คลอดกฎกระทรวง แก้วัยรุ่นตั้งครรภ์ ช่วยสกัด ‘แม่วัยใส’ ใน ร.ร.-มหา’ลัย!!

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษา และการดําเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกกฎกระทรวงไว้ ดังนี้

ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกําหนดประเภทของสถานศึกษา และการดําเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 7 สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียน หรือนักศึกษา ซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียน หรือนักศึกษานั้น ออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ตามความประสงค์ของนักเรียน หรือนักศึกษานั้น”

ท้ายประกาศยังระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ว่า ปัจจุบันมีนักเรียน หรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดําเนินการของสถานศึกษา เพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียน หรือนักศึกษา ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษา ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม และต่อเนื่อง ตามความประสงค์ของนักเรียน หรือนักศึกษานั้น

ซึ่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องดีที่ ศธ.ออกกฎกระทรวงให้สถานศึกษาทุกระดับ ที่มีเด็กตั้งครรภ์ ต้องไม่ให้เด็กออกจากสถานศึกษา ต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม และต่อเนื่อง แต่ยังมีบุคลากรทางการศึกษา รวมถึง ผู้ปกครองอีกจำนวนมาก เข้าใจผิดว่าการให้เด็กที่ตั้งครรภ์เรียนร่วมกับเด็กทั่วไป เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

แต่ผลการศึกษาในต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่าเด็กคนอื่นๆ จะเกิดความตื่นตัวมากขึ้นในการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันจะรู้สึกเห็นใจเพื่อนที่กำลังท้อง และช่วยเหลือเป็นอย่างดีในขณะที่เรียนร่วมกัน

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของครูผู้สอน เป็นเรื่องสำคัญมาก ครูต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ต้องไม่ปฏิบัติเรื่องใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์!!

 

ตัวเลขของนักเรียน หรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือที่เรียกกันว่า “แม่วัยใส” จากการรวบรวมข้อมูลของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ปี 2553 มีแม่วัยใสว่า 1.2 แสนคน ในจำนวนนี้อยู่ในระดับประถมถึงมัธยมต้น อายุ 10-14 ปี มากกว่า 3.7 พันคน และในปี 2563 มีแม่วัยใสที่อายุ 10-14 ปี ประมาณ 5.6 หมื่นคน ในจำนวนนี้ยังคงมีแม่วัยใสที่อายุ 10-14 ปี อยู่จำนวน 1,783 คน

ศ.ดร.สมพงษ์แจกแจงว่า ข้อมูลตัวเลขแม่วัยใสที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน น่าตกใจอย่างมาก แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ภาพรวมปัญหาแม่วัยใสยังมีอยู่ ซึ่งเป็นประเด็นสังคมที่ส่งต่อปัญหาครอบครัวยากจน และท้องไม่พร้อมรุ่นสู่รุ่น เพราะที่ผ่านมา แม่วัยใสยังถูกผลักออกจากระบบการศึกษาแบบเนียนๆ โดยครูและผู้บริหาร ที่บอกว่านักเรียนตั้งครรภ์ ดูไม่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มอื่น ให้ลาออกไปเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

ปัจจุบันยังพบว่าเด็กที่ตั้งครรภ์และเข้าไปอยู่ในโรงเรียน จะพบปัญหาต่างๆ ทั้งการบูลลี่ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งระบาดและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับหลักสูตรการเรียนรู้ที่ไม่หลากหลาย ไม่ตอบโจทย์ ทำให้เด็กค่อยๆ ทยอยออกจากโรงเรียน

จากข้อมูลยังพบสาเหตุที่เด็กออกจากระบบการศึกษา 50% มาจากปัญหาครอบครัวที่ตกงาน ยากจน และอีก 50% มาจากปัญหาในโรงเรียน ที่ผลักดันให้เด็กที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมออกจากระบบการศึกษา ฉะนั้น ครูจำเป็นต้องเปลี่ยน “ทัศนคติ” ที่มีต่อนักเรียนตั้งครรภ์

ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ฟันธงว่า “ผู้บริหาร” โรงเรียนมีส่วนสำคัญในการผลักเด็กที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรมออกจากโรงเรียน เพราะบางคนมีทัศนคติรักป้ายมากกว่ารักโรงเรียน ห่วงชื่อเสียงโรงเรียนมากกว่านักเรียน ดังนั้น นอกจากจะปรับทัศนคติครูแล้ว ควรจะปรับทัศนคติผู้บริหารโรงเรียนด้วย

เพราะแม้กฎกระทรวงที่ออกมาจะเป็นระเบียบที่ดี แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนที่ตั้งครรภ์อย่างไร โดยให้เด็กยังมีที่พึ่งทางด้านจิตใจ และไม่ถูกล้อเลียน เพราะระบบการเรียนรู้ของไทย แทบจะไม่มีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแม่วัยใสแม้แต่น้อย ไม่สอนเด็กให้เข้าใจเรื่องเพศ และเรื่องต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายกับเด็ก ทำให้เด็กไปเรียนรู้จากที่อื่น

ฉะนั้น ศ.ดร.สมพงษ์มั่นใจว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ จะไม่สามารถหยุดหยั้งปัญหาคุณแม่วัยใสที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กประถมถึงอุดมศึกษาได้ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี!!

 

ขณะที่ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) มองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่ช่วยเด็กแก้ปัญหา ใช้ระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อให้จบ ไม่ได้ไล่เด็กออก เพราะจะเป็นการซ้ำเติม หลักการสำคัญ ต้องทำความเข้าใจกับสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพราะเด็กบางรายตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิด ไม่ใช่เพราะความคึกคะนอง

“รากฐานของปัญหาจริงๆ ต้องให้ความรู้ ทั้งเรื่องของความเหมาะสม กฎหมาย กรณีถูกล่วงละเมิด ที่สำคัญต้องนำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์มาคุยกันบนโต๊ะให้ได้ สุดท้ายต้องให้เด็กรู้จักวิธีป้องกัน และถ้าเลยเถิดจนตั้งท้อง โรงเรียนต้องนำเข้าสู่ระบบดูแลเด็ก ปรับวิธีสอนให้เหมาะสม เช่น เรียนออนไลน์ เป็นต้น แต่คนที่จะมีปัญหาคือ คนรุ่นเก่า ที่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” ดร.วิสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ พ.ศ.2559 ได้ออกแนวปฏิบัติในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.โดยมีหลักการว่า หากพบนักเรียนตั้งครรภ์ จะไม่ให้ออกจากสถานศึกษา ยกเว้นนักเรียนต้องการย้าย โดยโรงเรียนจะต้องจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียน หรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมและต่อเนื่องด้วย

ดังนั้น สพฐ.เชื่อมั่นว่า การออกกฎกระทรวงดังกล่าว จะทำให้แนวการปฏิบัติต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น

 

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มองว่ากฎกระทรวงที่ออกมาไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่ปรับแก้ เพิ่มเติมรายละเอียด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และชัดเจนขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะก่อนหน้านั้น จะมีระเบียบห้ามนักเรียน นักศึกษา ที่มีครอบครัว หรือมีบุตร เข้าเรียนในสถานศึกษา แต่เมื่อปัญหาแม่วัยใสรุนแรงขึ้น การผลักเด็กออกนอกระบบการศึกษา จึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจะต้องเอาประโยชน์ของเด็กที่ตั้งครรภ์ และเด็กที่กำลังจะเกิดมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งสถานการณ์ในเวลานี้ ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่สังคมไม่ยอมรับ กลายเป็นสภาวะปกติที่สังคมพอจะเข้าใจ รับได้ และเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหามากขึ้น

แต่นอกจากการคลอด “กฎกระทรวง” แล้ว…

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เกี่ยวข้องจะต้องให้ความรู้กับนักเรียน และนักศึกษา ให้รู้จักป้องกัน โดยให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย…

เพื่อช่วยลดจำนวน “แม่วัยใส” ในสังคมไทย!! •

 

| การศึกษา