30 มิถุนายน วันสำคัญลูกหนังยุโรป

ตลาดซื้อขายนักเตะของยุโรปยังเหลือเวลาอีกยาวไกลกว่าจะปิดตัวลงในวันที่ 1 กันยายน แต่จะเห็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจของหลายๆ ทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่เร่งปิดดีลนักเตะตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน แม้จะเพิ่งเริ่มเปิดตลาดซื้อขายกันได้ไม่กี่สัปดาห์

วันที่ 30 มิถุนายน ถือเป็นวันสำคัญของสโมสรฟุตบอลอาชีพ เพราะปีงบประมาณของทีมฟุตบอลจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 มิถุนายน สัญญาของนักเตะจึงมักสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน ก่อนเริ่มปีในสัญญาใหม่ พร้อมเงื่อนไขสัญญาที่อาจเหมือนหรือต่างจากเดิม

ยิ่งวงการลูกหนังทุกวันนี้มีกฎควบคุมการเงิน (ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หรือ FFP) เป็นเงื่อนไขสำคัญในการซื้อขายหรือเซ็นสัญญานักเตะ วันที่ 30 มิถุนายน จึงทวีความสำคัญกับทีมฟุตบอลอาชีพมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

FFP เป็นกฎที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) รวมถึงหลายๆ ลีกกำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรต่างๆ ใช้เงินเกินตัว มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับมากเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใช้เงินซื้อความสำเร็จ แต่สุดท้ายทีมลงเอยด้วยการถังแตกหรือล้มละลาย

สำหรับพรีเมียร์ลีกมีกฎอยู่ว่า แต่ละทีมจะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับรวมกันได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ (4,725 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ยูฟ่ากำหนดตัวเลขการขาดทุนไว้ที่ 60 ล้านยูโร (2,340 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าสำหรับทีมที่มีสถานะการเงินที่ดี จะเพิ่มโควต้าการขาดทุนให้อีก 10 ล้านยูโร (390 ล้านบาท) ต่อปี

ดังนั้น เพื่อให้มีเงินก้อนใหญ่ในการเสริมนักเตะในตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ หลายๆ ทีมจึงต้องพยายามขายผู้เล่นที่ไม่ต้องการสำหรับฤดูกาลถัดไปให้ได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อให้บัญชีของปีงบประมาณฤดูกาลที่เพิ่งปิดฉากไปมีรายรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคือสโมสร เชลซี ที่พยายามโละนักเตะอย่างต่อเนื่อง โดยในเวลาเพียงไม่กี่วัน เชลซีขาย คาลิดู คูลิบาลี่ ให้อัล ฮิลาล 20 ล้านปอนด์ (900 ล้านบาท), ขาย เอดูอาร์ เมนดี้ ให้อัล อาห์ลี 16 ล้านปอนด์ (720 ล้านบาท), ขาย มาเตโอ โควาซิช ให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 25 ล้านปอนด์ (1,125 ล้านบาท) ไม่รวมแอดออน และขาย ไค ฮาเวิร์ตซ์ ให้อาร์เซนอล 65 ล้านปอนด์ (2,925 ล้านบาท)

นอกจากนี้ สิงห์บลูส์ยังปิดดีลขาย เมสัน เมาท์ ให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 55 ล้านปอนด์ (2,475 ล้านบาท) บวกแอดออน 5 ล้านปอนด์ (225 ล้านบาท), ขาย รูเบน ลอฟตัส ชีก ให้เอซี มิลาน 15 ล้านปอนด์ (675 ล้านบาท) และขาย ฮาคิม ซีเยช ให้อัล นาสเซอร์ 8 ล้านปอนด์ (360 ล้านบาท) ซึ่งไม่แน่ใจว่าในทางบัญชีนั้นปิดทันปีงบประมาณหรือไม่อีกด้วย

สำหรับกรณีของเชลซี เนื่องด้วยตั้งแต่นักธุรกิจชาวอเมริกัน ท็อดด์ โบห์ลี่ กับ เบห์ดัด เอ็กห์บาลี เข้าไปเทกโอเวอร์สโมสร ก็ทุ่มเงินมหาศาลในการเสริมทัพ รวมแล้วราว 440 ล้านปอนด์ (19,800 ล้านบาท) ในช่วงเวลา 2 ตลาดซื้อขาย ทำให้มีนักเตะล้นทีมชนิดจัดทีมเตะแข่งขันได้ 3-4 ทีม

ทำให้ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังวันที่ 30 มิถุนายน สโมสรก็ต้องการระบายนักเตะออกให้มากที่สุด เพื่อสร้างสมดุลบัญชี และเพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้ทีมที่ค่อนข้างแออัดด้วย

 

ต้องนับเป็นจังหวะเหมาะเจาะพอดีสำหรับหลายๆ ทีมในยุโรปด้วยที่ตอนนี้ซาอุดีอาระเบียพยายามยกระดับซาอุดี โปร ลีก ของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นด้วยการทุ่มงบฯ กว้านซื้อหรือเซ็นฟรีนักเตะดังๆ จากยุโรปไปร่วมทีมด้วยการแลกกับค่าตอบแทนมหาศาล โดยมีตัวอย่างนำร่องตั้งแต่ตอน คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายไปอัล นาสเซอร์ เมื่อต้นปีนี้

ถือเป็นขุมสมบัติชั้นดีสำหรับบรรดาสโมสรยุโรปที่ต้องการโละนักเตะค่าเหนื่อยสูงๆ ที่ไม่ต้องการเก็บไว้สำหรับฤดูกาลถัดไป แถมยังไม่ค่อยเสียเวลาในการต่อรองมากมายอีกด้วย

เพราะเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับสโมสรจากดินแดนเศรษฐีน้ำมันอยู่แล้ว •

 

Technical Time-Out | SearchSri