คุยกับทูต | ดาร์คีย์ แอฟริกา เอกภาพในความหลากหลายของแอฟริกาใต้ (1)

จากที่เคยมีนโยบายการแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติที่เรียกว่า ‘อพาร์ไทด์’ (apartheid) ซึ่งกุมอำนาจโดยคนผิวขาว แอฟริกาใต้ผ่านช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ จากความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อทางศาสนา และไม่ยอมรับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ด้วยการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกีดกัน ‘คนผิวสี’ อย่างมาก ที่จำกัดการเข้าถึงสิทธิต่างๆ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

จนเกิดการเรียกร้องต่อสู้ของคนผิวสี เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกคนในสังคม ระหว่างปี 1960-1970 มีการปราบปรามแกนนำในการประท้วง หนึ่งในนั้นคือ ‘เนลสัน โรลีลาลา แมนเดลา’ (Nelson Rolihlahla Mandela) อดีตนักโทษหมายเลข 46664 ซึ่งถูกจองจำอยู่นาน 27 ปีในห้องขังเล็กๆ บนเกาะร็อบเบน (Robben Island) ต่อมาเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง (ดำรงตำแหน่ง 27 เมษายน 1994-14 มิถุนายน 1999)

นโยบายประสานไมตรีที่เนลสันได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือร่วมใจของชาวสาธารณรัฐ แอฟริกาใต้ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลังจากที่ดิ้นรนเป็นเวลาหลายปี ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี ‘เนลสัน แมนเดลา’

‘แมนเดลา’ ได้รับรางวัลเกียรติยศจากแอฟริกาใต้และจากประเทศต่างๆ มากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1993

สัปดาห์นี้ เราได้รับเกียรติจากนายดาร์คีย์ แอฟริกา (His Excellency Mr.Darkey Africa) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เล่าถึงแอฟริกาใต้บนเส้นทางประชาธิปไตยและความสัมพันธ์กับประเทศไทย

นายดาร์คีย์ แอฟริกา (His Excellency Mr.Darkey Africa) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย

“ผมถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา”

“ก่อนหน้านี้ ผมดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่แอฟริกาใต้ ประจำกรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย”

“แอฟริกาใต้และไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1993 ดังนั้น ปีนี้จึงครบรอบ 30 ปีนับตั้งแต่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน”

เกิดอะไรขึ้นในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 1994

“เป็นวันที่ชาวแอฟริกาใต้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียง ‘เลือกตั้ง’ อย่างเท่าเทียมเป็นครั้งแรก และเราได้ประธานาธิบดีแมนเดลาผู้ล่วงลับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 1”

“เราสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกหลังผ่านมาเนิ่นนาน แม้ระบอบประชาธิปไตยของเรายังเด็กมาก แต่ก็แข็งแกร่งมาก ปราศจากการผูกขาด เพราะเรามีสถาบันที่เข้มแข็ง เช่น ศาลสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีอิสระ เพราะมีหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ดูแลความต้องการของประชาชน เช่น การจัดหาน้ำ ไฟฟ้า และพัฒนาสังคม”

“แม้ว่าจะมีเรื่องของความท้าทายเกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ประชาชนของเรามีสิทธิที่จะแสดงออกตามระบอบคือ ประท้วงได้ เดินขบวนได้ ไม่เป็นไร ไม่ใช่ปัญหา และไม่ได้มีการห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น หากแต่ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพราะแอฟริกาใต้เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงออกตามมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันได้”

นายเนลสัน แมนเดลา มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้

“วันที่ 18 กรกฎาคม นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ แล้ว ยังเป็น ‘วันเนลสัน แมนเดลา สากล’ (Nelson Mandela Day) ซึ่งถือเป็นวันที่ได้ระลึกถึงผู้รณรงค์ยุติการแบ่งแยกสีผิว”

