หรือ ‘ความรุ่งโรจน์’ ยังจะหายไป

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

มีความพยายามจะบอกกล่าว หรือชี้ให้เห็นมาตลอดว่า “รัฐประหาร 2549” แล้วต่อเนื่องอีกรอบใน “2557” นำประเทศถอยหลังจากการพัฒนาในทุกด้าน ส่งผลให้ชีวิตประชาชนเสื่อมทรุดจากโอกาสที่จะเจริญรุ่งเรือง

แต่ทั้งที่ความเป็นไปของประเทศแทบทุกมิติสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงนั้น เช่น ในทางการเมืองอำนาจประชาชนถูกหมิ่นแคลนและครอบงำจากกลไกสืบทอดของอภิสิทธิ์ชน ทางเศรษกิจความเหลื่อมล้ำในโอกาสทำมาหากินขยายกว้างขึ้น ทางสังคมคนส่วนใหญ่ต้องรับภาระมลพิษและความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตแบบเสพสุขอย่างไร้ผิดชอบของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจมากในการกำหนดชะตากรรมของสังคม

กลับเป็นว่าประชาชนไม่มีพลังพอที่จะปรับจูน เกิดสภาวะความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันให้เกิดขึ้นได้ กระทั่งที่สุดแล้วกลายสู่การยอมรับชะตากรรม

คนได้ประโยชน์จากอำนาจและความเหลื่อมล้ำ ไม่รู้สึกถึงความเดือดร้อน ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เคยชินจำทำให้เห็นว่าความไม่เป็นธรรมนั้นไม่มีอยู่จริง

แต่ก็นั่นแหละ ยังมีผู้รู้อีกไม่น้อยที่ยังพยายามชี้ให้เห็นต่อไปว่า ความเลวร้ายจากรัฐประหารก่อกรรมทำเข็ญให้ประเทศอย่างไร

 

อย่างล่าสุด ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ชื่อดัง พูดในวาระที่ตลาดหุ้นไทยจะมีมีอายุครบ 50 ปีในปีหน้า 2568 โดยอธิบายภาพทีละ 1 ทศวรรษ หรือ 10 ปีว่าแต่ละช่วงเป็นอย่างไร โดยชี้ให้เห็นทศวรรษสุดท้ายคือ 2558-ปัจจุบัน 9 ปีที่ผ่านมาว่า

ระบบการปกครองก็ “ล้าหลัง” เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่เป็นเพื่อนบ้านและประเทศที่มีระดับความมั่งคั่งใกล้เคียงกันอานิสงส์จากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงมากเหลือเพียงเฉลี่ยปีละประมาณ 1.92% ในช่วง 9 ปี ดัชนีตลาดหุ้นเองที่เริ่มต้นทศวรรษที่มีค่า PE ประมาณ 20.9 เท่า ก็ไม่เอื้ออำนวยซึ่งทำให้หุ้นในระยะเวลา 9 ปี ไม่ได้ไปไหน และลดลงเหลือ 1,359.9 จุด ในวันที่ 26 เมษายน 2567 หรือลดลง 10.9% ในเวลาประมาณ 9 ปี หรือลดลงปีละ 1.28% โดยเฉลี่ย

เรียกได้ว่าทศวรรษที่ 5 ของตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” ถ้าปีหน้าตลาดหุ้นก็ยังคงเป็นแบบเดิมแบบที่เป็นมาแล้ว 9 ปี”

นั่นหมายถึงสมควรที่คนไทยจะเห็นร่วมกันว่า “Lost Decade หรือ ทศวรรษที่หายไป” เป็นสภาวะที่น่าเศร้าที่สุดของประเทศ และทุกฝ่ายควรจะร่วมสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันว่าจะต้องไม่ยอมให้กลไกสืบทอดอำนาจรัฐประหารคงอยู่อีก

แต่กลับดูเหมือนผู้คนประเทศนี้จะรับรู้ว่าไม่มีความสามารถจะสร้างความเชื่อที่ดีกว่าขึ้นมาได้

 

“นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “หยุดรัฐประหาร” ซึ่งเป็นความพยายามของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม” เพื่อเป้าหมายนี้

ปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 51.83 ไม่เชื่อเลยว่า พ.ร.บ.นี้จะป้องกันรัฐประหารได้, ร้อยละ 25.73 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 12.52 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 6.72 เท่านั้นที่เชื่อมาก, ร้อยละ 3.20 เฉยๆ

ที่น่าสนใจคือเมื่อถามว่า คิดว่าการทำรัฐประหารปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศหรือไม่ มีมากถึงร้อยละ 61.83 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 20.38 ไม่ค่อยเชื่อ ขณะที่ร้อยละ 8.24 เท่านั้นที่ค่อนข้างเชื่อ และร้อยละ 6.11 ที่เชื่อมาก ร้อยละ 3.44 เฉยๆ

สะท้อนว่าแม้จะรับรู้ว่ารัฐประหารสร้างความเลวร้าย นำประเทศสู่ความเสื่อมทรุดแค่ไหนก็ตาม แต่รับรู้ด้วยเช่นกันว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้ประชาชนจะต่อสู้โดยแลกกับเลือดเนื้อ และชีวิตไปมากมายและหลายครั้วงแค่ไหนก็ตาม ที่สุดแล้วพลังอำนาจของประชาชนไม่เพียงพอที่จะนำพาประเทศให้พ้นจากเงื่อนไขแห่งความเลวร้ายนี้

คนส่วนใหญ่ยังจมอยู่กับความเชื่อว่า เราจะต้องอยู่กับโครงสร้างอำนาจของประเทศเช่นนี้ต่อไป