จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก False 9 ถึง Quantum Leadership บริหาร “องค์กรสมัยใหม่” สไตล์ “หงส์แดง”

“หงส์แดง” คือสมญานามของสโมสร “ลิเวอร์พูล” แห่งลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของอังกฤษ ข้อมูลนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป

โดยเฉพาะ “สาวกหงส์แดง” ที่นอกจากจะรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับสโมสรที่พวกเขารักแล้ว ณ เพลานี้ “แฟนพันธุ์แท้ลิเวอร์พูล” ยังลุ้นกันตัวโก่งอีกด้วย

เพราะนับตั้งแต่ฤดูกาล 1989-1990 ที่ “หงส์แดง” คว้าแชมป์ลีกสูงสุด มาจนถึงปีนี้ คือฤดูกาล 2019-2020 เป็นเวลา 30 ปีมาแล้ว ที่ตู้โชว์ไม่มี “ถ้วยแชมป์ลีก” ใบใหม่

อันที่จริง “ลิเวอร์พูล” ควรจะคว้าแชมป์ลีกฤดูกาล 2019-2020 ไปตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ทว่าโลกใบนี้กลับเจอเข้ากับวิกฤตการณ์ COVID-19 เสียก่อน ทำให้ “พรีเมียร์ ลีก” สั่งเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด!

“สาวกหงส์แดง” หรือ The Kop อันเกรียงไกร จึงได้แต่เฝ้ารอคอยการกลับมาเตะใหม่ให้จบฤดูกาล ด้วยแต้มที่นำห่างอันดับ 2 คือ “แมนฯ ซิตี้” อยู่ถึง 25 คะแนน เพื่อเช่า “รถแห่” ออกไปฉลองแชมป์กันทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเอ่ยถึงสโมสร “ลิเวอร์พูล” และเหล่ากองเชียร์ The Kop อันเกรียงไกรแล้ว ศัพท์คำหนึ่งซึ่งมักถูกเอ่ยถึงคู่กันเสมอก็คือ Red Machine หรือ “เครื่องจักรสีแดง”

Red Machine คือคำอรรถาธิบายรูปแบบการเล่นประดุจดั่ง “เครื่องจักร” ของพลพรรคนักเตะ “หงส์แดง” ที่ “วิ่งไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่” ตลอด 90 นาที ทั้งเกมรับ-เกมรุก สอดประสานกันอย่างไหลลื่น สง่างาม โดยเฉพาะ “หากไม่สิ้นเสียงนกหวีดหมดเวลา” ก็จะไม่มีวัน “หยุดวิ่ง”

ฉายา “เครื่องจักรสีแดง” เกิดขึ้นในห้วงทศวรรษที่ 1970-1980 ที่ “ลิเวอร์พูล” เดินหน้าคว้าชัยชนะอย่างต่อเนื่อง และเถลิงบัลลังก์แชมป์ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เวทียุโรป”

แม้จะตามรอย Total Football ของทีมชาติ “ฮอลแลนด์” ทว่า “เครื่องจักรสีแดง” ทรงอานุภาพกว่า!

 

หลังจากควานหาความสำเร็จ “แชมป์ลีกสูงสุด” มานานถึง 30 ปี เมื่อ 4 ฤดูกาลก่อน “หงส์แดง” ได้เซ็นสัญญากับผู้จัดการทีมคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า J?rgen Klopp

เขาคือกุนซือชาวเยอรมันผู้นำระบบการเล่นแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือ Heavy Metal Football สู่รั้ว “แอนฟิลด์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการจัดตัวที่เรียกว่า False 9

False 9 คือการวาง “หมายเลข 9 ลวง” เอาไว้ในสนาม ท่ามกลางผู้เล่น 11 คน ที่หากย้อนกลับไปดูกติกาฟุตบอลยุคโบราณที่กำหนดหมายเลขเสื้อตายตัวสำหรับนักเตะตัวจริงที่ลงสนาม “11 คนแรก” คือเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 11 ในระบบ 4-3-3

เบอร์ 1 คือผู้รักษาประตู เบอร์ 2 คือแบ๊กขวา เบอร์ 3 คือแบ๊กซ้าย เบอร์ 4 คือกองกลางตัวรับ เบอร์ 5 และเบอร์ 6 คือเซ็นเตอร์แบ๊ก เบอร์ 7 คือปีกขวา เบอร์ 8 คือกองกลางตัวรุก เบอร์ 9 คือศูนย์หน้า (Traditional 9 หรือ Classic 9) เบอร์ 10 คือจอมทัพ และเบอร์ 11 คือปีกซ้าย

J?rgen Klopp วาง False 9 หรือ “หมายเลข 9 ลวง” คือ Roberto Firmino เอาไว้ในสนาม เพื่อหลอกคู่ต่อสู้ว่า หมายเลข 9 คนนี้คือ “ศูนย์หน้าตัวจริง” ทั้งๆ ที่เขาคือ เบอร์ 10 “จอมทัพ” ผู้สร้างสรรค์เกมให้กับทีม

เพราะตามธรรมชาติของการ “วางระบบเกมรับ” ย่อมต้องมีการมอบหมาย “กองหลัง” 1 คน คอยตามประกบ “ศูนย์หน้า” เบอร์ 9 เพื่อไม่ให้ยิงประตู

ดังนั้น การใช้แผน False 9 ก็คือการดึงเอา “กองหลัง” ที่ตามประกบ “ศูนย์หน้า” คนนั้น ออกมาจากพื้นที่เกมรับหน้าประตู เปิดโอกาสให้ “ปีก” หรือ “กองหน้าอีกตัว” มีที่ว่างสำหรับเข้าทำ!