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 ที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันคล้ายวันเกิดของนายแมนเดลา 18 กรกฎาคม เป็น ‘วันเนลสัน แมนเดลา’ เพื่อให้ความสำคัญต่อบทบาทที่ต่อสู้เพื่อสันติภาพ มนุษยธรรม ความยุติธรรมทางสังคม และการสร้างความปรองดองแห่งชาติในตลอด 67 ปีที่ผ่านมา ในภารกิจการปลดปล่อยชาวแอฟริกาใต้และนำเอกภาพมาสู่ทวีปแอฟริกา

โดยนายบัน คี มูน (Ban Ki-moon) เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ให้ถือ ‘วันเนลสัน แมนเดลา’ เป็นวันเริ่มปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นสารที่ส่งถึงประชาชนทั่วโลกให้เข้าร่วมกระบวนการสร้างสรรค์สันติภาพ เสถียรภาพ และความยุติธรรมทางสังคมอย่างเข้มแข็ง

นายเนลสัน แมนเดลา มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาอักษรศาสตร์ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก.ค. 1997 ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ในด้านเศรษฐกิจ

แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทยในทวีปแอฟริกา และเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศแอฟริกาใต้

“เราในฐานะแอฟริกาใต้ มองประเทศไทยเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยก็มองว่าแอฟริกาใต้เป็นประตูสู่ทวีปแอฟริกา และนี่คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ของเราที่กำลังทวีความเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเรารู้สึกยินดีและขอบคุณที่เป็นเช่นนั้น”

“ขณะนี้มีการค้าเกิดขึ้นมากมายระหว่างแอฟริกาใต้และไทย สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยไปสู่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ, ข้าว, ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้า”

“แม้เราจะนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากประเทศอื่นในตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 70% จากประเทศไทย”

ซึ่งสินค้าเหล่านี้สะท้อนยุทธศาสตร์ทางการค้าของแอฟริกาใต้ ที่ต้องการเป็นฐานการผลิต ประกอบ และนำสินค้าจากภูมิภาคอื่นเข้าสู่แอฟริกาและกระจายไปสู่ประเทศรอบข้าง และภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป

“มีปฏิสัมพันธ์มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศ วันเหล่านี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกเป็นความร่วมมือที่สร้างประโยชน์ระหว่างประเทศแอฟริกาใต้และประเทศไทย”

นายดาร์คีย์ อีเฟรอิม แอฟริกา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย

อนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเยือนแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 5-16 กุมภาพันธ์ 1999 เพื่อทรงเป็นองค์ปาฐกในการประชุม TWOWS Second General Assembly & International Conference ที่เมืองเคปทาวน์ ตามคำกราบทูลเชิญของ Third World Organization for Women in Science (TWOWS) และทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 1999 และเสด็จเยือนแอฟริกาใต้ในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (WSSD) ตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดีทาโบ อึมเบกิ (Thabo Mbeki) แห่งแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-5 กันยายน 2002

“ในขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีหลายคนจากแอฟริกาใต้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้”

 

“ไฮไลต์ที่สำคัญประการหนึ่งของการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งหมดนี้ คือการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างแอฟริกาใต้และไทยเมื่อปี 2018 เป็นความร่วมมือในด้านการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และยางพารา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีชื่อเสียง ดังนั้น เราจึงมีความสุขมากในความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้”

ยางพาราถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย (สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

“เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างแอฟริกาใต้และไทย สำหรับแอฟริกาใต้ยังต้องการเพิ่มปริมาณการค้า เนื่องจากยังไม่พอใจกับปริมาณที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การค้าทวิภาคีของเราคือ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแอฟริกาใต้ส่งออกเพียง 438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราจึงหวังว่าจะสามารถทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน”

“และจากการสนับสนุนของไทย ขณะนี้แอฟริกาใต้ได้รับการยอมรับเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (ASEAN) ถือเป็นการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งจะเป็นการช่วยให้การค้าระหว่างแอฟริกาใต้และประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin