อย่าปล่อยไอโอเสียงดัง เราต้องเสียงดังกว่า.. บันทึกชีวิตนักข่าว เมื่อกระบอกเสียงสังคม ถูกอำนาจรัฐเล่นงาน

เรื่องราวนักข่าวคนหนึ่ง ที่บันทึกชีวิตการทำงานของเธอตั้งแต่การเผชิญกับการถูกโจมตีว่า รับใช้ทักษิณ เป็นสำนักข่าวล้มเจ้า เป็น CIA เป็นผู้สนับสนุนโจรใต้ เป็นคนขายชาติ ฯลฯ

กลายมาเป็นหนังสือ “กว่าจะเป็นนักข่าวในลิสต์ไอโอ” ผลงานชิ้นแรกของ หทัยรัตน์ พหลทัพ ปัจจุบัน บรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) สำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด

หทัยรัตน์ เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวโดยตั้งใจไว้ว่า เป็นบันทึกชีวิตนักข่าว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อวงการข่าว โดยเฉพาะวงการข่าวการเมือง เพื่อการเรียนรู้และขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

หทัยรัตน์ เล่าให้ฟังที่มาของการเขียนหนังสือดังกล่าวในงาน ‘Knowledge Book Fair 2024 อ่านเต็มอิ่ม’ ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 18 ก.พ. โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย อีกหนึ่งผู้สื่อข่าวชื่อดัง

หทัยรัตน์ เริ่มเรื่องเล่าของตนเองในประเด็นการเป็นนักข่าวในบัญชีไอโอ ว่า ส่วนตัวถูกจัดการเป็นนักข่าวในบัญชีปฏิบัติการจิตวิทยาอยู่ในระดับภูมิภาค กลุ่มเดียวกับไผ่ ดาวดิน, ครูใหญ่ อรรถพล ทั้งที่จริงๆ ตนเองเป็นแค่นักข่าวที่ไปรายงานข่าว ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าตัวเองไปอยู่ในลิสต์ของไอโอได้อย่างไร กระทั่ง คุณณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพ พรรคก้าวไกลมาอภิปรายในสภา ตอนนั้นก็เกิดคำถามว่าชื่อของตนไปอยู่ในบัญชีไอโอได้อย่างไร เพราะอันที่จริงทั้งตำรวจขอนแก่น, กอ,รมน.ของแก่น รู้จักกันทั้งหมด มาหาที่ออฟฟิศเป็นประจำ

โดยประเด็นนี้ ฐปณีย์กล่าวเสริมว่า ต้องขอบคุณการทำงานของ ส.ส.ก้าวไกลในสมัยรัฐบาลที่แล้ว เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร , นายณัฐชา เป็นต้นที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักไอโอมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเข้าไปอยู่ในลิสต์ของไอโอ เกิดขึ้นได้อย่างไร หทัยรัตน์ กล่าวว่า เริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ปี หลังรัฐประหารปี 2557 ขณะที่งานอยู่โต๊ะสืบสวนสอบสวน ไทยพีบีเอส มีพี่ๆในกองบรรณาธิการ มาบอกว่า “ตอนนี้ทหารติดตามเธออยู่นะ อย่างแรงให้มาก” จากนั้นเขาจะบอกว่า ทหารจะให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวมาเตือนเรา (ในความเป็นจริง ผอ.สำนักข่าวไม่ได้มาเตือน ปล่อยให้ทำงานอย่างมีอิสระ) ในช่วงรัฐประหารยังมีการจับตัว พี่จอบ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เข้าไปในค่ายทหาร ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่อึดอัดมาก ขณะที่ประชาชนก็อยากรับรู้ข่าวสาร หลายคนส่งข้อความมาถามเมื่อไหร่จะรายงานข่าว

“ในที่สุดเราก็ทำรายงานข่าวอัดเป็นคลิปสั้นๆ รายงานข่าวแล้วก็โพสต์ทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟสบุ๊กและยูทูป แต่หลังจากนั้นประมาณ 4-5 วัน ก็ได้รับคำเตือนว่าเขาจะเอาเธอไปปรับทัศนคตินะ ตอนนั้นก็เริ่มรู้ตัวว่าชื่อตัวเองอาจจะไปอยู่ในลิสต์” หทัยรัตน์ ระบุ

 

ชีวิตการทำงานของหทัยรัตน์ ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน กระทั่งได้ทำงานในตำแหน่งโปรดิวเซอร์รายการ”ตอบโจทย์”ในยุครุ่งเรือง ต่อด้วยการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างไม่ต้องเกรงกลัวใคร กระทั่งตัดสินใจลาออกด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพและเหตุผลส่วนตัว

แต่จิตวิญญาณความเป็นนักข่าวของหทัยรัตน์ก็ยังอยู่ จึงมาร่วมก่อตั้งสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด และบทบาทการทำงานของเดอะอีสานเรคคอร์ดนี่เองที่ทำให้หทัยรัตน์ ได้รับการจับจ้องจากฝ่ายความมั่นคงอีกครั้ง

เคยถูกข่มขู่อย่างหนักและสร้างความตึงเครียดมากให้ชีวิต คือกรณี การขอไม่ให้เสนอข่าวเกี่ยวกับ 112 โดยเอาเดวิด สเตร็คฟัสส์ ในฐานะที่ปรึกษา เป็นตัวประกัน ถ้าไม่เซ็นจะต้องถูกให้ออกนอกประเทศ

“อีสานเรคคอร์ด ถูกห้ามไม่ให้รายงานข่าว 112 โดยเอาเดวิด สเตร็คฟัสส์ ในฐานะที่ปรึกษา เป็นตัวประกัน ถ้าไม่เซ็นจะต้องถูกให้ออกนอกประเทศ แต่เราก็ยังทำงานข่าวต่อไป ตามหน้าที่ แม้จะมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าทำไม่ได้” หทัยรัตน์ ระบุ

หทัยรัตน์ ยังเล่าเรื่องการข่มขู่อย่างหนักที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยนายตำรวจระดับสูงของประเทศ

“การข่มขู่ซึ่งหน้าเกิดขึ้นจริงๆ จากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขณะนั้น ที่บอกว่า ถ้ายังรายงานข่าว 112 ต่อไป ก็ขอประกาศเป็นศัตรู ยอมรับว่าขณะนั้นกลัวจึงรายงานไปยังยูเอ็น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยยูเอ็นก็ให้รายงานไปยังกระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นก็โทรปรึกษาหลายคน สภาพจิตใจไม่โอเค ยถูกข่มขู่ซึ่งหน้า เป็นคำพูดที่ร้ายแรงมาก” หทัยรัตน์ กล่าวเปิดใจ

ส่วนการถูกกระทำจากไอโอนั้น หทัยรัตน์ระบุว่า ต้องไม่ปล่อยให้ขบวนการนี้มีที่ยืนในสังคม หลักปัญหาการทำงานของไอโอคือการถูกบูลลี่บนโลกโซเชียลมีเดีย

หทัยรัตน์ยังย้อนเล่าวีรกรรมที่ตนเองเคยประสบช่วงทำงานอยู่ไทยพีบีเอส เคยถูกกดดันอย่างหนักในการเดินทางไปสัมภาษณ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ถูกรัฐประหาร

“เคยไปสัมภาษณ์คุณทักษิณ ที่ดูไบ ตอนนั้นทุกคนบอกอย่าไป ถ้าไป คุณจะถูกบอกว่าโดนทักษิณซื้อ ตอนนั้นคุณทักษิณไม่ได้ป่วย (แบบตอนนี้) แต่ถูกทำให้เป็นผี มีคนโพสต์โจมตีไทยพีบีเอส เอาเงินภาษีไปรับใช้ทางการเมือง ตอนนั้นเครียดมาก มีคนโทรมา 7 สาย บอกจะระเบิดไทยพีบีเอส ขณะที่ไทยพีบีเอสเอง ก็ไม่อยากให้รายงานข่าวทักษิณ ต้องขึ้นขนาดเอาฟุตเทจรายการไปซ่อนไว้ กระทั้่งนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ต้องขอพักรายการชั่วคราว ส่วนตัวประกาศจะขอลาออก ถ้าไทยพีบีเอสไม่ออนแอร์ สู้จนกระทั่งท้ายที่สุดออนแอร์ได้ ส่วนเนื้อหาภายในก็เป็นตอนที่คุณทักษิณขอโทษเรื่องภาคใต้และหลายๆเรื่อง จนตนเองถูกลบครหาไปได้ว่า ไม่ได้ถูกทักษิณซื้อตัว” หทัยรัตน์ ระบุ

