การเยือน “โอไอซี” ที่ชายแดนใต้ กับข้อมูลในพื้นที่คนละชุด

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากข่าวที่คณะ OIC เยือนปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคม 2561 หลังจากก่อนหน้านี้ก็เคยมาแล้วหลายครั้ง

เพื่อรับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ในพื้นที่

และรับทราบความคืบหน้านโยบายรัฐต่อการแก้ปัญหาเเละพัฒนาปตานี/ชายแดนภาคใต้ภายใต้การจัดกำหนดการ คน และพื้นที่ที่จะต้อนรับคณะของ OIC ซึ่งรัฐมองว่าสามารถสร้างเครดิตให้กับรัฐและมีแนวโน้มดิสเครดิตฝ่ายผู้เห็นต่างซึ่งเป็นการช่วงชิงการนำในเวทีนานาชาติโดยเฉพาะโลกมุสลิมอันนับว่ารัฐมีความชาญฉลาดมากระดับหนึ่งในการดำเนินนโยบาย

แต่ข้อมูลที่ภาครัฐให้ข้อมูลกับ OIC นั้นเป็นเรื่องด้านดีๆ อย่างเดียว

และดูเหมือนว่ายังไม่ให้รับทราบข้อกังวลต่างๆ ของภาคประชาสังคมและ Human Rights Watch ต่อสถานการณ์ในพื้นที่

OIC คือใคร มีความสำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์ชายแดนใต้

จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศไทยได้กล่าวถึงองค์กรนี้ว่า เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 1971 ตามมติที่ประชุมสุดยอดครั้งแรกของประเทศมุสลิม 35 ประเทศ ที่กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโกเมื่อ 22-25 กันยายน 1969 โดยใช้ชื่อเดิมว่าองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference) ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อ Organisation of Islamic Cooperation ในปัจจุบันตามมติในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 38 ที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน เมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เพื่อแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นของประชาชาติมุสลิม (Islamic Ummah) ในยุคสมัยใหม่

การก่อตั้ง OIC มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์การความร่วมมือที่เป็นปึกแผ่นของประชาชาติมุสลิม (Islamic Ummah) ที่ประชาชนสามารถยืนหยัดได้อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

สืบเนื่องจากความเปราะบางทางการเมืองและการระหว่างประเทศในประชาชาติมุสลิม อาทิ สงคราม ข้อพิพาทเรื่องดินแดน และเหตุวินาศกรรมมัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) ซึ่งเป็นสถานที่มีความสำคัญลำดับ 3 ของโลกมุสลิม

OIC เป็นองค์การที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม ประกอบด้วยสมาชิก 57 รัฐ

ได้แก่

อียิปต์ บาห์เรน กาตาร์ อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ปากีสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน แอลเบเนีย แอลจีเรีย ตุรกี เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน ชาด โคโมโรส จิบูตี กาบอง แกมเบีย กินี กินีบิสเซา กายอานา มาลี มอริเตเนีย โมซัมบิก ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน เซเนกัล โซมาเลีย ซูดาน ซูรินาเม โกตดิวัวร์ โตโก และยูกันดา

มีผู้สังเกตการณ์ประกอบด้วย รัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรอิสลาม

ความสำคัญต่อสถานการณ์ชายแดนใต้นั้น ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการด้านมุสลิมศึกษา ระบุว่า OIC เคยส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ และแสดงความสนใจประเทศไทย ผ่านมิติของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม

ทั้งยังเคยจัดเวทีอย่างไม่เป็นทางการให้มีการเจรจาระหว่างตัวแทนของไทย กับตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

และเสนอแนะให้รัฐบาลไทยพัฒนาด้านเศรษฐกิจ อำนวยความยุติธรรมกับประชาชนในพื้นที่

อาจารย์จรัญยังกล่าวถึงสาเหตุการเข้ามาดูปัญหาชายแดนภาคใต้ของ OIC เพราะ “กฎบัตร” OIC มี 2 อย่าง คือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในของประเทศอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันต้องเข้าไปส่งเสริมชนกลุ่มน้อยให้มีสภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น เขาจะเน้นมากในกรณีปาเลสไตน์กับแคชเมียร์

และในประเทศไทยเองก็มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่ง OIC เคยกล่าวไว้ว่า การที่ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกอาหรับขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยดูแลคนมุสลิมภาคใต้อย่างไร

