นัดชี้ชะตา ‘สุเทพ’ (อีกรอบ) คดีโรงพักทดแทน-แฟลตตำรวจ 22 ส.ค.นี้

ศาลฎีกาฯ นักการเมืองนัดชี้ชะตาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ‘สุเทพ’ กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน-เเฟลตตำรวจ 22 ส.ค.นี้ หลังเคยยกฟ้องเมื่อ ก.ย. ปีที่เเล้ว

 

จุดเริ่มต้นมหากาพย์คดีโรงพักร้าง 
“ชูวิทย์” เปิดอภิปรายกลางสภา

ย้อนไปเมื่อปี 2552 โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้งบฯ “ไทยเข้มแข็ง” และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2554 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นายสุเทพเป็นรองนายกฯ กำกับดูแล ตร.

ในปี 2552 พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป๊อด” ได้เสนอโครงการการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ต่อครม. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติ 17 ก.พ. 2552 ให้ประมูลแบบรายภาค งบผูกพัน 3 ปี วงเงิน 6,672 ล้านบาท

โดย “บิ๊กป๊อด” จะเกษียณอายุ 30 กันยายน 2552 จะต้องแต่งตั้ง ผบ.ตร.ขึ้นมาแทนตามตามธรรมเนียม แต่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ที่นายอภิสิทธิ์เป็นประธานไม่สามารถแต่งตั้งได้สำเร็จ ที่ประชุมล่มไปหลายหน จนแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ ยาวนานเกือบ 1 ปี

แล้วช่วงที่ พล.ต.อ.ปทีปรักษาราชการแทน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากแยกภาคที่ พล.ต.อ.พัชรวาททำเอาไว้ มาเป็นรวบสัญญาเดียว

ระหว่างนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์เผชิญสถานการณ์ร้อนทางการเมือง ทั้งชุมนุมประท้วงไปจนถึงเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 หรือ 99 ศพ และอีกหลายปัญหารุมเร้าจนยุบสภา

ต่อมาเรื่องนี้เกิดเป็นประเด็นขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2555 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ได้เปิดอภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลงาน ตร. โดยเปิดโปงโครงการ 396 โรงพักที่สร้างแล้วทิ้งร้าง โดยนำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย เป็นที่ตื่นตาตื่นใจสาธารณชนอย่างยิ่ง

จน ร.ต.อ.เฉลิม สั่งตรวจสอบพบว่าต้นเรื่องมาจากโครงการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ จึงกลายเป็นคดีความสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้รวบรวมพยานหลักฐาน

ก่อนสรุปให้เอาผิดนายสุเทพกับพวก โดยยื่นให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ และแล้ว 22 กรกฎาคม 2562 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพกับพวกรวม 6 คน

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

มติ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด

ผ่านไป 10 ปี
ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง

20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่งอ่านคำพิพากษา คดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทน ผบ.ตร., พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 หลัง

องค์คณะพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6

โดยจำเลยที่ 1 นายสุเทพขณะเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เห็นชอบให้จัดจ้างโดยส่วนกลาง และประกวดราคาด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ผ่าน ครม. เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระเบียบขั้นตอนจัดจ้าง เป็นการปฏิบัติตามระเบียบทางราชการ ตามที่หัวหน้าหน่วยราชการเสนอมา มีระเบียบของราชการสามารถทำได้ จึงไม่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 2 พล.ต.อ.ปทีป ขณะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ใช้ดุลพินิจตามระเบียบของทางราชการในการกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดจ้าง โดยไม่จำเป็นต้องเสนอนายกฯ ให้นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 3 พล.ต.ต.สัจจะ เป็นคณะกรรมการประกวดราคาฯ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำให้ ตร.เสียหาย กรณีเอื้อประโยชน์ ไม่ตรวจสอบราคาวัสดุก่อสร้างที่ต่ำกว่าความเป็นจริงตามที่จำเลยที่ 5 เสนอมา แต่ข้อเท็จจริงการที่จำเลยที่ 5 เสนอราคาไม่ใช่ราคาที่ต่ำ จนไม่สามารถดำเนินการได้ การกระทำจำเลยที่ 3, 4 ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใด จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 4 พ.ต.ท.สุริยา เป็นคณะกรรมการประกวดราคาฯ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และไม่มีความผิดตามฟ้องเช่นกัน

จำเลยที่ 5 บริษัทพีซีซีฯ บริษัทคู่สัญญา โจทก์ฟ้องว่า สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 3, 4 และเมื่อจำเลยที่ 3, 4 ไม่มีความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 5, 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้องเช่นกัน

