“เสรีพิศุทธ์”ฉายามือปราบตงฉิน วิบากถูกสั่งสอบ ม.112 กับบันทึกการถูกสั่งปลดผบ.ตร.

นับตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 การจัดตั้งรัฐบาล มาจนถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ มีความเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาโดยตลอด

สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นั้นมีจุดยืนชัดเจนว่า เน้นแนวทางสายกลาง คือไม่ยกเลิก แต่เห็นว่าควรมีการปรับในรายละเอียด เช่น ไม่ใช่ใครก็ไปแจ้งความได้ ควรให้ตัวแทนจากสำนักพระราชวังดำเนินการ หรือลดจำนวนปีในการรับโทษติดคุกลงมา เป็นต้น

“ผมตั้งใจทำงานให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังถูกยัดเยียดข้อหาได้ แล้วพี่น้องประชาชน ถ้าใช้กฎหมายนี้ต่อไปจะไม่ถูกยัดเยียดหรือ”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวในระหว่างการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 แต่กลับมีสส. และสว. อภิปรายถึงเรื่องการแก้ไข ม.112

หากพลิกดูเส้นทางและหลักฐานต่างๆ พบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เคยถูกสั่งสอบข้อหาหมิ่นกษัตริย์ด้วยเช่นกัน

โปรดเกล้าฯ – ปลด ผบ.ตร.

วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 นับเป็นหนึ่งในวันที่วงการสีกากีต้องบันทึกเอาไว้ ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

เพราะแม้ในอดีตจะมี ผบ.ตร. บางคนถูกย้ายไปช่วยราชการ แต่ทุกคนจะได้อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการ

เนื่องจากตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และหากจะออกจากตำแหน่งโดยไม่เกษียณอายุ หรือไม่ได้ลาออกเอง ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเช่นกัน

เช่น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ถูกรัฐบาลขิงแก่เล่นงานเนื่องจากไม่ยอมทำตามความประสงค์ แม้จะถูกย้ายไปช่วยราชการ แต่นายกฯ ก็ไม่มีอำนาจสั่งปลด หรือย้ายไปหน่วยงานอื่น หากไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา

พล.ต.อ.โกวิท ยังได้ชื่อว่าเป็น ผบ.ตร. จนเกษียณอายุราชการ

แต่กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นั้นต่างออกไป เพราะนอกจากจะถูกย้ายออกจากตำแหน่ง ตามมาด้วยคำสั่งให้ออกจากราชการ ยังถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงหลายต่อหลายข้อหาด้วยกัน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 นายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ มีหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0001.1/9773 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่นำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตามที่เสนอไป

ในวันรุ่งขึ้นนายสมัคร สุนทรเวช ก็ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พร้อมออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. ทันที โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ถูกให้ออกจากราชการคือ 8 เมษายน 2551

 

เปิดเส้นทางก่อนตกเก้าอี้

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ขึ้นมารับตำแหน่ง ผบ.ตร. หลัง พล.ต.อ.โกวิท ถูกรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งย้ายไปช่วยราชการ เนื่องจากไม่ยอมทำตามความต้องการหลายๆ เรื่อง

แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ต้องรอจนเดือนตุลาคม 2550 เมื่อ พล.ต.อ.โกวิท เกษียณอายุราชการ จึงได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. เต็มตัว

กระทั่งรัฐบาลสมัคร เข้ามาบริหารประเทศ และได้รับรายงานเกี่ยวกับปัญหาในองค์กรสีกากีหลายเรื่องด้วยกัน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสมัครเซ็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 34/2551 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รวม 3 ข้อหาประกอบด้วย

1.ดำเนินโครงการเช่ารถยนต์ใช้งบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,899,578,200 บาท โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

2.สั่งการโดยใช้ถ้อยคำที่มิบังควรและไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน ในบันทึกของกองสวัสดิการที่เสนอขอให้พิจารณางดการแข่งขันกีฬาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปี 2551 เนื่องจากผู้เสนอเห็นว่าอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ตามมติคณะรัฐมนตรี

โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เขียนตอบกลับในท้ายรายงานด้วยลายมือตัวเองว่า “ควายหรือเปล่า” และให้ดำเนินการจัดการแข่งขันต่อไป

และ 3.ดำเนินการงานบริหารงานบุคคล โดยออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ พ.ต.อ. ตำแหน่ง ผกก. ฝ่ายปฏิบัติการที่ 1-ที่ 10 ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีกฎหมายรองรับตำแหน่ง

พร้อมกับการตั้งกรรมการสอบ ก็มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รักษาราชการแทน

สั่งสอบข้อหาหมิ่นกษัตริย์

ล่วงเข้าวันที่ 8 เมษายน 2551 นายสมัครลงนามในคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2551 ตั้งกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพิ่มเติมอีก 4 ข้อหา ประกอบด้วย

1.กรณีกล่าวหาว่ามีการทุจริตเงินงบประมาณที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในโครงการรับซื้อลำไยปี 2547

2.กรณีกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ตามโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี จำนวน 19,147 คัน

3.กรณีกล่าวหาว่า รีสอร์ตภูไพรธารนํ้า ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถมหินขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ดิน กรวด ทราย จำนวนมากล่วงลํ้าเข้าไปในแม่นํ้าแควน้อย แล้วยึดถือครองที่ดินที่บุกรุกแม่นํ้าแควน้อย

และ 4.กรณีกล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส สั่งการให้กองบินตำรวจจัดอากาศยานชนิดเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้สนับสนุนภารกิจ ผบ.ตร. เดินทางไปพักผ่อนและดูแลกิจการที่รีสอร์ตเป็นการส่วนตัวในวันหยุดราชการ

พร้อมทั้งลงนามในคำสั่งที่ 73/2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน

และทำหนังสือนำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ

ถัดมาอีก 1 เดือน นายสมัคร ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพิ่มเติมอีก และให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

 

เปิดหลักฐาน กก. สอบวินัย

คําสั่งดำเนินคดีข้อหาหนักนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบวินัย พบข้อมูลว่าในอดีตที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม และมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หลายเรื่อง

คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงชี้ว่า น่าจะเชื่อมโยงกับการใช้ถ้อยคำ “ควายหรือเปล่า”

คณะกรรมการระบุผลการสอบพบว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2550 ถึง 7 พฤศจิกายน 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เดินทางไป ร.พ.ศิริราช แค่เพียงครั้งเดียว

และวันที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเฝ้าฯ ส่งเสด็จเป็นจำนวนมาก แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ได้มาร่วมส่งเสด็จ ทั้งๆ ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. มีหน้าที่สำคัญในการถวายอารักขาความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปฏิเสธที่จะร่วมงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ทั้งที่เลขาธิการพระราชวังได้มีหนังสือแจ้งให้มาปฏิบัติหน้าที่ กอปรกับกองบัญชาการทหารสูงสุดก็มีหนังสือเชิญมาด้วยเช่นกัน

แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กลับเลือกไปงานแสดงความยินดีกับ นายบุญยงค์ กมลเลิศวรา สมาชิก “กลุ่มเพื่อนเสรี” ที่เปิดสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพแห่งใหม่ และร่วมพิธีแต่งงานของบุคคลอื่น

กรรมการสอบสวนระบุในรายงานว่ามีหลายครั้งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไม่สมควร มิบังควร

อาทิ ช่วงการให้โอวาทข้าราชการตำรวจจำนวนมากที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีการบันทึกหลักฐานทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวตลอดจนคำให้การของพยานบุคคล

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ยังได้กล่าวถ้อยคำบางประการ ขณะนั่งดูโทรทัศน์เสนอข่าวพระราชดำรัส ต่อหน้าบุคคลอื่น โดยมีพยานให้การยืนยัน

กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม สำนักราชเลขาธิการส่งหนังสือตอบกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.

และทั้งหมดนั้นคือเส้นทางก่อนถึงบทสรุปของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อดีต ผบ.ตร.