“ราก” กับ “ดอกไม้” 2 ขั้วรายการโทรทัศน์ กับ กรุณา บัวคำศรี

“จริงๆ การทำรายการแบบนี้ ทุกเน็ตเวิร์กใหญ่ๆ ของต่างประเทศเขามีหมด ถือเป็นรายการความรู้ที่ต้องมี” นี่คือสิ่งที่ กรุณา บัวคำศรี เล่าให้ฟังเกี่ยวกับงาน รายการ “รอบโลก BY กรุณา บัวคำศรี” ที่เพิ่งย้ายเวลาใหม่ โดยนับแต่วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์นี้จะออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 21.00-21.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี

รายการที่ตั้งใจจะให้ความรู้ ควบคู่ไปกับความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก โดยพยายามจับเรื่องจากประเด็นข่าวใหญ่ๆ และจากเรื่องราวอันน่าสนใจมานำเสนอในรูปรายการสารคดี ทั้งนี้ เน้นในเรื่องของนานาประเทศ

เหตุผลหนึ่งเพราะความรู้สึกที่ว่า “ข่าวต่างประเทศของเราที่ผ่านมาเป็นข่าวที่ไม่ได้ให้ความลึก หรือถ้ามีความลึกก็ไม่ได้มีชีวิต จะมีบทวิเคราะห์ มีอะไรเต็มไปหมด มีแต่ข้อมูล แต่ไม่ได้ความเข้าใจ แล้วมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าเราจะเข้าใจได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักคน”

ยกตัวอย่างเพิ่มด้วยว่า “อย่างนาเคยอยากจะเข้าใจเรื่องไอเอสในอิรักมานานแล้ว แต่ไม่เข้าใจ ก็เลยไปหาเด็กผู้หญิงที่ไปรบกับพวกไอเอส ให้เขาเล่าผ่านชีวิตเขา แล้วเราก็สอดแทรกประวัติศาสตร์ สอดแทรกสถานการณ์อะไรเข้าไป แต่ว่ามีตัวละครเดิน ก็ทำให้เรื่องมีชีวิตขึ้น”

งานซึ่งทำให้เธอต้องเดินทางไปรอบโลก แบบ “ไม่ต้องอิจฉา เพราะว่าเหนื่อยมาก” อย่างที่เจ้าตัวบอกพลางหัวเราะนั้น กรุณาบอกว่าเป็นสิ่งที่คิดว่าควรทำ อยากทำ และจะทำไปเรื่อยๆ ตราบที่มีผู้สนับสนุน

เหตุผลก็คือ “อยากให้คนเข้าใจมากขึ้น ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้”

“และเราเดินทางมาเยอะ ได้เห็น ได้เจอคนต่างชาติ แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราขาดไป คือความเข้าใจ ว่าคนอื่นเขาทำอะไร คิดอะไรอยู่”

“เรารู้จักแต่เรา”

ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายๆ อย่างที่เรายังไม่รู้

เหมือนเธอไปเจอเหล่าแฮ็กเกอร์ในต่างประเทศ แล้วอยู่ๆ เขาก็แฮ็กรถยนต์ที่นั่งมาด้วยกัน จนรถที่ขับมาด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็น 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แถมยังไม่สามารถเบรกได้ แล้วเขาบอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ดังนั้น จึงกำลังคิดค้นซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันเหตุนี้

“มันมีอะไรเยอะแยะที่เราไม่รู้ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรา แล้วทำไมเราไม่ทำให้คนได้เห็น ได้รู้”

“เราไม่ควรรู้เฉพาะเรื่องของเราอีกต่อไป เพราะเรื่องของเรามันมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่เราไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไรอยู่”

ยิ่งถ้าไปรวมกับความไม่เข้าใจ ยิ่งไปกันใหญ่

“อย่างเรื่องอิสราเอลนาก็อ่านมาเยอะนะ แต่ไม่เคยเข้าใจเลย จนกระทั่งไปคุยกับคนปาเลสไตน์ ไปเจอคนอิสราเอลที่เป็นทหาร เด็กผู้หญิงที่ต้องเลิกเรียนมหาวิทยาลัย”

“แล้วนามีความเชื่ออย่างเดียวเลยว่ามนุษย์น่ะ ถ้ารู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน จับมือกัน เราจะอินมากขึ้นกับเรื่องนั้นๆ มันจะมีวิญญาณมากขึ้น”

ครั้งหนึ่งเธอจึงเดินทางไปเยรูซาเลม ไปในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งมาหลายพันปี “ที่นั่นมี 3 ศาสนา ไปหา 3 ครอบครัวจาก 3 ศาสนามานั่งคุยกัน สัมภาษณ์ทีละครอบครัวว่าคิดกันยังไง เขาเป็นเพื่อนยูได้หรือเปล่า ถ้าลูกยูไปรักคนนี้ แต่งงานกันได้ไหม แค่ 3 ครอบครัว 3 ตัวละคร มันทำให้เราเข้าใจบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้นตรงนั้นได้ระดับหนึ่ง”

และสำหรับบางคนที่อาจคิดสงสัย ว่านั่นมันเรื่องของเขา อันไกลตัวเรานัก หากในฐานะคนทำ กรุณายืนยันว่ามีประโยชน์แน่นอน

