สุจิตต์ วงษ์เทศ : จาม ‘ปท่าคูจาม’อยู่เวียงเหล็ก ขุมกำลังของพระเจ้าอู่ทอง (สุพรรณภูมิ)

 

จาม ‘ปท่าคูจาม’ อยู่เวียงเหล็ก

ขุมกำลังของพระเจ้าอู่ทอง (สุพรรณภูมิ)

 

เมืองปท่าคูจามเป็นพื้นที่เดียวกันกับเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน (มี “ตำหนักเวียงเหล็ก” ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์) ซึ่งเป็นขุมกำลังของกลุ่มสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้ แต่ข้อมูลเหล่านี้ถูกกีดกันจากประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทย

เวียงเหล็ก เป็นชื่อในตำนานเพื่อสรรเสริญเมืองของพระเจ้าอู่ทองว่ามีค่ายคูแข็งแรงเสมือนทำด้วยเหล็ก [พบตัวอย่างเป็นกวีโวหารในยวนพ่ายโคลงดั้น บท 170 สรรเสริญเมืองเชียงชื่น (หรือเมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ว่าแข็งแรงมั่นคงราวกับมีกำแพงล้อมรอบด้วยเหล็ก (“เร่งมั่นเหลือหมั้นยิ่ง เวียงเหล็ก”)] พระตำหนักเวียงเหล็ก เป็นที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน (ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์) เท่ากับที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางขุมกำลังอำนาจของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิที่ปกครองเมืองปท่าคูจาม (ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา) เวียงเหล็กจึงไม่ใช่เวียงเล็ก (หรือเวียงน้อย) และไม่ใช่ที่ประทับชั่วคราวตามที่เคยนิยามไว้นานแล้ว แต่แท้จริงเป็นชุมชนระดับเมืองใหญ่เมืองโตและเป็นเมืองหลักถาวรนานมากก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

เมืองปท่าคูจาม กร่อนจากคำเดิมว่า “เมืองปละท่าคูจาม” หมายถึง เมืองฟากฝั่งคลองคูจาม อย่างนี้ส่อว่าเป็นคำเรียกชื่อลักษณะบอกที่ทางหรือตำแหน่งแห่งหนของชุมชนเมืองสำคัญนั้นว่าอยู่บริเวณที่เป็นคลองคูจาม ดังนั้น จึงไม่ใช่ชื่อเมืองอย่างทางการ หากเป็นชื่อเรียกตามภาษาปากแล้วรู้กันในกลุ่มคนครั้งนั้นสืบถึงสมัยแต่งพงศาวดาร

[คำว่า “ปละ” หรือ “ประ” แปลว่า ฝั่ง, ฟาก (พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัยของ ร.5 อยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2542 หน้า 212, และพบใน พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2525 สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2530 หน้า 204, นอกจากนั้น ยังพบในเอกสารเรื่องกัลปนาเมืองพัทลุง อ้างในบทความเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราธิราชฯ” ของรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล พิมพ์ในหนังสือ Ayutthaya Underground (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 162) ส่วนคำว่า “ท่า” หมายถึงคลอง มีใช้ในคำว่า “น้ำท่า” คือน้ำในแม่น้ำลำคลอง]

 

คูจามใหญ่อยู่ในตำแหน่งคลองตะเคียน กับคูจามน้อยอยู่ในตำแหน่งคลองคูจาม (นายพเยาว์ เข็มนาค อดีตข้าราชการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ตรวจพบในแผนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยฌาคส์ นิโกลาส์ เบแล็ง นักเขียนแผนที่ชาวฝรั่งเศส ภาพและข้อมูลจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549 หน้า 78)

 

คูจามใหญ่ (คลองตะเคียน) และคูจามน้อย (คลองคูจาม)

คูจาม ตามหลักฐานพบใหม่มีในแผนที่กรุงศรีอยุธยาทำโดยช่างแผนที่ชาวยุโรป หมายถึงคลอง 2 สาย ได้แก่ คูจามใหญ่ กับคูจามน้อย อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศใต้และตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา

คูจามใหญ่ ตรงกับปัจจุบันเรียก “คลองตะเคียน” (ในเอกสารเก่าเรียกคลองขุนละครไชย เพราะเป็นสถานที่ประหารขุนละครไชย แต่บันทึกชาวต่างชาติเรียกคลองน้ำยา และย่านบางปลาเห็ด) เป็นคลองขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้นอกเกาะเมือง อยู่ถัดทางตะวันตกวัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ ยาวเป็นเส้นตรงลงไปทางทิศใต้ แล้ววกหักข้อศอกไปทางทิศตะวันออกเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเกาะเรียน (ฝั่งตรงข้ามบ้านญี่ปุ่น เยื้องทางใต้) สุนทรภู่เคยนั่งเรือผ่านแล้วเขียนบอกไว้ในนิราศพระบาทว่าผู้คนสองฝั่งคลองล้วนเป็น “แขกตะนี” หมายถึงชาวมลายูปัตตานีมาจากเมืองปัตตานี

คูจามน้อย ตรงกับปัจจุบันเรียก “คลองคูจาม” เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งใต้นอกเกาะเมือง (อยู่ถัดทางตะวันออกวัดพุทไธศวรรย์) ยาวเป็นเส้นตรงลงไปทางทิศใต้ เชื่อมรวมลงคลองตะเคียนหลังมัสยิดช่อฟ้า (ฝั่งเหนือตะเกี่ยโภคิน) ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เกาะเรียน

