‘อภิมหาสายฟ้า’ สถิติโลก | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

หากมองภาพรวมทั่วโลก ฟ้าแลบ-ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา เว็บ MetOffice ซึ่งเป็นของสถาบันด้านอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษให้ตัวเลขว่า ในแต่ละวินาทีมีฟ้าแลบ-ฟ้าผ่าเกิดขึ้นราว 44 ครั้ง หรือคิดเป็น 3.8 ล้านครั้งใน 1 วัน [1] ส่วนเว็บของ National Weather Service ให้ตัวเลขที่สูงกว่าคือแต่ละวินาทีมีสายฟ้าฟาดราว 100 ครั้ง หรือคิดเป็น 8.6 ล้านครั้งใน 1 วัน [2]

แม้ตัวเลขจะต่างกัน แต่ก็อยู่ในระดับขนาดเดียวกันคือราว 4-9 ล้านครั้งต่อวัน ความหมายที่ชัดเจนก็คือเกิดฟ้าแลบ-ฟ้าผ่าแบบถี่ยิบๆ นั่นเอง (วินาทีเดียวมีสายฟ้าเกิดขึ้นหลายสิบครั้งเมื่อมองภาพรวมทั้งโลก)

แน่นอนว่าในบรรดาสายฟ้าทั้งหมดย่อมมีบางกรณีที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ในบทความนี้ผมจะขอนำสถิติโลกที่เกี่ยวกับสายฟ้ามาฝากกัน แน่นอนว่าสถิติที่ว่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ก็ยิ่งน่าสนใจว่าเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการทำลายสถิติขึ้นได้

ลองมาดูข้อมูลล่าสุดกันครับ

สายฟ้าที่ยาวที่สุด ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงสายฟ้าเหนือพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.2020
ที่มา : https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-certifies-two-megaflash-lightning-records

สายฟ้าที่ยาวที่สุดในโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Organization) มีหน่วยงานที่เก็บสถิติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับประเด็นแนวนี้ เรียกว่า คณะกรรมการว่าด้วยสภาวะสุดขีดด้านลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ (Committee on Weather and Climate Extremes)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 คณะกรรมการชุดนี้ได้รับรองสถิติโลกเกี่ยวกับสายฟ้าแบบต่อเนื่องเส้นเดียวที่ยาวที่สุดในโลก สายฟ้าเส้นนี้มีครอบคลุมระยะในแนวระดับ (ขนานกับพื้น) คือ 768 ± 8 กิโลเมตร (477.2 ± 5 ไมล์) โดยเกิดพาดผ่านทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.2020 ดูภาพที่ 1 ครับ

ระยะทางราว 768 กิโลเมตรนี่ไกลกว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่เล็กน้อย เพราะว่าระยะทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ราว 746 กิโลเมตร หากเดินทางโดยเครื่องบิน

อาจมีคำถามว่าในเมื่อสายฟ้าดูซิกแซ็กและแตกกิ่งก้านสาขาคล้ายกิ่งไม้ แล้วระยะในแนวระดับที่ระบุวัดจากตรงไหน?

คำตอบอยู่ในภาพที่ 1 ครับ สังเกตปลายสุด 2 ฝั่งของสายฟ้า จะมีกากบาทสีเหลืองอยู่แต่ละฝั่ง ระยะที่เก็บเป็นสถิติก็คือระยะห่างระหว่างตำแหน่งของกากบาททั้ง 2 จุด โดยคิดตามวงกลมใหญ่สุดบนผิวโลก (เนื่องจากผิวโลกโค้ง)

ก่อนหน้าสถิติล่าสุดนี้ เส้นสายฟ้าที่เคยครองตำแหน่งยาวที่สุดมีระยะในแนวระดับ 709 ± 8 กิโลเมตร (440.6 ±  5 ไมล์) โดยเกิดขึ้นเหนือบางส่วนของทางตอนใต้ของประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.2018

เรียกได้ว่าแชมป์ใหม่โค่นแชมป์เก่าไปราว 60 กิโลเมตร ทั้งนี้ การวัดระยะใช้วิธีการเดียวกันจึงสามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง

สายฟ้าที่คงตัวเป็นเวลานานที่สุด ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงสายฟ้าเหนือพื้นที่ของอุรุกวัยและอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.2020
ที่มา : https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-certifies-two-megaflash-lightning-records

สายฟ้าที่คงตัวเป็นเวลานานที่สุด

ในวันเดียวกันคือ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ได้รับรองสถิติโลกเกี่ยวกับสายฟ้าแบบต่อเนื่องเส้นเดียวที่คงตัวเป็นเวลานานที่สุดในโลก

สายฟ้าเส้นนี้คงตัวนานถึง 17.102 ? 0.002 วินาที โดยเกิดพาดผ่านประเทศอุรุกวัยและทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.2020 ดูภาพที่ 2 ครับ

