ปิดจ๊อบ รับ น.ร. ปี ’66 ยอดทะลุเป้า ‘สวนกุหลาบ-สามเสน-หอวัง’ ครองแชมป์

ผ่านไปแล้วสำหรับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ต้องลุ้นทุกปีหนีไม่พ้นการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4

สำหรับการสอบภาพรวมยังไม่พบปัญหาทุจริตเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนหรือแป๊ะเจี๊ยะ อาจเพราะมีการวางมาตรการป้องกันที่รัดกุมมากขึ้น รวมถึงมีหน่วยงานภายนอก อย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าร่วมตรวจสอบ

โดย 10 อันดับโรงเรียนยอดนิยม ชั้น ม.1 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กท.1-2 ดังนี้

อันดับหนึ่ง ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย แผนรับ 280 สมัคร 1,546 อัตราการแข่งขัน 1 : 5.52, ร.ร.สามเสนวิทยาลัย แผนรับ 240 สมัคร 879 อัตราการแข่งขัน 1 : 3.66, ร.ร.หอวัง แผนรับ 360 สมัคร 958 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.66, ร.ร.โยธินบูรณะ แผนรับ 320 สมัคร 828 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.59, ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า แผนรับ 320 สมัคร 739 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.31, ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แผนรับ 440 สมัคร 997 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.27, ร.ร.เทพศิรินทร์ แผนรับ 320 สมัคร 673 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.10, ร.ร.โพธิสารพิทยากร แผนรับ 400 สมัคร 821 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.05, ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน แผนรับ 400 สมัคร 818 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.05 และ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แผนรับ 520 สมัคร 1,066 อัตราการแข่งขัน 1 : 2.05

ส่วน 10 อันดับโรงเรียนยอดนิยม ชั้น ม. 4 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สพม.กท.1-2 ดังนี้ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย แผนรับ 20 สมัคร 509 อัตราการแข่งขัน 1 : 25.45, ร.ร.หอวัง แผนรับ 22 สมัคร 480 อัตราการแข่งขัน 1 : 21.82, ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แผนรับ 24 สมัคร 477 อัตราการแข่งขัน 1 : 19.88, ร.ร.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ แผนรับ 20 สมัคร 281 อัตราการแข่งขัน 1 : 14.05, ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน แผนรับ 16 สมัคร 210 อัตราการแข่งขัน 1 : 13.13, ร.ร.สามเสนวิทยาลัย แผนรับ 71 สมัคร 910 อัตราการแข่งขัน 1 : 12.82, ร.ร.สารวิทยา แผนรับ 37 สมัคร 436 อัตราการแข่งขัน 1 : 11.7, ร.ร.เทพศิรินทร์ แผนรับ 30 สมัคร 335 อัตราการแข่งขัน 1 : 11.17, ร.ร.โพธิสารพิทยากร แผนรับ 55 สมัคร 480 อัตราการแข่งขัน 1 : 8.73 และ ร.ร.มัธยมวัดหนองแขม แผนรับ 32 สมัคร 261 อัตราการแข่งขัน 1 : 8.16

ประกาศผลสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ใครที่พลาดหวังยังไม่มีที่เรียนสามารถประสานไปได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อจัดหาที่เรียนต่อไป สพฐ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ยืนยันว่าเด็กทุกคนมีที่เรียนแน่นอน

 

สําหรับปีนี้มีตัวเลขผู้สมัครและผู้เข้าสอบที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดย ม.1 แผนรับ 636,755 ราย สมัคร 506,131 ราย ส่วน ม.4 แผนรับ 410,460 ราย สมัคร 396,764 ราย ลดลงจากปีการศึกษา 2565 ซึ่ง ม.1 มีแผนรับอยู่ที่ 675,832 ราย สมัคร 522,173 ราย ม.4 แผนรับ 401,461 ราย สมัคร 389,792 ราย

โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายเหตุผลว่า สาเหตุที่ตัวเลขผู้สมัครค่อนข้างสูง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สพฐ.เปิดให้มีการรับสมัครผ่านออนไลน์ โดยไม่มีการจำกัดสิทธิ์ ทำให้เด็กเลือกสมัครได้หลายที่ แต่ให้จัดสอบในวันและเวลาเดียวกัน เพื่อให้นักเรียนเลือกสอบได้ที่เดียว ไม่ไปกันสิทธิ์ผู้อื่น

“การที่จำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดจากเด็กมีการสมัครซ้ำซ้อน รวมถึงยังมีเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายคนต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ขาดสภาพคล่อง ทำให้เด็กจากโรงเรียนเอกชนจำนวนมากย้ายมาเรียนในโรงเรียนรัฐ ทำให้ตัวเลขเด็กที่สมัครเรียนในโรงเรียน สพฐ.เพิ่มขึ้น”

“ส่วนชั้น ม.4 มีแผนการรับนักเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายพาน้องกลับมาเรียน สำหรับนักเรียนที่มีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในโรงเรียนใกล้บ้าน ขณะเดียวกัน สพฐ.ก็ยังดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมให้เด็กไปเรียนสายอาชีพตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนด้วย” นายอัมพรกล่าว

 

ขณะที่ ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เห็นต่างกันว่า ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะยังอยู่ในช่วงการรับนักเรียน แต่จากการสอบถามเบื้องต้น พบว่ามีนักเรียนสังกัด สพฐ.บางส่วน ย้ายมาเรียนโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกัน อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ผู้ปกครองมีสถานะทางการเงินดีขึ้น จึงส่งลูกกลับเข้ามาเรียนโรงเรียนเอกชน โดยพบว่าหลายโรงเรียนรับเด็กได้มากขึ้น ขยายห้องเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะชั้นอนุบาล และชั้นประถม ส่วนระดับมัธยม ขยายห้องเรียนน้อย จำนวนเด็กคงที่ เพราะอัตราการเกิดลดลง

“เท่าที่ดูสถานการณ์ของโรงเรียนเอกชน ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะผู้ปกครองมีกำลังจับจ่ายใช้สอย บางโรงเรียนรับเด็กเต็มแล้ว และไม่รับเพิ่ม ภาพรวมยังไม่พบปัญหาการรับนักเรียน คงต้องรอให้โรงเรียนแต่ละแห่งสรุปข้อมูลการรับเด็กเพื่อดูภาพรวมทั้งหมดร่วมกันอีกครั้ง ส่วนตัวคิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะทางโรงเรียนเอกชนทำงานประสานเรื่องการรับนักเรียนกับ สพฐ.อยู่ตลอดเวลา” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

ส่วนปัญหาการขาดสภาพคล่องที่โรงเรียนเอกชนประสบอยู่นั้น คิดว่าแต่ละแห่งสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ทุกโรงเรียนอยู่ในช่วงการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องใดเป็นพิเศษนั้น ตอนนี้ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ คงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลใหม่

“โรงเรียนเอกชนอยากได้รัฐบาลที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ส่งคนที่มีความรู้ และเข้าใจการศึกษา มาเป็นรัฐมนตรี และอยากให้ผลักดันเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม โดยเฉพาะคุณภาพเด็ก ที่ควรจะได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณ และการดูแลที่ทั่วถึง เท่าเทียมกับเด็กที่เรียนโรงเรียนรัฐบาล ส่วนคุณภาพครูนั้น โรงเรียนเอกชนเองให้การสนับสนุน แต่หากเป็นไปได้ ก็อยากให้ครูโรงเรียนเอกชนได้รับการดูแลใกล้เคียงกับครูโรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการอบรมความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการสอน เป็นต้น” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังต้องจับตาว่าหลังจากนี้จะมีเรื่องร้องเรียน บิ๊กโรงเรียนเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกเข้าเรียน ให้ต้องวุ่นกันอีกหรือไม่ •

 

| การศึกษา