กฎหมาย ‘ป้อง’ ร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถิติใหม่ๆ ว่าด้วยสภาพอากาศร้อนจัดได้รับการจดบันทึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะเดือนกรกฎาคมของปีนี้ นอกจากเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกเป็นสถิติไว้บนโลกใบนี้ ยังมีผลสำรวจพบชาวโลกกว่า 6,500 ล้านคนใน 4,700 เมืองรู้สึกและสัมผัสกับอากาศร้อนสุดสุดเช่นกัน และอุณหภูมิในน้ำทะเลทั่วโลกเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงสุด 20.96 องศาเซลเซียส ลบสถิติเก่าเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2559

ที่จีน อุณหภูมิในฝั่งตะวันตกแถวๆ มณฑลซินเจียง พุ่งสูงสุดทำสถิติใหม่ 52.2 องศาเซลเซียส ที่หุบเขามรณะ หรือเดต วัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ อุณหภูมิวัดได้ 53.9 องศาเซลเซียส

พื้นที่ในยุโรปตอนใต้ แถวๆ สเปน อิตาลี อุณหภูมิสูง 46 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิยังเพิ่มสูงต่อเนื่องอีกหลายวัน

ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ชาวเมืองต่างเป็นทุกข์ อย่างที่อิรัก อุณหภูมิพุ่งเกิน 50 องศาเซลเซียส ผู้คนต่างพากันเปิดแอร์คอนดิชั่น โรงไฟฟ้าปั่นไฟตลอดเวลาจนเครื่องปั่นระเบิดพัง ไฟดับทั้งเมือง ต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดแอร์ในรถแทน และรัฐบาลอิรักประกาศให้เป็นวันหยุด 2 วัน

อิรักเป็นกรณีตัวอย่างของประเทศได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดประเทศหนึ่ง ฝนทิ้งช่วงทำให้ผืนดินบริเวณตอนกลางของอิรักเดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวสาลีเขียวขจี บัดนี้ได้กลายเป็นทะเลทรายแตกระแหง

ที่ตุรกี บรรดานักวิทยาศาสตร์พากันตื่นตกใจเมื่อยอดเขาซิโล (Cilo) ของเมืองฮัคคาริ มีความสูง 4,135 เมตร สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเคยปกคลุมด้วยกลาเซียร์ขาวโพลนตลอดปี บัดนี้กลาเซียร์ละลายกลายเป็นสระน้ำเล็กๆ

กลาเซียร์ละลายกลายเป็นสระน้ำเล็กๆ บนยอดเขาซิโล (Cilo) ของเมืองฮัคคาริ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 / ภาพโดย AA

ส่วนในซีกโลกใต้ซึ่งปีนี้เป็นฤดูหนาวที่แปลกๆ กว่าปีอื่นๆ เนื่องจากสภาพอากาศมีทั้งร้อนเย็นปนกันในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ กล่าวคือเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เกิดคลื่นความร้อนแผ่กระจายในประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และปารากัว อุณหภูมิพุ่งถึง 30 องศาเซลเซียส แต่ในบ่ายวันที่ 3 สิงหาคม อุณหภูมิลดวูบเหลือ 11.7 องศาเซลเซียส

ปกติในช่วงฤดูร้อนของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา พื้นที่ทางขั้วโลกใต้จะมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส

ชาวเมืองฝั่งซีกโลกใต้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันอุตลุด ในช่วงเกิดคลื่นความร้อนพากันใส่กางเกงขาสั้น เสื้อคอกลมออกมานอนเล่นกลางสนามหญ้า

อีก 2 วันถัดมาต้องกลับไปรื้อตู้เสื้อผ้าหาชุดหนาๆ พร้อมผ้าพันคอใส่กันหนาว แต่ยังไม่เก็บชุดใส่หน้าร้อนเพราะกรมอุตุฯ ทำนายว่า คลื่นความร้อนจะเกิดอีกรอบ

