เศรษฐกิจ/ส่งออก-จีดีพีเทกออฟ เงินเฟ้อสโลว์ดาวน์ เขย่าเป้า!!! ฝันหวาน ศก.ไทยโต 4.0%

เศรษฐกิจ

ส่งออก-จีดีพีเทกออฟ

เงินเฟ้อสโลว์ดาวน์ เขย่าเป้า!!!

ฝันหวาน ศก.ไทยโต 4.0%

น่าจะเป็นรอบสุดท้ายแล้วในปี 2560 ที่หน่วยหลักทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี)

ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารโลก หรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แม้แต่หน่วยงานทางวิชาการอย่างศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ต่างกลับมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากต่ำเป็นสูงทั้งสิ้น

โดยพร้อมใจกันปรับเพิ่มตัวเลขการการขยายตัวของจีดีพีจากเดิมกรอบ 3.0-3.3% ไตรมาสแรกของปี ขยับเพิ่มเป็น 3.3-3.6% ช่วงกลางปี

และล่าสุดเพิ่มเป็น 3.7-3.8% บางหน่วยงานคาดหวังถึง 3.9-4.0% ก็มีให้เห็นบ้างแล้ว

ทุกหน่วยงานยกให้ภาคการส่งออกเป็นพระเอก เป็นปัจจัยส่งให้ตัวเลขจีดีพีเติบโตแบบก้าวหน้า จากมั่นใจแล้วและเห็นว่ามูลค่าการส่งออกหลายเดือนกลับมาทำสถิติมากสุดในรอบหลายสิบเดือน

สถิติส่งออก 7 เดือนแรกปีนี้โตได้ถึง 8% จึงมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 7-8% จากต้นปีมองไว้แค่ 3.5-4.0% แล้วขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 4.0-5.0% ในขณะนี้

แม้ทุกครั้งที่มีการปรับตัวเลข ก็จะมีเสียงบ่นถึงปัจจัยกดดันภาคส่งออกของไทย

หนักสุดคงเป็นเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 6-7% แถมทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ทำการค้าจึงอ้างเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันด้านราคา สินค้าไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง และกระทบมากสุดต่อการขายสินค้าเกษตร อีกทั้งส่งออกได้ดีแต่เมื่อทอนเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเงินบาท จะได้น้อยลง!!

แต่ผ่านมา 9 เดือน ดูเหมือนเรื่องค่าเงินบาท ก็ยังเป็นแค่เสียงบ่น ไม่ได้กระเทือนตัวเลขส่งออกในสกุลดอลลาร์สหรัฐ

เพราะแต่ละเดือนตัวเลขส่งออกยังคงระดับมาตรฐาน 1.8-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

บางเดือนเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญด้วยซ้ำ

สะท้อนได้ว่า การส่งออกที่ดีวันดีคืน ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศนำเข้าหลักของไทยและเศรษฐกิจโลก เกือบทุกตลาดจากติดลบในปีก่อนกลับมาเป็นบวก ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีน เมื่อพิจารณาดูรายการสินค้าพบตัวเลขเขียวมากกว่าตัวเลขแดง

ส่วนว่าการส่งออกกลับมาฟื้นตัวจริงและฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแค่ไหน ต้องจับตาดูกันต่อไป!!!

เมื่อย้อนกลับมาดูภาคการบริโภคภายในประเทศ ภาพกลับขัดแย้งกับภาคส่งออก

โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเราๆ เรียกกันว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเครื่องมือสะท้อนเงินในกระเป๋าและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือบริการ

พบว่าไม่มีหน่วยงานใด ปรับเพิ่มตัวเลขเงินเฟ้อ ตรงกันข้ามกลับปรับลดตัวเลขคาดการณ์

เริ่มที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อเหลือ 0.5-1.0% จากเดิม 0.5-1.5%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยืนยันว่าไม่น่าเกิน 1.0%

และกระทรวงพาณิชย์ ประกาศหั่นคาดการณ์ครั้งที่ 4 ลดลงต่อเนื่อง จาก 2.0-2.2% มาอยู่ที่ 0.4-1.0%

เมื่อส่งออกดี การท่องเที่ยวดี และรัฐบาลเองก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ นานา รวมถึงอัดเงินผ่านโครงการก่อสร้างระบบพื้นฐานมากมาย เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อย น่าจะเป็นการเติมเงินในกระเป๋า และกระตุ้นต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าได้เหมือนที่เคยทำกันมา

แต่ครั้งนี้กลับเข็นกำลังซื้อไม่ขึ้น นั่นเพราะเหตุใด!!