“การรู้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปทำอะไรที่อิรัก อิสราเอล หรือที่ไหนๆ แต่มันเป็นการกระตุ้นครีเอทิวิตี้ กระตุ้นจินตนาการ เพราะพอเราอินกับข่าวหรือเรื่องนั้นแล้ว มันสามารถจะนำพาไปสู่อะไรที่มากกว่านั้นได้”

อย่างตัวเธอ “สมมุติอยากจะออกมาทำธุรกิจ มีธุรกิจหลายอย่างเลยที่ทำได้”

อย่างน้อยการนำน้ำมันจากต้นอะไรสักอย่างที่ช่วยเรื่องผมและหนวดที่ไปเห็นมาจากชนเผ่าของประเทศหนึ่ง ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่ดี

“มันคือโอกาสที่เราจะไปต่อ ถ้าเรารู้จักโลก ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร มันจะทำให้ชีวิตเราเฟล็กซิเบิลมากขึ้น จะทำให้เราเลิกกลัว เลิกอยู่กับโลกของตัวเอง ว่าฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันไปไหนไม่ได้”

“เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่เทคโนโลยี สตาร์ตอัพ ก็มี อย่างเวียดนามนี่น่ากลัวมาก เด็กไทยน่าจะได้ดู และถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เราตกเรดาร์แน่”

“อยากให้แรงบันดาลใจกับคนดูค่ะ” บอกพลางยิ้ม

“ดีใจเวลามีเด็กเขียนมา แล้วบอกว่าเรื่องสงครามเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เขาเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน คือความรู้ ความเข้าใจในโลก มันต่อยอดได้ เราจะเอาไปทำอะไรก็ได้ในชีวิต”

“อันนี้เป็นความเชื่อของนา”

ยังบอกอีกว่า ตั้งแต่ทำรายการมา ตัวเธอเองก็เปลี่ยนไปเยอะมาก

“อันหนึ่งที่พูดได้ คือนาไม่ค่อยสนใจกับการแต่งตัว ปลงได้มากขึ้น และเห็นแก่ตัวน้อยลง”

“เหมือนเรารู้สึกอิ่มกับสิ่งที่เห็น แล้วรู้สึก อย่างตอนไปเรื่องโรฮิงญา รู้สึกว่ามนุษย์มัน…” ถึงตอนนี้เธอนิ่งไปพร้อมถอนหายใจ

แล้วจึงว่า “คอนฟลิกหรืออะไรที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดจากสิ่งที่คล้ายๆ กันหมดเลย เห็นต่าง ความเชื่อทางศาสนา แล้วพอได้ยิน ได้อะไรอะไรเยอะ รู้สึกว่าจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น”

“ไปทำเรื่องคนไร้บ้านที่สเปน เขาไม่มีอะไรจะกิน แต่มีเบียร์ 2 กระป๋อง แบ่งให้เรากระป๋องหนึ่ง ไปเนปาล คนแผ่นดินไหว มีชาอยู่นิดนึง แบ่งให้ หรือแม้แต่ไปที่สงครามอย่างอิรัก คนที่นั่นน่ารักมาก ถึงแม้จะไม่มีอะไรกิน แต่เดินไปไหน เขาจะลากเข้าไปในบ้าน กินชา กินกาแฟ”

“ทุกวันนี้ชีวิตจึงเหมือนไม่ได้ต้องการอะไรมาก เสื้อผ้าก็ซื้อน้อยลงเยอะ กับข้าวก็ทำกินเอง ใครชวนไปไหนก็ไม่ค่อยไป”

“คือไม่ได้บอกว่าคนอื่นต้องทำแบบนี้ แต่กับเรานี่ เราเปลี่ยน”

ถามไปว่า กับงานที่ต้องตะลอนๆ ไปกัน 2 คนกับช่างภาพ งานที่ทำให้ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน งานที่มีคนช่วยทำโพสต์โปรดักชั่นกับช่วยเตรียมงานบางส่วนอีก 2 คน แต่เธอต้องรับผิดชอบในส่วนข้อมูล เขียนสคริปต์ และเป็นพิธีกรเอง ซึ่งทั้งหมดนั้น “ไม่มีทางทำให้รวย” อย่างนั้นอะไรคือสิ่งที่เธอคาดหวังกับ “รอบโลก BY กรุณา บัวคำศรี”

“อยากให้คนอื่นได้เห็นอย่างที่เราเห็น” คือคำตอบ

“นาเคยเปรียบเทียบว่ารายการประเภทนี้เป็นเหมือนราก รายการบันเทิงเป็นเหมือนดอกไม้ นาก็ชอบชมดอกไม้ แต่ดอกไม้ถ้าไม่มีราก อยู่ในแจกัน 5 วัน 7 วัน ก็เหี่ยวแล้ว รากจะเป็นพื้นที่ให้คนได้เรียนรู้โลก ได้ศึกษาชีวิต แล้วเวลาดูดอกไม้ เราจะต่อยอดได้ ไม่ใช่ดูเพื่อหลีกความทุกข์ไปวันๆ”

น่าเสียดายก็ตรงที่บ้านเราไม่ค่อยมีรายการประเภทรากสักเท่าไหร่

“แล้วคนที่ทำราก คือคนที่คนไม่ค่อยมองสักเห็นเท่าไหร่”

“อีกสักพัก พอรากเน่า ดอกมันก็ไม่ออกนะ”

“นี่มันคือสังคม”

สังคมที่เราทุกคนควรตระหนัก กรุณาพูดด้วยท่าทีอันชัดเจนยิ่ง