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในประเทศทางขั้วโลกใต้ของเดือนสิงหาคมปีนี้ ถือเป็นสถิติอุณหภูมิเพิ่มสูงสุดในรอบ 30 ปี

 

นี่เป็นความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศโลก ที่ทุกคนรับรู้สัมผัสกันถ้วนหน้าและรู้ว่าสาเหตุของความผิดปกติมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การรวมพลังเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกกลับเชื่องช้าอืดอาดมาก

การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ หรือ COP (COP : Conference of Parties) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2538 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จนถึง COP 27 ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วที่ประเทศอียิปต์ ที่ประชุมพูดแต่เรื่องเดิมๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่องคือให้ทุกประเทศช่วยกันคุมปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ

ทั้งๆ ที่ประชุม COP ย้ำเตือนมาเกือบ 30 ปีแล้วว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้าพุ่งทะลุถึง 1.5 องศาเซลเซียส ชาวโลกจะเจอมหันตภัยทั้งร้อนสุดๆ เย็นสุดขั้ว และพายุสุดฤทธิ์สุดเดช

ทุกประเทศรับฟังแต่ยังปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ถ่านหิน ก๊าซ น้ำมันในปริมาณมากขึ้น รถยนต์ทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นรถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ในทางตรงข้ามทั่วโลกใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่ำมาก แค่ 3,300 กิ๊กกะวัตต์ เพราะถ้าจะลดการปล่อยก๊าซพิษต้องเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ปีละ 1,000 กิ๊กกะวัตต์

การวางเป้าหมายว่าภายในปี 2593 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีอยู่ราว 200 ประเทศจะควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์และใช้พลังงานหมุนเวียน 10,350 กิ๊กกะวัตต์ จึงยังเป็นเรื่องเพ้อฝัน

เมื่อการแก้ปัญหาลดโลกร้อนล้มเหลว ปริมาณก๊าซพิษยังอัดแน่นเต็มชั้นบรรยากาศโลก ปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดคลื่นความร้อนและพายุรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์เตือนให้ทุกประเทศเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะคลื่นความร้อนซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้คน แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนหลายหมื่นคน

 

ที่อังกฤษ รัฐบาลจัดทำแผนการปรับตัวแห่งชาติ หรือ NAP (National Adaptation Plan) ฉบับที่ 3 เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแผนนี้ครอบคลุมตั้งแต่การรับมือด้านสุขภาพจนถึงการดูแลบ้านเรือนประชาชน ต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์

ตามแผน รัฐบาลอังกฤษจะสร้างอาคารแห่งใหม่เพื่อรองรับประชาชนในช่วงเกิดคลื่นความร้อน และจัดงบฯ ลงทุนด้านการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนระหว่างมีวิกฤตน้ำท่วม พายุถล่ม หรือเกิดภัยแล้งไฟป่า

NAP ยังวางแผนรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดคลื่นความร้อนแผ่กระจายไปทั่วยุโรป ผลผลิตทางเกษตรจะลดลง อังกฤษปลูกพืชผักได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ผลไม้ 16% ที่เหลือนำเข้าจากยุโรป รัฐบาลอังกฤษกำหนดแนวทางใหม่ในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารป้องกันการขาดแคลนทางอาหาร

ที่สหรัฐ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตของสภาคองเกรส มองเห็นวิกฤตอากาศร้อนจัด จึงหยิบกฎหมายมาตรฐานคุ้มครองคนงานระหว่างทำงานในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดๆ มาปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สหรัฐมีหน่วยงานว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Administration : OSHA) ดูแลและปกป้องคนงานชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคน

การเสนอปรับปรุงกฎหมายนี้เชื่อว่า จะช่วยให้คนงานได้รับสิทธิในการคุ้มครองความปลอดภัยระหว่างทำงานในพื้นที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนจัดได้อย่างมีมาตรฐานดีกว่าในอดีต

บทบาทของวุฒิสมาชิกสหรัฐ ได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดาสื่อและกลุ่มคนงาน ตรงกันข้ามกับวุฒิสมาชิกของบ้านเราที่ไม่เคยฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]