ก่อนหน้าสถิติล่าสุดนี้ เส้นสายฟ้าที่เคยครองตำแหน่งคงตัวนานที่สุด คงตัวตัวนานถึง 16.73 วินาที โดยเกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2019

เรียกได้ว่าแชมป์ใหม่โค่นแชมป์เก่าไปราว 0.37 วินาทีเท่านั้น

 

บางแง่มุมที่ควรรู้

ปกติคำว่า “สายฟ้า” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า lightning flash หรือบ่อยครั้งก็เรียกว่า flash เฉยๆ (หากบริบทแวดล้อมระบุว่ากำลังพูดถึงฟ้าแลบ-ฟ้าผ่า) คำว่า flash จริงๆ แล้วหมายถึง แสงสว่างมากๆ ที่วาบขึ้นมา

แต่ในกรณีสายฟ้าที่ยิ่งใหญ่อลังการจนทำสถิติโลกนี้ แม้แต่ WMO เองก็เรียกว่า megaflash ซึ่งถ้าแปลแบบหลวมๆ ก็อาจเรียกว่า “อภิมหาสายฟ้า” ได้ เพราะคำอุปสรรค mega หมายถึง มีขนาดใหญ่สุดๆ หรือมีปริมาณมากสุดๆ

อาจมีคำถามว่าแล้ว อภิมหาสายฟ้าที่ว่านี้เกิดขึ้นจากอะไร?

แน่นอนว่าเมฆฝนฟ้าคะนองเพียงก้อนเดียวหรือแค่ไม่กี่ก้อน ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดสายฟ้าที่ยาวมากๆ หรือคงตัวนานมากๆ เช่นนี้ได้ แต่อภิมหาสายฟ้าเช่นนี้เกิดในพายุฝนฟ้าคะนองที่เรียกว่า ระบบคอนเวคทีฟระดับเมโซสเกล (mesoscale convective system) หรือย่อว่า MCS ครับ

ในชื่อ MCS นี้มีศัพท์เทคนิคทางอุตุนิยมวิทยาซ่อนอยู่ จึงขอขยายความเล็กน้อย

ตัว M หรือคำว่า mesoscale หมายถึงระดับขนาดกลางๆ เพราะ meso แปลว่า ปานกลาง ทั้งนี้ในทางอุตุนิยมวิทยาหมายถึงขนาดในแนวนอนในช่วงประมาณ 10-1000 กิโลเมตร (อาจจำง่ายๆ ว่าตั้งแต่หลายสิบไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร) [3]

ตัว C หรือคำว่า convective ในชื่อ MCS บ่งว่าอากาศยกตัวในแนวดิ่ง เพราะคำนามคือ convection คือการพาความร้อนขึ้นในแนวดิ่ง ดังนั้น ตัว C นี้จึงสื่อถึงเมฆฝนฟ้าคะนองที่เกิดจากเมฆก้อนเล็กๆ เติบโตขึ้นในแนวดิ่งจนกลายเป็นเมฆสูงใหญ่นั่นเอง

ส่วนตัว S หรือคำว่า system (ระบบ) หมายถึงว่า MCS เป็นกลุ่มของเมฆฝนฟ้าคะนองจำนวนมากที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบในพื้นที่หนึ่งๆ จนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองขนาดมหึมา (คือหลายร้อยกิโลเมตร)

ทั้งนี้ รูปร่างของ MCS อาจเป็นแนวเส้นค่อนข้างตรง หรืออาจค่อนข้างกลมรี หรืออาจเป็นเกลียว (อย่างเช่นกรณีของพายุหมุนเขตร้อน) ก็ได้

 

แล้วข้อมูลเกี่ยวกับสายฟ้าได้มาอย่างไร?

คําตอบคือ ข้อมูลดังกล่าวมาจากโครงข่ายที่เรียกว่า Lightning Mapping Array (LMA) ซึ่งเป็นประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ตรวจจับสัญญาณจากฟ้าแลบ-ฟ้าผ่าจำนวนมากที่ติดตั้งกระจายอยู่บนพื้นดินครอบคลุมพื้นที่กว้าง

นั่นคือมีขีดจำกัดเกี่ยวกับขนาดของสายฟ้าใหญ่ที่สุดที่สามารถตรวจจับได้ หายสายฟ้านั้นเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณดังกล่าว

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการตรวจจับสายฟ้าจากอวกาศ โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาบนดาวเทียม GOES-16 และ GOES-17 ของสหรัฐอเมริกา, ดาวเทียม Meteosat Third Generation ของยุโรป และดาวเทียม FY-4 ของจีน เป็นต้น

การศึกษาสายฟ้าและฟ้าแลบ-ฟ้าผ่าอย่างเป็นระบบเช่นนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตุนิยมวิทยา และมีส่วนยกระดับความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยของผู้คนจำนวนมากครับ

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/thunder-and-lightning/facts-about-lightning

[2] https://www.weather.gov/mlb/lightning_facts

[3] https://atmos.washington.edu/academic/mesoscale.html