‘คุกคาม’ ไม่ง่ายเหมือนที่เคย

ถ้าพูดถึงความพร้อมในปัจจัยนำการพัฒนาประเทศสู่ความรุ่งเรือง ย่อมเป็นที่รับรู้ว่าประเทศไทยเราไม่เป็นสองรองใคร

ภูมิประเทศที่อยู่ในศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ ความได้เปรียบด้านคมนาคมที่เอื้อให้ทุกช่องทาง เป็นส่วนที่พ้นจากภัยธรรมชาติรุนแรง ขณะที่เป็นแผ่นดินที่เหมาะกับประกอบอาชีพทุกรูปแบบ ในพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอต่อการใช้สร้างความเจริญได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

แต่ทั้งที่ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาประเทศมายาวนานไม่น้อยกว่าประเทศไหน จนป่านนี้ก็ยังอยู่ในสภาพ “ประเทศกำลังพัฒนา” หรือว่าไปก็คือ “ประเทศด้อยพัฒนา” ที่เพื่อนรอบบ้านที่มาทีหลังค่อยๆ แซงและทิ้งห่างไปทีละประเทศ

เป็นที่รู้กันดีว่าเหตุเกิดจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การแย่งชิงอำนาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของคุณภาพการบริหารจัดการประเทศ

“การเมือง” ที่ยิ่งนานวันยิ่งสะท้อนให้เห็นการก้าวไปไม่พ้นการมุ่งทำลายล้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าจะยอมรับกติกาที่เหมาะควรร่วมกัน

เป็นประเทศที่ประกาศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ยอมรับ “การตัดสินใจของประชาชน” ที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบการปกครองนี้

“คณาธิปไตย” ที่รับใช้ “คณะบุคคล” แม้จะอ้าง “ประชาธิปไตย” เป็นเสื้อคลุม แต่รู้กันว่า ได้วางกลไกทำลายล้าง “อำนาจประชาชน” ทุกวิถีทาง

ปฏิบัติการต่อต้าน ทำลาย ไม่ให้ราคา “การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่” ทุกวิธีการและรูปแบบ

 

ขณะที่ก็เช่นกัน

ผลการเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งหมายถึงการเลือกให้คะแนนกับพรรค ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการแบบไหน

“พรรคก้าวไกล” ซึ่งนำเสนอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ ได้รับเลือกมามากที่สุด 14,438,851 คะแนน ด้วยสัดส่วน ส.ส. 39 คน

รองมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” ที่ยืนอยู่ในนโยบายแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นหลัก ได้ 10,962,522 คะแนน ส.ส. 29 คน

ขณะที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ขาย “การสืบทอดอำนาจของคณะบุคคล” ได้ 4,766,408 คะแนน ส.ส. 13 คน

“พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งรับรู้ว่าเป็น “พรรคตัวแทนทุนใหญ่” ได้ 1,138,202 คะแนน ส.ส. 3 คน

“พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะ “พรรคเก่าแก่ที่เคยยิ่งใหญ่ที่รักษาฐานเสียงเดิมไว้ไม่ได้” เหลือ 925,349 คะแนน ได้ ส.ส. 3 คน

ขณะที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่เน้นฐาน “บ้านใหญ่” หรือผู้มีบารมีในท้องถิ่น ได้ 537,625 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน

และอีก “10 พรรค” ที่มีจุดขายเฉพาะ และพรรคที่แยกตัวจากพรรคใหญ่มาตั้งใหม่ ได้ ส.ส.ไปพรรคละ 1 คน

หากยึดถือในหลักการ “การตัดสินใจของประชาชน” เป็นอำนาจสูงสุด

การผนึกพลังของ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล รวม 312 เสียงมาให้การสนับสนุน นั่นหมายถึงเสียงเกินกึ่งหนึ่งมากมาย ความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาลย่อมมีล้นเหลือ

แต่ปัญหาของโครงสร้างประเทศเรา ไม่เอื้อให้ “พรรคที่แพ้การเลือกตั้ง” ต้องยอมรับ “กติกาประชาธิปไตย”

ความเคลื่อนไหวต่อต้าน ด้วยเทคนิคและกลไกสารพัดที่ถูกออกแบบและจะตั้งไว้ใช้งานจึงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

สู่ “การไม่ให้ราคาการตัดสินใจของประชาชน”

 

อย่างไรก็ตาม บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ที่อำนาจประชาชนต้องยอมจำนนต่อการใช้กลไกที่ไม่ยึดโยงประชาชน มาทำลายการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ประชาชนที่ตื่นตัวในอำนาจของตัวเอง และรับรู้ไม่มีหนทางอื่นนอกจากต้องร่วมต่อสู่เพื่อปกป้อง “อำนาจที่เกิดจากการตัดสินใจของตัวเองไว้”

ไม่ปล่อยให้ “พรรคการเมืองที่คนส่วนใหญ่เลือกแล้ว” ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

ทำให้แม้ว่าขบวนการทำลายล้างอำนาจประชาชน จะสมคบกันปฏิบัติการอย่างเข้มข้น

แต่ใช่ว่าจะเอาชนะได้โดยง่ายเหมือที่ผ่านมา

ความพ่ายแพ้ซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ประชาชนเรียนรู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับ “การไม่ยอมจำนน” ครั้งนี้