มีแต่เก็บของเก่าอย่างมีระเบียบกว่าโกดังเท่านั้น