อย่าปล่อยให้การเลือก ส.ว.เงียบ จนอำนาจเก่ายึดประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่อำนาจรัฐเป็นของประชาชน สังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงเชื่อว่าเจ้าของประเทศตัวจริงคือประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่คนอื่น

แต่คนไทยวันนี้รู้ดีว่าคำพูดนี้เป็นเพียงยากล่อมประสาท เพราะความจริงคือเราถูกทำให้เป็นแค่คนอยู่อาศัยที่แทบไม่มีปากเสียงเลย

ถ้าประเทศเป็นของประชาชน เมื่อใดที่ประชาชนมองไปยังรัฐบาล ประชาชนย่อมเห็นผู้นำหรือพรรคที่ประชาชนไว้วางใจสูงสุดเป็นผู้บริหารประเทศ

เช่นเดียวกับเมื่อมองไปยังองค์กรอื่นแล้วควรเห็นความเชื่อมโยงกับประชาชนตั้งแต่รัฐสภา, ศาล, องค์กรอิสระ ฯลฯ ไม่ใช่ไม่เห็นอะไรเลย

คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน เพราะถึงแม้รัฐบาลจะเข้าสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็เขียนให้ ส.ว.ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนประชาชนเป็นคนเลือกนายกฯ ข้ออ้างว่ารัฐบาลได้อำนาจตามกฎหมายจึงมีน้ำหนักไม่ต่างกับคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ้างแบบนี้ในปี 2562 เหมือนกัน

ยิ่งเห็นภาพการปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปแบบค้านสายตาประชาชน คนเก่งๆ คนดีๆ ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ขณะที่คนไม่เก่งได้ไปต่อ, คนไม่ดีได้เข้ามา และคนไม่ได้เรื่องมีตำแหน่งใหญ่โตขึ้นเยอะไปหมด

ความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่คำนึงถึงประชาชนจนไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนยิ่งทวีคูณ

หากรัฐบาลที่มีองค์ประกอบมาจาก ส.ส.ทำไห้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศจนไม่ยอมรับได้ขนาดนี้ องค์กรอื่นที่ไม่มีประชาชนเป็นองค์ประกอบย่อมไม่มีทางที่จะทำให้ประชาชนยอมรับได้แม้แต่นิดเดียว จะมีก็แต่ความชิงชังมากบ้างน้อยบ้างสุดแท้แต่พฤติกรรมของบุคคลและการกระทำของแต่ละองค์กร

 

วุฒิสภาเป็น 1 ในองค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งร่างโดยคณะรัฐประหารปี 2557 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนเลย เพราะไม่เพียงที่มาจะมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกกันเองในบั้นปลาย อำนาจเลือกนายกฯ ที่ ส.ว.ไม่เคยโหวตให้คนที่ชนะเลือกตั้งยิ่งทำให้ ส.ว.เป็นที่รังเกียจของประชาชน

ในปี 2562 ขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะอันดับ 1 แล้วเสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ วุฒิสมาชิกก็จับมือกับพรรคแพ้เลือกตั้งอย่างพลังประชารัฐโหวตให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ

และในปี 2566 ขณะที่พรรคก้าวไกลชนะอันดับ 1 แล้วเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ วุฒิสมาชิกก็จับมือพรรคแพ้เลือกตั้งอย่างเพื่อไทยโหวตคุณเศรษฐา ทวีสิน แทน

ไม่เพียงวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคุณประยุทธ์และคุณประวิตรจะเลือกนายกฯ จากพรรคที่แพ้เลือกตั้งตลอดมา

วุฒิสภายังแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระและศาลแบบที่จงใจเลือกเฉพาะบุคคลที่มีแนวความคิดซึ่งตรงข้ามกับหลักการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่แทบจะตลอดเวลา

 

ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่อำนาจรัฐเป็นของประชาชน และประเทศไทยก็คือประเทศที่มักอ้างว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศด้วย

แต่ถ้าจะมีองค์กรใดที่เป็นหลักฐานว่าประชาชนไม่ใช่เจ้าของประเทศมากที่สุด องค์กรนั้นคือวุฒิสภาทั้งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และทั้งที่เคยเป็นก่อนเละเทะก่อนที่จะกู่ไม่กลับอย่างปัจจุบัน