ภาครัฐให้ข้อมูลกับ OIC โดยภาครัฐได้นำคณะผู้แทนจาก OIC ซึ่งนำโดย Mr.Hussan Abdien ผู้อำนวยการกองมุสลิมชนกลุ่มน้อย สำนักเลขาธิการ OIC, Mr.Salih Mutlu Sen เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรสาธารณรัฐตุรกีประจำ OIC พร้อมเอกอัคราชทูตชาติสมาชิก OIC รวม 8 ประเทศ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยจุดแรกชม “พาคนกลับบ้าน” โดยฝ่ายไทยได้อธิบายกระบวนการต่างๆ ของโครงการนี้ เช่น วิธีในการออกสัญชาติให้กับผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น

ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รัฐได้นำคณะ OIC เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนศาสนาดังระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความโดดเด่นด้านศาสนา รวมทั้งภาษาต่างประเทศ

หมู่บ้านทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหว้ดปัตตานี อันเป็นชุมชน 2 วิถี พุทธ-มุสลิม

และเยี่ยมชม TKPark Yala หรืออุทยานการเรียนรู้ยะลา ที่มุ่งหมายเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนและประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมอยู่กันในแหล่งเรียนรู้มีชีวิต แลกเปลี่ยนนวัตกรรมหลากสาขา และร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการเดินทางดังกล่าว ทำให้คณะ OIC ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับมุสลิมถึงแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยไม่ว่าด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่สามารถจัดระบบการเรียนการสอนได้อย่างดี สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมาก

พร้อมทั้ง OIC ยังเห็นด้วยกับโครงการพาคนกลับบ้านเพื่อเปิดโอกาสให้กลับมาพัฒนาชาติไทยและนโยบายการพูดคุยสันติภาพ

Mr.Salin Mutlu Sen เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำ OIC ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า

“ในการเดินทางพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ OIC ได้มาติดตามในหลายด้าน แต่เน้นเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อาทิ เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา วีถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และตลอดจนการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความไม่สงบ เพื่อสันติภาพในพื้นที่ ซึ่ง OIC รู้สึกดีใจที่ได้เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ให้กับประชาชนที่เป็นมุสลิมทั่วประเทศไทย ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น สามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้”

“จะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งชนชั้น ชาติพันธุ์ หรือจะนับถือศาสนาใดก็ตาม แม้สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ แต่การแก้ปัญหาในพื้นที่ จำเป็นที่รัฐบาลไทยและทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อเนื่อง และ OIC ยินดีสนับสนุนในทุกด้าน ร่วมถึงการเงิน อาทิ การพัฒนาทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น”

ต่อข้อถาม ในการเจรจากระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ (Peace Talk) ทางด้าน Mr.Hassan Abdien ผู้อำนวยการกองมุสลิมชนกลุ่มน้อย สำนักเลขาธิการ OIC เปิดเผยว่า OIC สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และเห็นว่ารัฐบาลไทยได้มีการความคืบหน้า ได้ชักชวนทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้ง หรือกลุ่มเห็นต่าง ทุกกลุ่ม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องความรุนแรง เข้ามาสู่โต๊ะพูดคุย

ซึ่ง OIC เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา และ OIC จะสนับสนุนรัฐบาลไทย โดย OIC จะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้ทุกฝ่ายที่เป็นฝ่ายความขัดแย้ง มาร่วมพูดคุย เพื่อให้เกิดความสงบสุขให้กับพื้นที่

และในการพูดคุยสันติภาพ หรือ Peace Talk มีผู้อำนวยความสะดวกนั้นคือ รัฐบาลประเทศมาเลเซีย ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา และในเวทีโต๊ะพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีเครือข่ายของ OIC และตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ติดกับประเทศไทย

ในเรื่องนี้ทาง OIC มีการติดตามเป็นพิเศษ อยากให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาคุยบนโต๊ะการเจรจา ถกปัญหาถึงความต้องการ ประเด็นของทุกฝ่าย เพื่อจะนำสู่การวิเคราะห์ มาสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ในการหาทางออกบนกระบวนการพูดคุยเพื่อสู่สันติภาพ

อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมกัน และให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนพหุวัฒนธรรม แม้จะแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุกคน เป็นบ้านของท่านเอง และศาสนาอิสลามหรือมุสลิม ส่งเสริมให้มีการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันกับทุกฝ่าย

และขอให้รัฐบาลไทยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยยึดหลักให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมไปด้วยกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะให้ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยและปตานี/ชายแดนใต้ในสายตาเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ และ Human Rights Watch (เอเชีย) ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่ฝ่ายรัฐให้ข้อมูลกับ OIC