จำเลยที่ 6 นายวิษณุ เป็นบริษัทคู่สัญญา ยกฟ้องเช่นเดียวกัน

“สุเทพ” โล่งใจ คนดีฟ้าดินคุ้มครอง
“ชูวิทย์” คาใจ ทุกอย่างคงหล่นหายไปตามกาลเวลา

หลังคำพิพากษา นายสุเทพให้สัมภาษณ์อย่างโล่งอกว่า ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ต้องตกอยู่ภายใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต อดทนอดกลั้นและอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รู้ว่าเราตั้งใจทำความดีให้ชาติบ้านเมือง และประชาชน จะได้รับการคุ้มครอง…

ที่ผ่านมาทนทุกข์ทรมานใจมานาน ตอนนี้หมดทุกข์ หมดโศก พ้นเคราะห์ จะเดินหน้าทำงานให้ประเทศชาติ ประชาชนตามอุดมการณ์ต่อไป ในชีวิตทุ่มเททำงานให้บ้านเมืองและประชาชนด้วยความสุจริต ไม่มีใจที่จะคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน ไม่ใช่คนทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกอย่างได้พิสูจน์แล้ว ใครที่เคยกล่าวหาโจมตี ขออโหสิให้ และตอนนี้ยังไม่คิดฟ้องร้องใครกลับ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ประเทศไทย ระบุไว้ก่อนศาลฎีกาฯ พิพากษา 1 วัน กระตุกความคิดว่า อยากชี้ให้เห็นคือ ประเทศไทยต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง และการที่องค์กรต่างๆ ออกมาพูดเรื่องการประกาศคอร์รัปชั่นก็ไม่ใช่เรื่องจริงที่ทำได้ โดยขอยกเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการคอร์รัปชั่นและสร้างความเสียหายอย่างมาก

และหลังคำพิพากษา เจ้าตัวที่เคยเปิดประเด็นเรื่องนี้ยังแอบคาใจว่า

“…เป็นกระบวนการที่เริ่มตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องนี้มาอภิปราย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งในวันนั้นผมไม่ได้เอ่ยชื่อนายสุเทพกับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งนี้ เป็นการใช้งบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเริ่มต้นสัญญาในปี 2552 โดยนายสุเทพเป็นผู้เซ็นอนุมัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง มีการไปรื้อฟื้นสัญญาว่า นายสุเทพเซ็นไม่ถูกต้อง จึงมีการต่อสู้กันมา จนผลปรากฎแล้ว ส่วนตัวก็ต้องยินดีด้วย…”

“…แต่ถ้าถามผมเรื่องนี้มันก็ต้องมีคนผิด แต่จะเป็นใครนั้น เกินปัญญาผมจริงๆที่จะคาดเดา เพราะพูดไปวันนี้ผ่านมา 10 ปี ทุกอย่างคงตกหล่นหายไปตามกาลเวลาแล้ว…” นายชูวิทย์ กล่าว

ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์ต่อ
ยัน “ต้องมีคนรับผิดชอบ”

วันที่ 22 ส.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีทุจริตสร้างโรงพัก หมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 – 6 กรณีร่วมกันฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) 396 หลังทั่วประเทศ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช.มั่นใจว่าสิ่งที่ไต่สวนไปนั้นมีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะชี้มูลความผิดของบุคคลที่ถูกกล่าวหา ถึงอย่างไรต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะเกิดความเสียหาย มีการกระทำผิดขั้นตอน ป.ป.ช.จะเน้นประเด็นนี้ให้ศาลได้พิเคราะห์ จากนั้นอยู่ที่ศาลว่าจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ ป.ป.ช.มั่นใจว่าสิ่งที่ไต่สวนมานั้นมีพยานหลักฐานเพียงพอถึงได้ชี้มูลความผิดไป”

สำหรับสถานีตำรวจทดแทนและแฟลตตำรวจ รวม 396 แห่ง และแฟลตตำรวจ 163 หลัง เดิมปล่อยทิ้งร้าง ผ่านมา 10 ปี ปัจจุบันได้สร้างเสร็จเปิดใช้งานแล้ว มีการของบประมาณที่เป็นภาษีประชาชนทำต่อจนเรียบร้อย

แต่ค่าชดเชยเสียหายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ให้บริษัท พีซีซี ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 1,500 ล้านบาท ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เส้นทางการต่อสู้ทางคดียังเหลืออีกชั้นคือศาลปกครองสูงสุด