ข้ออ้างในการมีวุฒิสภาคือเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ให้กับสภาผู้แทนฯ ที่มาจากประชาชน เพียงแค่นี้ก็เห็นแล้วว่ากำเนิดวุฒิสภาวางอยู่บนฐานคิดที่ดูถูกประชาชนอย่างที่สุด

เพราะเห็นว่าผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกนั้นโง่จนต้องมีวุฒิสภาเป็นพี่เลี้ยง

และถ้ามองว่าผู้แทนประชาชนโง่ ก็เท่ากับมองว่าประชาชนโง่ด้วยโดยปริยาย

ส.ส.จะโง่หรือฉลาดกว่า ส.ว.หรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีวันรู้ได้เลย

แต่ที่ทุกคนรู้ได้แน่ๆ คือคุณสมบัติของวุฒิสมาชิกที่เป็นจริงนั้นห่างไกลจาก “สภาผู้รู้” จนไม่มีปัญญาทำหน้าที่ “สภาพี่เลี้ยง”

รวมทั้งไม่มีอะไรให้เชื่อได้เลยว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและบุคคลที่แต่งตั้งเข้ามา

 

ถ้าเชื่อว่าความรู้ขึ้นอยู่กับปริญญา คุณวุฒิการศึกษาของ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต่างจากผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือก

ถ้าเชื่อว่าความรู้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ประสบการณ์ของ ส.ว.ก็มาจากอาชีพ ส.ว.ซึ่งก็ไม่ได้วิเศษกว่าอาชีพของผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกอีก

ไม่ต้องพูดถึงจำนวน ส.ว.ที่ส่วนใหญ่มาจากทหาร, ตำรวจ และข้าราชการ

ไม่มีใครในโลกที่จะเสียสติคิดว่าคุณวุฒิและประสบการณ์ของทหาร, ตำรวจ และข้าราชการสูงส่งกว่าอาชีพอื่นจนต้องแต่งตั้งคนกลุ่มนี้เป็น ส.ว.มากที่สุด แต่ประเทศไทยมีคนออกแบบระบอบการปกครองที่คิดว่าคนกลุ่มนี้สูงส่งกว่าคนอื่นจนต้องตั้งคนกลุ่มนี้เป็น ส.ว. หรือ “สภาพี่เลี้ยง” เหนือผู้แทนประชาชนตลอดเวลา

มองแค่แว้บเดียวก็ตาสว่างว่าธาตุแท้ของวุฒิสภาในประเทศไทยคือการจรรโลงระบอบการปกครองที่ผู้มีอำนาจคุมประชาชนโดยเลือกคนของตัวเองเป็น “วุฒิสภา” เพื่อควบคุม “สภาผู้แทนราษฎร”

ยิ่งกว่านั้นคือผู้มีอำนาจกะล่อนจนสร้างคำว่า “สมาชิกรัฐสภา” มากลบเกลื่อนว่า “วุฒิสมาชิก” ไม่ต่างกับ “ผู้แทนราษฎร”

 

ภายใต้วิธีจรรโลงอำนาจโดยอ้างว่าประชาชนโง่จนเลือกผู้แทนฯ ที่ไม่ได้เรื่อง คนไทยต้องมีวุฒิสภาที่ไม่เหมือนใครในโลกเพราะมีอำนาจขั้นเลือกนายกฯ ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ขณะที่ทั่วโลกแทบไม่มีประเทศไหนให้วุฒิสภามีอำนาจเลือกนายกฯ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งศาลและองค์กรอิสระอย่างในประเทศไทย

หลักของวุฒิสภาทั่วโลกคือถ้ามีอำนาจมากก็ต้องมีที่มาจากประชาชน แต่ถ้าไม่ได้มาจากประชาชนก็ต้องมีอำนาจน้อย

อำนาจของวุฒิสภาสหรัฐมีอำนาจมากเพราะมาจากการลงคะแนนเลือกของประชาชนในแต่ละรัฐ

วุฒิสมาชิกของสหรัฐจึงใช้อำนาจในฐานะตัวแทนประชาชนของมลรัฐตลอดเวลา

อังกฤษมีสภาสูงซึ่งเทียบได้กับ ส.ว.แต่ไม่มีอำนาจเลย เพราะสภาสูงมาจากตระกูลขุนนาง, บิชอปและอาร์กบิชอป รวมทั้งขุนนางที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ

แต่เมื่อประชาชนไม่ได้เลือก สภาจึงมีอำนาจแบบสภาที่ปรึกษา ยับยั้งกฎหมายไม่ได้ รวมทั้งไม่มีอำนาจรับรองการแต่งตั้งบุคคลทางการเมืองหรือองค์กรอิสระใดๆ

 

ประเทศไทยมี ส.ว.ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกแบบอังกฤษ แต่แย่กว่าอังกฤษซึ่งตำแหน่ง ส.ว.มาจากสายเลือดหรือองค์กรทางศาสนาที่ระบุตัวได้ชัดๆ เพราะ ส.ว.ไทยมาจากการเลือกตามใจชอบจนคนเลือก

ส.ว.มีอำนาจเหนือประเทศ และที่แย่ขึ้นไปอีกคือคนกลุ่มนี้มีอำนาจเลือกนายกฯ แข่งกับประชาชนเจ้าของประเทศจริงๆ

พูดก็พูดเถอะ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาที่วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละรัฐตรงๆ ก็ยังไม่มีระบบที่ให้วุฒิสภาเลือกประธานาธิบดีแข่งกับประชาชนเจ้าของประเทศ อำนาจเลือกนายกฯ และองค์กรอิสระของ ส.ว.จึงเป็นหลักฐานของระบอบอำนาจแบบเหยียบหัวประชาชนที่ไม่มีที่ไหนในโลกเลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจของวุฒิสภาแปรผกผันกับอำนาจของประชาชน เมื่อใดที่ประชาชนมีอำนาจมากจนมีรัฐธรรมนูญจากประชาชน เมื่อนั้น ส.ว.จะมีอำนาจน้อยจนอาจเหลือให้คำปรึกษาเท่านั้น

แต่เมื่อใดประชาชนมีอำนาจน้อยก็จะเกิด ส.ว.ที่มีอำนาจมากจนสามารถเลือกนายกฯ, องค์กรอิสระ และตำแหน่งสำคัญทางการเมือง

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เลย ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการรัฐประหารกำหนดให้มี ส.ว.แต่งตั้งและเลือกตั้งอย่างละครึ่ง แต่ยังไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ อีก ทำได้แต่ตรวจสอบรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเกิดจากการรัฐประหารของคุณประยุทธ์ในปี 2557 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งล้วนๆ กลับมีอำนาจเลือกนายกฯ และองค์กรอิสระในแบบที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เลย ต่อให้จะมาจากการรัฐประหารเหมือนกันก็ตาม

 

บัดนี้การเลือก ส.ว.ชุดใหม่กำลังเกิดขึ้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจำกัดให้ผู้มีสิทธิได้แก่คนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องสมัคร ส.ว.โดยจ่ายค่าสมัคร ส.ว. 2,500 บาทเท่านั้น แต่กระบวนการนี้คือบันไดอีกขั้นที่ต้องเดินไปเพื่อปลดแอกประเทศ ปลดแอกอำนาจอันอัปลักษณ์ของกลุ่มอำนาจเก่าที่แสดงผ่าน ส.ว.ชุดเดิม

เห็นได้ชัดว่า กกต.และอำนาจเก่าพยายามทำให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เงียบทุกวิถีทาง เพราะยิ่งเงียบก็ยิ่งมีคนสมัคร ส.ว.น้อยจนมีโอกาสได้ ส.ว.แบบที่ตรงความต้องการของอำนาจเก่ามากที่สุด

แต่ก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมไม่ยอมให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เงียบเชียบอย่างที่อำนาจเก่าต้องการ

ศึกชิง ส.ว.กำลังเป็นสมรภูมิใหม่ของการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ กับอำนาจเก่าที่ต้องการผูกขาดประเทศไว้เป็นของตัวเองด้วยเล่ห์กลและเล่ห์เหลี่ยมแบบที่ไม่มีผู้มีอำนาจที่ไหนในโลกกล้าทำ

ยกเว้นเผด็จการทหารในพม่าและระบอบอำนาจนิยมไม่กี่กรณี