 

ส่วนการกลายเป็นนักข่าวในลิสต์ฝ่ายความมั่นคงนั้น หทัยรัตน์ ชี้ว่า เรื่องใหญ่คือการงานข่าวที่ตรงข้ามกับฝ่ายผู้มีอำนาจ การแก้ปัญหานี้ ทางหนึ่งคือต้องสู้และรู้ทันไอโอต่างๆ

“นักข่าวก็เข้าไปอยู่ในลิสต์ไอโอได้ถ้านักข่าวทำงานตรงข้ามกับรัฐ รายงานสิ่งที่ประชาชนที่คิดไม่ตรงกับรัฐ อย่าปล่อยให้ไอโอเติบโต อย่าปล่อยให้ไอโอเสียงดัง เสียงเราต้องดังกว่าไอโอ” หทัยรัตน์ ระวุ

หทัยรัตน์ ระบุว่า ชีวิตการทำงานข่าวจองตนเองไม่ราบรื่น และยอมรับว่ามีผลกระทบทางจิตใจสูง พร้อมเตือนนักข่าวการเมืองให้รู้จักการบำบัดอาการเครียดจากสถานการณ์การทำงาน

“ชีวิตการทำข่าวในหนังสือเล่มนี้ ก็ส่งผลให้ต้องรักษาอาการเครียดอยู่ มันมีผลทางจิตใจ ตอนถูกข่มขู่หนักๆ สมองมันเบลอ ไม่รู้เรื่อง 2-3 วัน นักข่าวการเมืองไม่เคยทบทวนตัวเอง ว่าเครียด และบำบัดความเครียดอย่างไร เคยคุยกับสมาคมนักข่าว เราควรที่จะจัดวงพูดคุย นักข่าวบำบัดความเครียดอย่างไร หลังปี 2553 นักข่าวไทยไม่ถูกบำบัด เป็นซึมเศร้ากันมา กทุกคนไม่เคยถามตัวเองว่าจะอยู่กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างไร ” หทัยรัตน์ ระบุ

 

ด้าน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ระบุว่า เล่าเรื่องการทำงานของเดอะรีพอร์ตเตอร์ ว่าเคยถูกมอนิเตอร์ จากวอร์รูมของหน่วยงานความมั่นคง ที่พยายามจะทำให้กลัว แต่เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่กลัว เนื่องจากความรู้เท่าทันและสามารถที่จะรับมือได้

“ประวัติศาสตร์ที่รีพอร์ตเตอร์ทำได้ช่วงสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองและการถูกปิดกั้นอย่างหนักคือการไลฟ์สดจนมีคนดู 1.4 แสนคน วันที่มีการสลายการชุมนุม จนกลายเป็นหนึ่งในห้าของ ศอรส. ที่ถูกคำสั่งมอนิเตอร์ ที่ข่มขู่จะปิดสำนักข่าว” ฐปณีย์ ระบุ

และว่า แต่สุดท้ายแล้วด้วยความไม่ยินยอมของสำนักข่าวขณะนั้น จึงมีการต่อสู้กับคำสั่ง ของ ศอรส. ที่สุดศาลพิพากษาให้ชนะ

ฐปณีย์ ยังชี้ให้เห็นความน่ากังวลของสถานการณ์ไอโอขณะนี้ ว่าไม่ได้มีแต่ฝ่ายทหารหรือฝ่ายความมั่นคงทำอีกแล้ว แต่ขณะนี้กลายเป็นพรรคการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตยเองก็ทำ

“ไอโอไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่ทหารทำ ไอโอที่พรรคการเมืองทำ ยกตัวอย่างข่าวแลนด์บริดจ์ ที่ไม่รู้ทำโดยใคร เคยไปทำข่าวต่อต้านแลนด์บริดจ์ที่เขาไม่เห็นด้วย ลงโพสต์ไป 1 นาที มี คนคอมเมนต์ถึง 20 คอมเมนต์ ที่เชียร์ฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่ตรวจสอบดูง่ายๆจากการคลิกเข้าไปดูโปรไฟล์ก็รู้ว่าเป็นไอโอ มีลักษณะคล้ายๆกัน” ฐปณีย์ ระบุ

“แต่ก่อนจ้างเป็นรายเดือน ปัจจุบันจ้างเป็นรายสัปดาห์ ขอเตือนคนที่อยากสร้างตัวที่เข้าไปทำ ระวังตัวเองจะกลายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ฐปณีย์ กล่าว

แต่สถานการณ์ของนักข่าวตอนนี้ก็น่าห่วงหลังมีการจับนักข่าวแค่เพียงไปรายงานข่าวนักเคลื่อนไหว จนเป็นข่าวดังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ปัจจุบันนักข่าวถูกแจ้งความอาญา ถูกทำให้เป็นอาชญากร นั่นเลวร้ายกว่าการเป็นนักข่าวในลิสต์ไอโอ” ฐปณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน หทัยรัตน์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงเบื้องหลังการเขียนหนังสือดังกล่าว ว่า ใช้เวลาในการเขียนจริงๆเขียน 3 วัน ยอมรับว่าเขียนด้วยความโกรธและความอัดอั้นตันใจ เขียนด้วยความกลัว เขียนแล้วพักไว้ประมาณ 1 ปี เพื่อที่จะให้ตัวเองมั่นใจว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างนั้นถูกไหม

“มันเป็นสมุดบันทึกเรื่องราวความรู้สึกกลัวว่าตัวเองกลัวแค่ไหนจึงบันทึกออกมา จริงๆเขียนเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นช่วงจังหวะทบทวนตัวเองว่าเจออะไรมา เป็นบทสรุปตั้งแต่ตัวเองเป็นเด็กมา เจออะไร ก้าวสู่การเป็นนักข่าวมาได้ยังไง”

เมื่อถามว่า คุณสมบัติของนักข่าวที่ดีวันนี้คืออะไร? หทัยรัตน์ ตอบกลับทันทีว่า .. อย่ากลัว กลัวได้ แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่าคุณมีความตั้งมั่นแค่ไหนในการเป็นนักข่าว การเป็นนักข่าวเงินเดือนมันไม่ได้เยอะ มันต้องมีอาชีวปฏิญาณ (หัวเราะ) นิดนึงว่าคุณต้องตั้งมั่นในอาชีพตัวเอง สิ่งหนึ่งคือถามตัวเองบ่อยๆว่า ตัวเองได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างที่วิชาชีพหรือหลักวารสารศาสตร์เป็นไหม

เมื่อถามว่า นักข่าวยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่ทุกคนก็เป็นสื่อได้?

หทัยรัตน์ ตอบว่า นักข่าวจำเป็น เพราะนักข่าวที่มีความเป็นมืออาชีพ ทำให้คนเชื่อถือได้มากกว่านักข่าวที่เป็นพลเมือง แน่นอนนักข่าวที่เป็น citizen reporter ก็มีความสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนออกมาในแต่ละพื้นที่ แต่นักข่าวที่เป็นมืออาชีพจะสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นสิ่งที่สังคมไว้ใจ การจะสร้างความน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ ค่อยๆสะสมมา มันไม่ใช่เรื่องของการกระโดดก้าวมาแล้วก็ทำได้เลย ที่สำคัญก็คือ การเป็นนักข่าวนอกจากส่งเสียงแล้วยังเป็นกระบอกเสียงได้ด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากในการเป็นนักข่าว

เมื่อถามว่า นักข่าวจำเป็นต้องสนใจประชาธิปไตยไหม?

หทัยรัตน์ ตอบกลับว่าจำเป็นมาก ประชาธิปไตยทำให้นักข่าวมีเสรีภาพในการตรวจสอบ เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการหาข้อมูล “คือยุคไหนที่ไม่มีประชาธิปไตยเป็นยุคมืดของนักข่าว”