ก้าวใหม่มอเตอร์สปอร์ต เมื่อ ‘ฟอร์มูล่าวัน’ จับมือ ‘โมโตจีพี’

นับเป็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจของวงการมอเตอร์สปอร์ต เมื่อ ลิเบอร์ตี้ มีเดีย บริษัทธุรกิจสื่อของสหรัฐอเมริกา เจ้าของการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวัน เข้าไปถือหุ้น 86 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัท ดอร์น่า สปอร์ตส์ เจ้าของการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ โมโตจีพี ในมูลค่า 4,200 ล้านยูโร (163,800 ล้านบาท)

การเทกโอเวอร์ครั้งนี้นำมาซึ่งการคาดเดาและเสียงวิจารณ์มากมาย เช่น ประเด็นการผูกขาดธุรกิจมอเตอร์สปอร์ตซึ่งทำให้การซื้อหุ้นครั้งนี้ล่าช้าเพราะโดนสหภาพยุโรป (อียู) เข้าแทรกแซง

รวมถึงทิศทางการแข่งขันโมโตจีพีในอนาคตว่าจะปรับรูปแบบให้ใกล้เคียงกับเอฟวันหรือไม่

ยกตัวอย่างประเด็นหลักที่คนในแวดวงสองล้อห่วงกันคือการจัดการแข่งขันระดับ โมโตทู และ โมโตทรี ซึ่งเป็นรุ่นรองของโมโตจีพีที่โดยปกติแล้วจะจัดในช่วงสุดสัปดาห์เดียวกันในแต่ละสนาม ไล่จากโมโตทรีไปโมโตทูแล้วจึงปิดด้วยโมโตจีพี

ขณะที่การแข่งขันรถสูตรหนึ่งนั้น แยกจัดรถรุ่นรองอย่างฟอร์มูล่าทู และฟอร์มูล่าทรี คนละช่วงเวลา นอกจากนี้ ยังแยกแพดด็อกหรือพื้นที่ทำงานของแต่ละทีมระหว่างทีมเอฟวันกับเอฟทูและเอฟทรีด้วย

 

อย่างไรก็ตาม คาร์เมโล่ เอซเปเลต้า ซีอีโอของดอร์น่า สปอร์ตส์ ซึ่งจะยังคงทำหน้าที่บริหารจัดการการแข่งขันโมโตจีพีต่อไปเช่นเดิม ยืนยันว่าโมโตทูและโมโตทรีจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโมโตจีพีกรังด์ปรีซ์ช่วงสุดสัปดาห์ของแต่ละสนามเหมือนเดิม

และยืนยันว่าทีมระดับโมโตทูและทรีต่างก็พอใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกในรูปแบบปัจจุบัน และยืนยันว่านักบิดทุกระดับต่างได้รับความสนใจจากฝ่ายจัดและแฟนๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ด้านลิเบอร์ตี้ มีเดีย ก็ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงรูปแบบการแข่งขันของโมโตจีพี แต่สิ่งที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเทกโอเวอร์ในครั้งนี้ คือความเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจ เพื่อยกระดับตลาดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบให้เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากขึ้น

แบบเดียวกับความสำเร็จของเอฟวันภายหลังจากลิเบอร์ตี้ มีเดีย เข้าไปเทกโอเวอร์กิจการเมื่อปี 2016

เป้าหมายหลักที่เอซเปเลต้าต้องการเห็นจากความร่วมมือกันในครั้งนี้คือการฟื้นตลาดความเร็วในสหรัฐอเมริกา

เพราะว่ากันตามจริง หากไล่เรียงประวัติศาสตร์การแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในรุ่นใหญ่สุดมีแชมป์เป็นนักบิดอเมริกันมากที่สุดด้วยซ้ำ เพียงแต่ช่วงหลังๆ กลายเป็นการผูกขาดของนักบิดยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปน

ทำให้โมโตจีพีให้ความรู้สึกห่างเหินจากชาวอเมริกันไปบ้าง

นักวิเคราะห์มองว่าการปลุกผีตลาดสหรัฐนั้น นอกจากจะให้ลิเบอร์ตี้ มีเดีย เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์แล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างความผูกพันใกล้ตัวให้กับฐานผู้ชมที่นั่นด้วย ซึ่งหมายถึงการมีทีมหรือนักบิดเพื่อนร่วมชาติให้เชียร์

ซึ่งในการแข่งขัน เซอร์กิต ออฟ ดิ อเมริกาส์ ที่รัฐเท็กซัส ในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นสนามแรกหลังการเปลี่ยนมือเจ้าของโมโตจีพี ประจวบเหมาะกับที่ทีมแทร็กฮอร์ส เรซซิ่ง ของสหรัฐ เข้าไปเทกโอเวอร์ทีมอาร์เอ็นเอฟ อาพริเลีย พอดี ทำให้มีตัวแทนเมืองลุงแซมลงแข่งขันด้วย

 

อีกประเด็นที่สื่อมอเตอร์สปอร์ตมองว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คือการนำการแข่งขันทั้งเอฟวันและโมโตจีพีมาจัดในสนามเดียวกันช่วงสุดสัปดาห์เดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้เอซเปเลต้ายอมรับว่า หากจะทำจริงก็เป็นความท้าทายอย่างมากเพราะต่างฝ่ายต่างก็มีฐานผู้ชมของตัวเองและเป็นคนละกลุ่มกัน รวมถึงสปอนเซอร์ด้วย จึงต้องวางแผนให้ดี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนามบางแห่งสามารถใช้จัดการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ทั้ง 2 แบบได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

เพียงแต่ต้องวางแผนให้รัดกุมครอบคลุมที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งและแบ่งพื้นที่ใช้งานในสนาม ซึ่งน่าจะสร้างปัญหาน่าปวดหัวได้ไม่น้อยทีเดียว •

 

Technical Time-Out | SearchSri