รายงานพิเศษ : ข้าละอองธุลีพระบาท ในหลวง ร.9 รำลึก 1 ปีวันมหาวิปโยค พระมหากรุณาธิคุณจะอยู่กับเราไปนานแสนนาน

“ผ่านไป 1 ปี เป็นวันคืนแห่งประวัติศาสตร์ ไม่มีคนไทยคนไหนอยากให้มีวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เกิดขึ้น แต่สัจธรรมของโลก จึงไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่กระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ยังอยู่กับเราตลอดไป”

เสียงสะอื้นในลำคอพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้าของ “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเล่าถึงคืนที่คนไทยทั้งผองต้องหลั่งน้ำตาในวันวิปโยคในบ้านพักซอยรัชดาภิเษก 32

“ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง” เล่าเหตุการณ์ช่วงรอยต่อแห่งวันมหาวิปโยค ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2559 วันที่หัวใจของคนไทยกว่า 60 ล้านคนเหมือนอยู่บนปากเหว ร่างกายง่อนแง่น ไม่มีเสาหลักค้ำยัน ก่อนที่หัวใจจะแตกสลายเมื่อข่าวลือที่แพร่สะพัดกล่าวเป็นข่าวจริง…ข่าวที่คนไทยทั้งประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้น

“หากย้อนเหตุการณ์ไปปีหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่เราหวั่นไหวมาก มีความกังวลเกี่ยวกับพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาก อย่างไรก็ดี ในคืนวันที่ 12 ตุลาคม มีแถลงการณ์พระอาการประชวรของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย แต่ฟังดู อ่านดู ก็ยังไม่เป็นที่วางใจสนิทหรอก แต่ยังมีความหวังเสมอ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดจริงๆ เราก็ต้องมีความหวัง”

“เช้าวันที่ 13 ตุลาคม มีการนัดหมายกันหลายๆ แห่ง เพื่อสวดมนต์บทโพชฌังคปริตรถวายพระเจ้าอยู่หัว ผมเป็นสมาชิกของจุฬาฯ ประเภทถาวร เข้านอก ออกใน มาตลอดทั้งชีวิต จึงนัดกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 5 โมงเย็น ตอนกลางวัน วันนั้น เป็นมื้อเที่ยง ผมไปรับประทานอาหารกลางวันกับเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ แต่ข่าวสารที่เผยแพร่กันทั่วไปในสังคมไทยเวลานั้น ไม่ชวนให้เราสบายใจ เจ้านายหลายพระองค์เสด็จไปโรงพยาบาลศิริราชแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัญญาณปกติ ถึงแม้ไม่รู้ว่าไปทำอะไร แต่เราต้องรู้แล้วว่า เป็นข้อสังเกตในเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา”

“รู้สึกใจหาย…ผมต้องขอลาท่านทูตสิงคโปร์เพราะผมอยู่ต่อไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าผมจะอยู่ได้อย่างไร การที่เราต้องหาเรื่องอื่นๆ คุยในโต๊ะอาหารตามมารยาท รับประทานอาหารและทำท่าว่ายังรับประทานอาหารอยู่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ศาสตราจารย์พิเศษธงทองเล่าถึงเหตุการณ์การรับประทานอาหารเที่ยงวันนั้น ในวันที่ร้อนใจเหมือนไฟสุมอก

“ผมวิ่งมาที่จุฬาฯ ไม่รู้จะไปไหนก็ไปที่ศาลาพระเกี้ยวที่เขานัดกันตอนเย็นนั่นแหละ คิดว่าไปช่วยเขาดีกว่า ผมเหมือนเป็นเจ้าพิธีของจุฬาฯ เป็นนานปี ไปช่วยเขาดู เขาหารูปพระเจ้าอยู่หัวที่จะมาตั้งเพื่อให้คนกราบถวายพระพร เวลานั้นยังใช้คำว่าถวายพระพรอยู่ ตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด เวลาบ่าย พยายามทำให้ตัวเองวุ่นวาย”

“ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง” เล่าต่อว่า “ข่าวสารที่เข้ามาไม่ดีเลยสำหรับเรา เช่น สำนักพระราชวังปิดการลงนามถวายพระพรแล้วในเวลาบ่าย 3 ทุกทีเคยลงนามถวายพระพรได้ถึง 5 โมงเย็น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ลงนามถวายพระพรได้ถึงเย็นนะ…เมื่อปิดซะอย่างนี้…มันก็…เป็นสัญญาณที่ไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับเรา และดูเหมือนว่าทุกคนแอบรู้อยู่ในใจ เพราะถ้าเหตุการณ์ปกติ ไหนเลยสำนักพระราชวังจะสั่งให้งดลงนามถวายพระพรเช่นว่านั้น เป็นประโยคที่เถียงอยู่ในสมองเรา ว่า ถึงเวลานั้นแล้วหรือ เวลาที่เราไม่อยากให้ถึง เมื่อถึงเวลาบ่าย 3 บ่าย 4 ดูเหมือนว่าทุกคนก็รู้สึกเหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว ไม่มีใครกล้าพูดว่าเกิดอะไรขึ้น”

ลูกศิษย์ที่คุ้นเคยกันเริ่มทยอยมา งานจะเริ่ม 5 โมงเย็น “วิทิตนันท์ โรจนพานิช” คนไทยคนแรกที่ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วนำรูปพระเจ้าอยู่หัวไปชูเหนือศีรษะ เป็นเด็กศิลปกรรม คุ้นเคยกัน เดินเขามา มากอดกันร้องไห้โดยไม่ได้พูดอะไร ไม่รู้จะพูดอะไร ได้แต่ร้องไห้

มีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้คุ้นกันนัก รุ่นใกล้ๆ กัน เคยไปเที่ยวเมืองจีนกับกรุ๊ปทัวร์เดียวกัน ปกติจะไม่กอดกันแน่นอนเพราะไม่ได้สนิท แต่เดินเข้ามาแล้วกอดกันร้องไห้ สุดท้ายก็ต้องข่มใจนะ ต้องปฏิบัติหน้าที่ไป

“จุดธูปจุดเทียน แบ่งหน้าที่กันไป ผมเป็นอุปนายกสภาจุฬาฯ ในเวลานั้น ผมเป็นคนถวายดอกไม้ธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ กราบลงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง อยากร้องไห้แต่ต้องพยายามกล้ำกลืนตัวเองไว้ เพราะอยู่ในพิธีสวดมนต์ที่จะถวายในหลวงอยู่นะ ทุกคนรู้อยู่ในใจที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ยังไม่ถึงเวลา แต่ก็รู้ว่า จริงๆ แล้วมันถึงเวลาแล้วล่ะ แต่เราก็อยากจะ…ไม่มีใครทำอะไร จนกว่าจะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากสำนักพระราชวัง”

สุดท้ายทุ่มหนึ่ง พระเพิ่งกลับ มีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง ท่านอธิการก็มีสติดีนะ ท่านก็อาศัยไมโครโฟนประกาศต่อชาวจุฬาฯ ทุกคน ว่า วันพรุ่งนี้ คงจะมีการเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปในวังหลวง ถ้าใครอยากจะไปกราบพระบรมศพตามเส้นทางให้ไปได้เลยโดยไม่ถือเป็นวันลา แล้วทุกคนก็แยกย้ายแล้วละคราวนี้

“ผมมานั่งในรถยนต์ตรงข้างๆ ศาลาพระเกี้ยว น้ำตาที่ซึมๆ มาตลอดบ่าย พออยู่ในรถยนต์คนเดียวก็ร้องไห้ออกมาจริงๆ จังๆ ร้องมาก ไม่เคยพบเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ไม่รู้จะทำอะไร อย่างไรต่อไป”

กลับมาถึงบ้านก็ค่อยๆ มาตั้งสติตัวเอง ข้าวปลากินไม่ลง พรุ่งนี้เขาจะเคลื่อนพระบรมศพเวลาไหน ตอนไหน ไม่รู้ แต่คิดอย่างเดียวว่า พรุ่งนี้ผมคงต้องไปอยู่ริมถนนแล้วล่ะ ชักชวนลูกศิษย์ 5-6 คน พรุ่งนี้ไปไหม ไม่รู้อะไรเลยนะ แต่ไปอย่างประชาชนคนหนึ่งนี่แหละ คงจะมีคนอีกมากที่ไปเหมือนเรานี่แหละ ไปนัดเจอกันที่กุฏิพระคณะ 9 วัดชนะสงคราม

ผมออกจากบ้านตั้งแต่เช้า 8 โมงเช้า นอนไม่ค่อยหลับหรอกคืนนั้น ออกจากบ้านไป สิ่งที่ตกใจคือ มีแต่คนไว้ทุกข์ ตามท้องถนนหนทาง มีแต่คนไว้ทุกข์เต็มไปหมด สายหน่อยเขาก็ประกาศให้หยุดราชการ แต่ผมเป็นคนนอกราชการเกษียณแล้วไม่สนอยู่แล้ว ไม่ห่วง พอพร้อมหน้าพร้อมตากันที่วัดชนะสงคราม และก็ไปนั่งอยู่บนถนนใกล้ๆ กับหอศิลป์เจ้าฟ้า เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เหลือแต่พื้นถนนแล้วในเวลานั้น ผมอาจจะเป็นพวกแรกๆ ที่นั่งอยู่บนถนนนั่นแหละ คิดว่าตำรวจคงไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเขาบอกแนวก็จะขยับตาม

“นั่งคอยอยู่ตรงนั้น ก่อนบ่ายโมงแน่ๆ ผมรู้สึกว่า ผมได้พบครอบครัวใหญ่ของผม ไม่เฉพาะคนที่ไปกับผมนะ คนอีกเป็นแสน น่าจะประมาณ 5 แสนคน ทุกคนเขาร่วมทุกข์เดียวกันกับผม มาด้วยหัวใจเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ระยะเวลาที่นั่งอยู่ตรงนั้น เป็นเวลาที่อยู่ในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน”

เมื่อขบวนรถเคลื่อนพระบรมศพออกจากโรงพยาบาลศิริราช ผมอยู่แถวสองกราบราบไม่ได้ ก็ได้แต่ยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะในเวลาที่รถพระบรมศพผ่านไป

“ผ่านไป 1 ปี เป็นวันคืนแห่งประวัติศาสตร์ ไม่มีคนไทยคนไหนอยากให้มีวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เกิดขึ้น แต่สัจธรรมของโลกจึงไม่อาจปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้ ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่กระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ยังอยู่กับเราไปตลอด คือ ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เรื่องราวที่พระองค์ท่านบอกเรา สอนเรา พระองค์ท่านทรงทำให้เราดู พระองค์ท่านทรงฝากไว้ให้เราดู สิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน”