ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
“ตะวันขึ้นแล้วมุดดิน” เป็นที่เรียบร้อย “วุฒิสภา” หรือ “ส.ว.ชุด 250 คน” ที่มาจากช่องทางพิเศษ “บทเฉพาะกาล” ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ภายใต้ร่มเงา โยมอุปถัมภ์เกื้อกูลของ “พี่น้อง 3 ป.” ครบเทอม 5 ปีเต็ม สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม
“ส.ว.ชุดใหม่” 200 คน จะมาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันตามมาตรา 107 มาจากผู้สมัคร 20 กลุ่มสาขาอาชีพ “เลือกกันเอง” เป็นไปตาม พ.ร.ป.วุฒิสภา มาตรา 10 และมาตรา 11
ซึ่งไทม์ไลน์ ส.ว.ชุดใหม่คลอดออกมาแล้ว วันที่ 11 พฤษภาคม มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 13 พฤษภาคม “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ประกาศกำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือกตั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ถัดมาอีกวัน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับอำเภอประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร วันที่ 20-24 พฤษภาคม วันรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 29 พฤษภาคม วันสุดท้ายประกาศบัญรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 9 มิถุนายน วันเลือกสมาชิกวุฒิสภา “ระดับอำเภอ” วันที่ 16 มิถุนายน วันเลือกสมาชิกวุฒิสภา “ระดับจังหวัด” วันที่ 26 มิถุนายน วันเลือกสมาชิกวุฒิสภา “ระดับประเทศ” และวันที่ 2 กรกฎาคม ประกาศสมาชิกวุฒิสภา “ระดับประเทศ”
“ขั้นตอนแรก” ระดับอำเภอ เลือกกันเองภายในกลุ่มที่สมัคร เพื่อให้ได้ 5 อันดับแรกของกลุ่มนั้นๆ ซึ่งผู้สมัครจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ใดได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก “ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม”
ประเทศไทยมี 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งหมด 928 อำเภอ หัสเดิมคาดหมายกันว่า ตลาดเลือกตั้ง ส.ว. 200 คนจะคึกคัก สมัครกลุ่มละไม่น้อยกว่า 20 คน ประเมินสถานการณ์กันว่า จาก 20 กลุ่มอาชีพ รวบยอดผู้สมัครไม่น้อยกว่า 400 คน ทั่วประเทศ สนามประลองยุทธ์จะมีผู้สมัครเหยียบหลัก 200,000 คนเป็นอย่างน้อย รวมยอดทั้ง 928 อำเภอ
แต่ปรากฏว่าผิดคาดมาก หลังจาก กกต.ป่าวประกาศ มีผู้แสดงตัวตนขอรับเอกสารสมัครสมาชิกวุฒิสภากันบางตามาก ที่นายทะเบียนอำเภอ รวมถึงนายทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มียอดสะสมสี่ซ้าห้าวันแรก พบว่ามีผู้มารับเอกสารสมัคร ส.ว.ทั่วประเทศแค่ 20,000 รายเศษๆ เท่านั้น
จังหวัดที่ยอดผู้สมัครระดับหลักพันมีเพียงหนึ่งเดียวคือ สนาม กทม. ตามด้วยเชียงใหม่ 627 คน น้อยที่สุดคือ บึงกาฬ แค่ 20 คน แม่ฮ่องสอน 30 คน พังงา 35 คนเท่านั้น
ช่วงที่ชุลมุนชุลเกอยู่กับการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่ ให้ กกต.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ระหว่างนี้ ส.ว.ลากตั้ง ชุด 250 คนที่มาจาก “บทเฉพาะกาล” ยังไม่สิ้นสภาพนักศึกษาเสียเลยทีเดียว ยังทำหน้าที่ “รักษาการ” หลับๆ ตื่นๆ ได้รับเงินเดือนต่ออีกคนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
ส.ว.ชุดที่กำลังจะกลายเป็น “นมบูด” มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มา 3 ช่องทาง “หนึ่ง” โดยตำแหน่ง 6 คน จากผู้นำ 4 เหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ-ตำรวจ-ผบ.สูงสุด-ปลัดกระทรวงกลาโหม “สอง” เลือกกันเองทั่วประเทศ คัดกรองเหลือ 200 คน ส่งรายชื่อให้ คสช.ตัดตัว เหลือ 50 คน “สาม” คสช.คัดเลือกเอง 194 คน เป็น ส.ว.ชุดพิเศษ มาจากกระบวนการคัดเลือก หรือเคาะขั้นสุดท้ายของ คสช.เอง ทั้ง 250 คน
นอกจากเงินเดือนเกือบแสนสองหมื่นบาทแล้ว “ส.ว.ลากตั้ง” ยังมีเรือพ่วง ประกอบด้วย “ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยประจำการ” โดย “ผู้เชี่ยวชาญ” 1คน ค่าตอบแทน 24,000 บาท “ผู้ชำนาญการประจำตัว” 2 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาท “ผู้ช่วยประจำการ” 5 ตำแหน่ง ค่าตอบแทน 15,000 บาท รวมเวลา 5 ปีที่ ส.ว.ชุดเก่าที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ได้รับเงินค่าตอบแทนครบวงจรเสร็จสรรพกว่า 4,000 ล้านบาท มากไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
ทีนี้ขอตามไปดูห้องเครื่องของ “คสช.” หรือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หลับตานึกภาพข่มจิตขืนใจท่าไหนๆ ก็เห็นหน้าของ “พี่น้อง 3 ป.” เป็นผู้ทรงพลัง และขมังเวท มากกว่าใครเพื่อน ประกอบด้วย “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นน้องเล็ก แต่รั้งจ่าฝูง นั่งหัวหน้า คสช. ตามด้วย “บิ๊กป้อม-พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในฐานะพี่ใหญ่ และ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” น้องรอง
หลังคายอำนาจเหลือครึ่งเดียว ให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 “พี่น้อง 3 ป.” อำนาจยังเหลือเฟือ ทุกอย่างยังไหลมาเทมา “น้องตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี “พี่ใหญ่” เป็นรองนายกฯ “น้องรองผูกขาดเก้าอี้ มท.1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ตัดฉากแบบฉับไวมาศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 การเมืองเป็นสิ่งไม่แน่นอน “3 ป.” แยกกันเดิน “บิ๊กป้อม” เฝ้ายามอยู่พรรคพลังประชารัฐ “บิ๊กตู่” ฉีกไปตั้งพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” ประกาศล้างมือในอ่างทองคำ หลังเลือกตั้ง พรรคลุงตู่ กับลุงป้อม พ่ายป่าราบ แบบยับเยิน “พล.อ.ประยุทธ์” รักษาการนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2566 เริ่มถอยห่างออกจากเวทีการเมือง ก่อนประกาศอำลาวงการ และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในเวลาต่อมา ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” พ้นสมรภูมิทางการเมืองแล้ว ฉลาดพอ และค้นพบหนทางแห่งการเอาตัวรอด “เสือไม่กัด”
ผิดกับ “พี่ใหญ่-ประวิตร” ช่วงมีอำนาจเสมือนต้นไม้ใหญ่ ใบดกนกเกาะ หลังเลือกตั้งใหญ่ 66 พปชร.ได้ ส.ส.ต่ำกว่ามาตรฐาน น้อยกว่าเป้ามาก เงินสนับสนุนที่ใครต่อใครรับปากว่าจะช่วยเหลือ กลับลำถอนตัวกลางอากาศหลายราย ว่ากันว่า “ลุงป้อม” จำใจต้องทุบกระปุก เอาเงินก้นหีบมาทุ่มเทให้กับการเลือกตั้ง แบบล้างสต๊อก บางส่วนถูกลูกพรรค “อม” ช่วยเหลือไปแล้ว ไม่ยอมนำไปใช้จ่ายหาเสียง สอบตกกันกราวรูด
เจ็บอกยิ่งกว่าตกต้นตาล อยู่ดีไม่ว่าดี ลูกน้องก้นกุฏิเก่า อยู่ไม่สุข ไปกระชากลากถู “ลุงป้อม” มาติดร่างแห ปมนำ ป.ป.ช.เก่าไปฝากเนื้อฝากตัว และได้ดิบได้ดี ประหนึ่งช่วยผลักดันเข้าสู่ตำแหน่งหลักได้สำเร็จ
ขี้เถ้าและเขม่าปมนาฬิกายืมเพื่อน ที่คิดว่าจบไปแล้ว ถูกปลุกผีขึ้นมาหลอกหลอน “ลุงป้อม” ปวดตับอีกครั้ง
สรุปพี่น้อง 3 ป. “ลุงป้อม” ยังติดอยู่ในพงหนามคนเดียวว่างั้นเถอะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022