พลันที่ J?rgen Klopp นำระบบ False 9 เข้าสู่ “ลิเวอร์พูล” พลพรรค “หงส์แดง” ก็ประสบความสำเร็จ คว้า “ถ้วยใหญ่” คือแชมป์ “ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก” แชมป์ “สโมสรโลก” และแชมป์ “ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ”

เหลือ “ถ้วยใหญ่” อีกหนึ่งคือแชมป์ “พรีเมียร์ ลีก” และ “ถ้วยเล็ก” อย่าง “เอฟเอ คัพ” และ “ลีก คัพ” เท่านั้นก็ยังเอื้อมไม่ถึง!

 

นอกจาก False 9 มีอีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งน่าสนใจหยิบยกมาพูดถึงกับสถานการณ์ของ “หงส์แดง” เวลานี้

นั่นก็คือแนวคิด Quantum Leadership

Quantum Leadership เป็นการต่อยอดทฤษฎี Quantum Physics ครับ

Quantum Physics เป็นแนวคิดที่กล่าวถึงวัตถุว่ามีคุณสมบัติเป็นได้ทั้ง “สสาร” และ “พลังงาน” ในตัวเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากคำอธิบายของ Newtonian Physics อย่างสิ้นเชิง

การนำ Quantum Physics มาต่อยอดเป็นแนวคิด Quantum Leadership ก็คือ การอธิบายถึง “ภาวะผู้นำ” ว่าเป็นทั้ง “สสาร” และ “พลังงาน” หรือ “ผู้นำ” จะต้องเป็นทั้ง “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ในบุคคลคนเดียวกัน

ต่างจากทฤษฎี “ภาวะผู้นำดั้งเดิม” ที่เชื่อว่า “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” คือ “ปัจเจกบุคคล” ที่แยกจากกัน ประดุจ “สสาร” ที่แยกจาก “พลังงาน”

 

Margaret Wheatley เจ้าของหนังสือ Leadership and the New Science : Discovering Order in a Chaotic World ชี้ว่า บทบาทของ Quantum Leadership คือการสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม” หรือ Shared Vision ในการพัฒนา “ความเป็นผู้นำ” ของเพื่อนร่วมงาน

โดยเฉพาะ “การกระตุ้นให้เกิดความกระหาย” ในหมู่สมาชิก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง!

“Quantum Leadership มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีวัตถุประสงค์ (Encourage Purposeful Learning) ด้วยหลักการที่ว่า “คน” คือ “ศูนย์กลางขององค์กร” หรือ Person-Centered Organization” Margaret กระชุ่น

เธอกล่าวต่อว่า Quantum Leadership คือผู้ที่ “นำอนาคตมาสู่ปัจจุบัน” หรือ Bring the Future into the Present

Quantum Leadership ต้องเป็นผู้ที่เปิดใจกว้าง มีความยืดหยุ่น หมั่นทบทวนวิธีการทำงาน ตลอดจนพันธกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้

“Quantum Leadership คือผู้กำหนดให้กลยุทธ์ความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงาน โดยเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการขับเคลื่อน “นำอนาคตมาสู่ปัจจุบัน” ก็คือ “ความร่วมมือภายในทีม” Margaret ทิ้งท้าย

เพราะจุดเด่นของ Quantum Leadership คือ “การยึดทีมเป็นฐาน” เพื่อส่งผ่านพลังขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงของทุกคน

ซึ่งต่างจากทฤษฎี “ภาวะผู้นำ” ทั้งหมดที่เคยมีมา ที่เน้น “การนำเดี่ยว” ของ “ผู้นำ” นั่นเอง!

 

จะเห็นได้ว่า แนวคิด Quantum Leadership ที่ Margaret Wheatley พูดถึง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายองค์กร

โดยเฉพาะ “การบริหารทีมฟุตบอล” ในสไตล์ “หงส์แดง”

เพราะนับตั้งแต่ J?rgen Klopp นำระบบ False 9 เข้าสู่ “ลิเวอร์พูล” ก็ดูเหมือนว่าพลพรรค “หงส์แดง” พลอยจะได้รับแนวคิด Quantum Leadership นี้ตามมาด้วย

เราจึงได้เห็น “บทบาทผู้นำ” ที่เปลี่ยนไปของ “ลิเวอร์พูล” จากผู้จัดการทีมคนเก่า ที่มักแสดงบทบาทเป็นผู้สั่งการ (Directing)

มาเป็นรูปแบบนักบริหารแนวใหม่คือ J?rgen Klopp ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ “กระตุ้นให้เกิดความกระหาย” ประดุจ “เครื่องจักรสีแดง”

และที่สำคัญก็คือ “ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค”

 

เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดก็ตาม ย่อมมีทั้ง “ความสำเร็จ” และ “ความล้มเหลว” ควบคู่กันเสมอ

Jurgen Klopp ได้เสก “บรรยากาศการมีส่วนร่วม” เอื้อให้สมาชิกในทีมมีอิสระที่จะ “คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ” และปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

ส่งผลให้ “หงส์แดง” ปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็น “องค์กรที่ขับเคลื่อนตนเองได้” (Self-Organization) ในปัจจุบันนั่นเอง!