ชื่อคูจามไม่ได้มีจามพวกเดียว แต่มีคนหลายกลุ่มจากหมู่เกาะทะเลใต้ โดยเฉพาะมีตลาดบ้านจีนอยู่ปากคลองขุนละคอนไชย มีศาลเจ้าจีน และมีซ่องโสเภณี 4 โรง “รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ” เป็นหลักฐานสำคัญว่าเป็นที่ชุมนุมจอดเรือแพจากนานาชาติ ได้แก่ สำเภาจีน, สลุบแขก, กำปั่นฝรั่ง (ดูใน ขุนนางกรมท่าขวา ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ โครงการเผยแพร่งานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546)

ชาวบ้านย่านท้ายคลองตะเคียนทุกวันนี้ยังเรียกคลองตะเคียนว่า “คลองประจาม” หมายถึงคูจาม แสดงว่าชื่อคูจาม (เรียกคลองตะเคียน) ไม่ได้หายไป เพียงแต่ถูกนักวิชาการมองข้าม ดังนั้น แท้จริงแล้ว “ปท่าคูจาม” มีขอบเขตพื้นที่ของเมืองโดยรวมๆ กว้างๆ ดังนี้ เหนือ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแนวยาวตั้งแต่ปากคลองตะเคียน (ฝั่งวัดนักบุญเซนต์ยอแซฟ) จนถึงสามแยกน้ำวนบางกะจะ (ตรงข้ามป้อมเพชร-วัดพนัญเชิง)

ใต้ ติดคลองตะเคียน ตะวันออก ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่น้ำวนบางกะจะ ถึงเกาะเรียนตรงข้าม ตะวันตก ติดคลองตะเคียน

 

แผนที่แสดงหลักแหล่งของชาวจามพูดภาษามลายูบริเวณเวียงเหล็ก “ปท่าคูจาม” (คลองคูจามใหญ่-คลองคูจามน้อย) นอกเกาะเมืองอยุธยา (ด้านทิศใต้) ชาวจามไม่ได้ถูกกวาดต้อนจากเขมร และคำว่า “ปท่า” ไม่มาจากคำเขมร แต่กร่อนจากคำพื้นเมืองว่า ปละท่า, ประท่า (ซ้าย) ชุมชนสยามจากรัฐสุพรรณภูมิ กลุ่มตำนานพระเจ้าอู่ทอง (ขวา) ชุมชนละโว้จากรัฐละโว้ (ลพบุรี) กลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี

 

ขุมกำลังรัฐสุพรรณภูมิ

พระเจ้าอู่ทอง (ท้าวอู่ทอง) “วีรบุรุษในตำนาน” ไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจวัฒนธรรมและภาษาไทย (ตระกูลภาษาไท-ไต) ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป โดยเคลื่อนไหวจาก “โซเมีย” ทางภาคใต้ของจีนผ่านลุ่มน้ำโขง ลงที่ราบลุ่มภาคกลางทางแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกเรียกดินแดน “สยาม” (เอกสารจีนเรียกเสียน, เสียม) โดยมีศูนย์กลางอยู่รัฐสุพรรณภูมิ (เมืองสุพรรณบุรี)

รัฐสุพรรณภูมิมีเครือข่ายการค้าถึงรัฐเพชรบุรี, รัฐนครศรีธรรมราช และรัฐบนคาบสมุทรมลายู เชื่อมโยงหมู่เกาะทะเลใต้ โดยมีอำนาจควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากอ่าวไทย-เขาสามร้อยยอด ผ่านช่องสิงขร (จ.ประจวบคีรีขันธ์) สู่ทะเลอันดามันที่เมืองตะนาวศรี-เมืองมะริด (ในพม่า)

ชุมชนชาวสยามบริเวณ “เมืองปท่าคูจาม” หรือ “เวียงเหล็ก” น่าจะเริ่มก่อตัวแล้วตั้งแต่เรือน พ.ศ.1700 เพื่อยึดพื้นที่เส้นทางคมนาคมภายใน-ภายนอกออกอ่าวไทย ในการสถาปนากรุงอโยธยาศรีรามเทพ (เชื้อสาย “รามาธิบดี”) ร่วมกับเจ้านายรัฐละโว้

“เมืองปท่าคูจาม” หรือ “เวียงเหล็ก” เป็นชุมชนชาวสยาม พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางจากลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งเป็นขุมกำลังแข็งแรงของเจ้านายเชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893) จนท้ายที่สุดก็เป็นขุมกำลังสำคัญของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ ยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาได้จากเจ้านายรัฐละโว้ที่ขณะนั้นเป็นกษัตริย์อยุธยา มีบอกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ โดยสรุปว่า พ.ศ.1952 “เจ้าเสนาบดี” เจ้านายวงศ์สุพรรณภูมิ เกณฑ์กำลังผู้คนเมืองปท่าคูจามยกข้ามไปยึดอำนาจได้อยุธยา แล้วเชิญเจ้านครอินทร์ (โอรสขุนหลวงพะงั่ว) เจ้าเมืองสุพรรณ ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา จากนั้นเชิญพระรามราชา (เชื้อสายรัฐละโว้) ไปกักไว้ในเมืองปท่าคูจาม (หรือเอาไปสำเร็จโทษก็ได้ แต่ไม่มีบอกในพงศาวดาร) เหตุการณ์ชิงอำนาจครั้งนี้น่าจะมีเงื่อนไขสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะการอุดหนุนจากจีนผ่านกองเรือสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ (ซำปอกง)

ประวัติศาสตร์ไทยต้องทบทวนใหม่เกี่ยวกับกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกันระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องท้องถิ่นต้องทบทวนความเป็นมาโดยลดละเลิกอคติที่เคยพอกพูน แล้วตั้งสติพิจารณาตามหลักฐานเป็นจริงด้วยการสลัดทิ้ง “เชื้อชาตินิยม” ยุคอาณานิคมและสงครามเย็น