กางผลงาน ศธ.ในมือ ‘ตรีนุช’ ลุ้นพา ‘การศึกษาไทย’ ให้ไปต่อ!!

เข้าสู่ปีที่ 131 แล้วสำหรับการจัดตั้ง “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ของไทย โดย ศธ.ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 131 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

งานนี้เจ้ากระทรวงอย่าง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ขนทีมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มาร่วมกันแถลงผลการทำงาน เพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21

ซึ่ง น.ส.ตรีนุชได้พูดถึงความ “ท้าทาย” ในด้านต่างๆ ที่ ศธ.ต้องเผชิญ จากการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในขณะนี้ ทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากสภาพสังคม และเศรษฐกิจของโลก

พร้อมทั้งย้ำว่า ศธ.ในฐานะที่ดูแลการศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน ดูแลการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย การศึกษาสายอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต ได้พัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้เรียน สร้างคุณภาพทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา เห็นความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ที่ขับเคลื่อนได้อย่างดี

จึงขอให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง และนักเรียน

 

ทั้งนี้ หน่วยงานหลักใน ศธ.ยังได้แจกแจงถึงผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมาขององค์กรหลักใน ศธ.เริ่มจาก สป.ศธ.ซึ่งนายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ.ระบุว่า สป.ศธ.ได้จัดตั้งอาสาสมัครผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) โดยเปิดรับผู้เกษียณอายุจากภาครัฐ และเอกชน ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาการถดถอยทางการศึกษา และช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีผู้สมัครมากถึง 43,885 คน

นอกจากนี้ ยังผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยออก 7 มาตราช่วยเหลือ ดังนี้

1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.05-1.0 มีครูได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย 463,072 ราย ช่วยลดภาระหนี้สิน 2,256 ล้านบาท

2. ยกระดับการหักเงินเดือน และควบคุมยอดหนี้

3. ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย

4. จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคทั่วประเทศ 558 สถานี เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้แก่ครูที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ 41,128 ราย

5. ปรับโครงสร้างหนี้

6. ใช้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เป็นหลักประกันเงินกู้

และ 7. ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงิน

ขณะที่การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่าได้พัฒนางานใน 4 มิติ ได้แก่

1. ความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือสร้างโรงเรียนแห่งความสุข จัดทำโครงการสถานศึกษาปลอดภัย และผลักดันให้มี 1 โรงเรียน 1 อนามัย

2. สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจัดโครงการพาน้องกลับมาเรียน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของนักเรียน โดยเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อพัฒนาให้มีการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ

3. สร้างคุณภาพ ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาให้อิงสมรรถนะ เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning 100%

และ 4. สร้างประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพ โครงการ Connext ED และโครงการร่วมพัฒนา ส่งเสริมการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก

 

ส่วนการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษา ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานสำคัญๆ อาทิ โครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โดยนำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้ามาเรียนในสถานศึกษา 88 แห่ง สร้างโอกาสให้ผู้เรียน 3,480 คน ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาโดยเชื่อมโยงพัฒนาหลักสูตรสมัยใหม่ พร้อมผลักดันทวิภาคีคุณภาพสูง ร่วมกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตร สภาการท่องเที่ยว สภาดิจิทัล กระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ จัดการศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูงใน 433 สถานศึกษารัฐ และ 444 สถานศึกษาเอกชน โดยตั้งเป้าในปี 2568 จะมีผู้เรียนทวิภาคี 50% จากผู้เรียนอาชีวะทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมปลาย หรือทวิศึกษาร่วมกับ สพฐ.ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 5,000 คน

สำหรับการจัดการศึกษานอกระบบฯ ของ กศน.นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน.ระบุว่า ได้จัดโครงการ “สูงวัย ใจสมาร์ท” เพื่อพัฒนาทักษะของผู้สูงอายุใน 4 มิติ จัดโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยในปีการศึกษา 2565 พบเด็กหลุดจากระบบ 79,396 คน ติดตามเข้าระบบได้ 14,377 คน ไม่กลับเข้าระบบ 6,999 คน ส่งต่อหน่วยงานอื่นเนื่องจากอายุเกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ แต่ต้องการได้รับการช่วยเหลือสวัสดิการด้านอื่นๆ จากภาครัฐ 23,865 คน

ผลักดัน กศน. WHITE ZONE และอยู่ระหว่างยกระดับ กศน.สู่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) หลัง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ขณะที่การจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สช.ได้ส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น จัดสรรค่าใช้จ่ายในการตรวจติดตาม และสัมนาฝึกอบรมบุคลากรในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) 2,144 ศูนย์ ศูนย์ละ 5,000 บาท ทำให้บุคลากร 15,910 คน ได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนตามขนาดของโรงเรียน ระดับเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 ครอบคลุม 487,819 คน ใน 1,782 โรง และปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการ มีนักเรียนได้รับความช่วยเหลือ 4,762 คน มีผลในปีงบประมาณ 2566

ส่วน ก.ค.ศ.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลข้าราชการครูทั่วประเทศ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ระบุว่า ก.ค.ศ.ได้พัฒนาระบบบริหารงานบุคคลเพื่อพลิกโฉมวิชาชีพครู สร้างขวัญกำลังใจให้ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก โดยลดระยะเวลาขอวิทยาฐานะจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี เสนอเงินเพิ่มพิเศษจากสภาพการทำงานเดือนละ 3,000 บาท ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมด้านคุณภาพให้โรงเรียน โดยจัดสรรอัตรากำลังกว่า 20,453 อัตรา ลดความซ้ำซ้อนในการประเมินเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน โดยวางระบบเกณฑ์ประเมินใหม่ คือใช้เกณฑ์ PA และประเมินวิทยาฐานะผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้ ได้พัฒนาความก้าวหน้า และการประเมินในสถาบันอาชีวศึกษา แก้ปัญหาอัตรากำลังครู ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้บรรจุผู้อำนวยการในโรงเรียนที่มีนักเรียน 60-120 คน โดยเกลี่ยอัตราครูที่เกินในโรงเรียนขนาดใหญ่มาเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการ เพื่อบรรจุในโรงเรียนขนาดเล็ก

 

ปิดท้ายที่ สกศ. ซึ่งนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า ได้เร่งพัฒนาการศึกษาเชิงนโยบายที่สำคัญ ได้แก่

1. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาระดับจังหวัด โดยนำร่องจัดทำแผนการศึกษา 9 จังหวัด

2. จัดทำแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานกลางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ

และ 3. จัดทำแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก (IMD) นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อน และติดตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ติดตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศด้านเด็กปฐมวัย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ

ทั้งนี้ คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ว่าผลการทำงานของ ศธ.ที่แจกแจงมาทั้งหมด จะนำพาการศึกษาไทยให้ไปต่อในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?? •

 

| การศึกษา