ทั้งๆ ที่ตามหลักทางวิชาการ เมื่อตัวเลขจีดีพีขยายตัว 3-4% อัตราเงินเฟ้อน่าจะได้เห็น 1.0-1.5% ไม่ใช่แค่ 0.5%

โดยกระทรวงพาณิชย์ อ้างปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ เพราะประเมินราคาน้ำมันดิบโลกผิดคาด เดิมไว้ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่กลับอยู่แค่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์อย่าง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นเหตุเงินเฟ้อต่ำของปีนี้ ว่า “ต้นปีเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว แต่ฟื้นตัวในภาวะที่พักแข่งขันหั่นราคา ที่เกิดจากนำคอนโดมิเนียมมาเปิดให้บริการแข่งกับโรงแรม ทำให้ธุรกิจเดิมต้องลดราคาแข่ง

พอเข้าไตรมาสสอง เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่เข้าช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว บวกกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คนชนบทจึงไม่มีเงิน และส่งออกยังไม่ได้ฟื้นตัว การใช้จ่ายจึงยังนิ่งๆ

เข้าไตรมาสสาม เศรษฐกิจดีได้แรงหนุนเต็มๆ จากภาคส่งออกโตแรง แต่การฟื้นตัวของส่งออกเกิดจากการระบายสต๊อกเดิมที่คงค้างตั้งแต่ปีก่อนๆ ยังเห็นการเพิ่มกำลังการผลิตหรือจ้างงานเพิ่ม ผู้ใช้แรงงานจึงยังไม่ได้รับอานิสงส์จากส่งออกฟื้นตัว

ก็ต้องมาวัดผลกันต่อในไตรมาสสุดท้ายนี้ ใน 5 ปัจจัย คือ หากส่งออกขยายตัวได้ 7% โครงการลงทุนรัฐเดินได้ตามแผนงาน การท่องเที่ยวกลับมาหลังเดือนตุลาคม เงินกระตุ้นจากโครงการสวัสดิการผู้มีรายได้ และเริ่มเห็นการลงทุนในอีอีซี จะสร้างความรู้สึกในการกล้าใช้จ่ายและดึงราคาสินค้า อาจช่วยดึงเงินเฟ้อขึ้นเล็กน้อยปลายปีนี้ แต่จะสูงขึ้นชัดเจนในปีหน้า เและเห็นเงินเฟ้อเกิน 1.0% แน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อจะสูงแค่ไหนคงต้องดูในเรื่องต้นทุนต่ำลงด้วย จากการนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารจัดการ ทำการค้า และแทนแรงงานคน”

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้า ชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนกดดันเงินเฟ้อ ในเรื่องการจัดทำสินค้าราคาถูกออกมาป้อนผู้ซื้อรายได้น้อย แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าผู้มีรายได้เท่านั้น จะซื้อได้ จึงเกิดการแข่งดั๊มพ์ราคา

อีกมุมมอง นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า “เงินเฟ้ออ่อนไม่ถึงกับติดลบ จึงไม่ถือว่าเป็นภาวะรุนแรงหรือน่าวิตกอย่างไร ให้มองว่าประเทศเรากำลังเหมือนเริ่มฟื้นจากไข้นอนซมมาหลายปี ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปีจากนี้ ถึงจะกลับมาปกติ”

เรื่องเงินเฟ้อที่ต้องจับตาจากนี้ และเริ่มเห็นคำเตือนมาแล้ว คือหากปล่อยให้เงินเฟ้อต่ำอีก สะท้อนความรู้สึกไม่อยากใช้เงินของประชาชน ตรงกันข้ามห่วงเรื่องภัยแล้งจะเกิดขึ้นในปีหน้า พ่นพิษสร้างความเสียหายต่อพืชผลและราคาสินค้าถีบตัวขึ้น เงินเฟ้ออาจสูงถึง 2.0-3.0% อีกครั้งในรอบ 5 ปี

เหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียมากกว่าผลดี และฉุดรั้งเป้าหมายรัฐบาลต้องการดันเศรษฐกิจไทยให้โต 4%