รู้จักอีกมุม “สุวินัย ภรณวลัย” อดีตนักทฤษฎีสังคมนิยมตัวจี๊ด ก่อนมาเอาดีด้านต่อชะตา

ชื่อของ สุวินัย ภรณวลัย กลับมาโด่งดังอีกครั้งในวันนี้ หลังตำรวจไซเบอร์เข้าไปเชิญตัวจากกรณีการโพสต์ Facebook เรี่ยไรเงินบริจาค อ้างทำพิธีต่อชะตาแอบอ้างเบื้องสูง พร้อมเปิดเผยยอดเงินบริจาคเกือบล้านบาท

สุวินัยระบุว่า ตัวเองไร้เจตนาไม่ดี เพียงเพราะมองว่าหากวิทยาศาสตร์ช่วยไม่ได้ก็ต้องใช้พิธีกรรมเข้าช่วย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า จากการสอบปากคำพบว่าเจ้าตัวมีสติเต็มร้อย และไม่พบว่าเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา ม.112 แต่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามกฎหมายอาญา ม.343 และ ม.344,นำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ม.14(1) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และความผิดตาม พ.ร.บ.เรี่ยไร มีโทษปรับ 200 บาท

เคยต่อชะตาให้ประยุทธ์

สำหรับพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก สุวินัย ภรณวลัย เคยทำเช่นนี้จนเป็นข่าวดังเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในวันที่ 22 ก.พ. เขาเคยจัดทำพิธีใหญ่ เรียกว่าพิธียัญดาวจักรวาล ดึงพลังจิตจากเบื้องบน ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พิธีจัดขึ้น ณ อาศรมเทพมังกร จังหวัดชัยภูมิ

“ผมนั่งอธิษฐานจิตบนยัญดาวจักรวาล (โดยแปลว่า การบูชาดาวจักรวาล) เหนือศีรษะมีกระเช้าที่ใส่บาตรลอยอยู่กลางหาว ข้างในบาตรมีดอกกล้วย(ปลีล้วย)ห้ากลีบที่ข้างในผมโรยข้าวสารใส่ไว้ ถ้าผมสามารถดึงพลังศักด์สิทธิ์จากเบื้องบนลงมาในบาตรสำเร็จโดยมาเป็นแก้วบารมีและธาตุกายสิทธิ์ได้ สิ่งที่ผมอธิษฐานจิตในขณะนั้นขณะนั่งอยู่ใจกลางยันต์ดาวจักรวาลย่อมปรากฏเป็นจริง ในที่สุดผมก็สามารถดึงพลังศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบนได้สำเร็จในคืนวันศุก์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2019 และคำอธิษฐานข้อแรกของผมในขณะทำพิธีเพื่อบ้านเมืองครั้งนี้คือ ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกฯ ต่อเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง” สุวินัยกล่าว

สำหรับ สุวินัยในวัย 66 ปี เป็นประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ที่มีบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดดเด่นจากหนังสือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณชินวัตร เช่นหนังสือชื่อ “แกะรอยทักษิโณมิกส์”

บทบาททางการเมือง เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลทักษิณ เข้าร่วมการขับไล่ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สนับสนุนกลุ่มกปปส.ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความเห็นปกป้องและเห็นด้วยกับการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจุดยืนชัดเจนในการวิพากษ์วิจารณ์ม็อบราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ถือกำเนิดทางความคิดด้วยสังคมนิยม

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ความคิด ที่มาที่ไป ของสุวินัย มีช่วงจังหวะหนึ่งที่น่าสนใจ สุวินัย เคยมีบทบาทเด่นในการดีเบต ประเด็นทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองช่วงทศวรรษ 2520 หรือหลังเหตุการณ์ป่าแตก

ในหนังสือประวัติศาสตร์ความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย เขียนโดย นภาพร อาติวนิชยพงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 ซึ่งส่วนหนึ่งแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ ที่ทำกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 เล่าว่า สุวินัย ก็ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ที่มีส่วนในการพัฒนาความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519

หลังบรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรประมาณปลายปี 2521 มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นักเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาลลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และสยามรัฐรายวันฉบับวันอาทิตย์อยู่เสมอ

ต่อมาไม่นานกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อเลี่ยงการเข้าใจผิดว่าเป็นความเห็นของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา กระทั่งปลายปี 2522 ชื่อกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองเริ่มเป็นที่รู้จักในวงวิชาการไทย

งานเขียนส่วนใหญ่เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ พัฒนาการเศรษฐกิจสังคมนิยมเปรียบเทียบ การถกเถียงเรื่องความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ไทย การวิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักของสำนักนีโอคลาสสิค จากนั้นเริ่มประสานเข้ากับกระแสความสนใจของปัญญาชนฝ่ายซ้าย เริ่มจากการทำวารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อปี 2524 ผลิตวิวาทะขึ้นหลายเรื่อง เช่นการถกเถียงเรื่องปัญหาการศึกษาวิธีการผลิตของไทย ทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา

สุวินัย ภรณวลัย ก็ถือกำเนิดทางวิชาการในช่วงนั้น โดยเขียนบทความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทย งานเขียนเชิงทฤษฎีสังคมนิยม เช่นงานเขียนเรื่อง “สังคมนิยมในแง่ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ที่ตีพิมพ์กับโครงการหนังสือสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2524

หนังสือเล่มนี้ของสุวินัย สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการปัญญาชนไทยในช่วงนั้น ที่กำลังสับสนเกี่ยวกับความเข้าใจลัทธิมาร์กซิสต์ และระบอบสังคมนิยม โดยนับกันว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมนิยมเล่มแรกของนักวิชาการไทย ที่ตีพิมพ์ออกมาในยุคหลัง 6 ตุลา

ปกป้องลัทธิมาร์กซ์หลังป่าแตก

นภาพร ยกว่า สุวินัยเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นเวทีปกป้องลัทธิมาร์กซ์ จากงานเขียนในช่วงปลายปี 2524 จนถึง 2526 ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ร่วมกับคนอื่นเช่น เกษียร เตชะพีระ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และพรชัย คุ้มทวีพร เป็นต้น

เช่นกรณี ปรีดี บุญซื่อ เขียนหนังสือท้าทายโดยตรงต่อลัทธิมาร์ก จากงานเขียนเรื่อง “ความอับจนของลัทธิมาร์กซ์” ในปี 2524 ก็ถูกตอบโต้โดยทันควัน โดยสุวินัย ที่เขียนบทความเรื่อง “ความอับจนของลัทธิเหมาหรือลัทธิมาร์กซ์ : บทวิเคราะห์โดยสังเขปของการปฏิวัติจีน ลัทธิเหมา และเศรษฐกิจจีนหลังการปฏิวัติจนถึงปัจจุบัน” พิมพ์ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ในเดือนธันวาคม 2524

ในช่วงปี 2525 ถึง 2526 เกิดกระแสการต่อสู้ของสหภาพแรงงานเสรีโซริดาริตี้ในประเทศโปแลนด์ สุวินัยก็สนใจการต่อสู้ของกรรมกร และวิกฤตการณ์สังคมนิยมในโปแลนด์ โดยได้แปลและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานดังกล่าว 2 เล่ม คือ มรดกทางความคิดของสหภาพแรงงานโซริดาริตี้ และพลวัตรโปแลนด์ ในปี 2526

นภาพรเขียนเล่าว่า ในปี 2527 สุวินัย มีบทบาทตอบโต้อย่างแข็งขัน ต่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในงานเสวนาที่จัดโดยกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปี 2527 หัวข้อวิกฤตการณ์ทุนนิยมโลกกับสังคมไทย โดยสมศักดิ์ ตั้งคำถามต่อกรอบความคิดพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ทั้งหมดในการอธิบายปรากฏการณ์ในโลกทุนนิยม สมศักดิ์เห็นว่านักวิชาการมาร์กซิสต์บางส่วนในโลกตะวันตก มองเห็นแล้วว่าทฤษฎีนี้อธิบายโลกทุนนิยมไม่ได้จริง

โดยสุวินัย อยู่ในฝั่งตอบโต้สมศักดิ์ ที่ยังเชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของลัทธิมาร์กซ์ที่แท้ ในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่สามารถอธิบายโลก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกที่ดีได้

นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2527

โบกมือลาสังคมนิยม

จากนั้นในปี 2529 นภาพรเขียนว่า ปีนั้นเองเป็นปีที่สุวินัย ส่งสัญญาณอำลาลัทธิมาร์กซ์ โดยเขียนบทความชื่อ “ความคิดที่กำลังข้ามพ้นความคิดสังคมนิยม”

ในบทความนั้น สุวินัยยอมรับว่าการอับตันของสังคมนิยมและลัทธิมาร์กซ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น คือการที่นักวิชาการได้เผชิญกับประสบการณ์และข้อเท็จจริงใหม่ที่ทำให้ต้องทบทวนระบบความคิดขั้นพื้นฐานที่นำไปสู่การแสวงหากรอบความคิดหรือพาราไดม์ใหม่ ซึ่งสุวินัยเห็นว่าจะต้องมีการนำเสนอทฤษฎีที่อธิบายความเป็นจริงได้เหมาะสมกว่าเดิม

ครั้งนั้นสุวินัยเห็นว่าการอธิบายสังคมด้วย “ทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” ยึดติดกับกรอบความคิดแบบโครงสร้างเกินไป สุวินัยหันไปให้ความสำคัญกับความคิด “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” มากกว่า

หลังจากปี 2529 เป็นต้นมา บรรยากาศการถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีมาร์กซิสต์และการวิเคราะห์สังคมไทยก็ไม่ปรากฏขึ้นอีกเลยนานกว่าทศวรรษ นับเป็นการอำลาลัทธิมาร์กซ์ไปอย่างเงียบๆของสุวินัย

ก่อนภายหลัง สุวินัยจะหันมาศึกษาเรื่องจิตใจ ความเชื่อ จิตวิญญาณตะวันออก ก่อนจะมีข่าวดังจากพิธีกรรมบางอย่าง กระทั่งมาในเรื่องพิธีต่อชะตานายกรัฐมนตรีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และ ล่าสุดคือ เรี่ยไรเงินบริจาค โดยอ้างทำพิธีต่อชะตาแอบอ้างเบื้องสูงจนถูกตำรวจไซเบอร์บุกถึงบ้าน