เผยแพร่ |
---|
นักศึกษาในทุกประเทศมีบทบาททางการเมืองมากน้อยแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและตามเงื่อนไขที่เป็นจริงของประเทศ ในบางครั้งบทบาทดังกล่าวจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามเงื่อนไขของสภาวะแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของแต่ละประเทศด้วย และสำหรับการเมืองในประเทศที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่า “ประเทศโลกที่สาม” หรือ “ประเทศกำลังพัฒนา” นั้น ขบวนนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า บทบาทของนักศึกษาเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากการต่อสู้ของการเมืองของประเทศ ขบวนนักศึกษาในสภาพการณ์เช่นนี้จึงเป็นดัง “หัวหอก” อย่างโดดเด่นของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง
ขบวนนักศึกษาไทยในยุคการลุกขึ้นต้านเผด็จการครั้งใหญ่จาก 14 ตุลาคม 2516 จนถึงยุคการถูกปราบปรามครั้งใหญ่ 6 ตุลาคม 2519 ก็อยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว กำเนิดและพัฒนาของขบวนนักศึกษาไทยแยกไม่ออกจากปัญหา 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ การดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการทหารที่ควบคุมการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับจากการรัฐประหาร 2490 และรัฐประหาร 2500/2501 อันส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของการจัดตั้งระบอบการปกครองของทหารในการเมืองไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง การกำเนิดของขบวนนักศึกษาก็คือปฏิกิริยาต่อต้านระบอบการปกครองของทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของขบวนการคนรุ่นใหม่ชุดนี้ก็คือ ภาพสะท้อนถึงทรรศนะที่ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยเริ่มไม่พอใจที่จะอยู่กับระบอบทหาร หรือหากจะตีความในอีกมุมหนึ่งก็คือนักศึกษาคือตัวแทนของครอบครัวชนชั้นกลางที่เติบโตมาจากพัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจไทยนับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และชนชั้นกลางเหล่านี้เริ่มไม่ตอบรับกับระบอบการปกครองของผู้นำทหาร ที่อนาคตของประเทศจะถูกตัดสินจากมุมมองของผู้นำทหารไม่กี่คน อันก่อให้เกิดความรู้สึกที่รับไม่ได้ว่า ประเทศไทยไม่ใช่สมบัติของผู้นำทหารและครอบครัวของพวกเขา… ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในหมู่ของคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประกอบกับเกิดความรู้สึกแบบง่ายๆ ว่า “เบื่อทหาร” และขณะเดียวกันก็รับไม่ได้กับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหาร แน่นอนว่าในสภาวะเช่นนี้คำตอบที่ชัดเจนก็คือ “ทหารต้องออกไป”
บริบทภายนอก
พัฒนาการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปราศจากการเชื่อมต่อกับบทบาทของคนรุ่นใหม่ในเวทีโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเคลื่อนไหวใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศสในปี 2511 (ค.ศ.1968) และตามมาด้วยการเข้าร่วมครั้งใหญ่ของคนงานในฝรั่งเศส ทำให้การก่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเสมือนกับ “การปฏิวัติ 1968” หรือเป็นดัง “การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2” แม้การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ก็ส่งผลสะเทือนต่อความคิดและการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ อันอาจกล่าวได้ว่า ปี 2511 เป็นดังจุดเริ่มต้นของการ “กบฏ” ต่อโลกเก่าของคนหนุ่มสาว จนถือกันว่า โลกของคนหนุ่มสาวคือ “ชีวิตแห่งการกบฏ” ไม่ใช่การยอมศิโรราบต่อโลกเก่า
กระแส “การปฏิวัติ 1968” นั้นยังส่งผลต่อมาถึงการต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา และก็ขยายออกไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งของ “ขบวนการต่อต้านสงคราม” เป็นพลังของคนหนุ่มสาวที่บ่งบอกถึงความไม่พอใจ ไม่ใช่เพียงการทำสงครามของสหรัฐในเวียดนามเท่านั้น แต่พวกเขากำลังส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจต่อ “ระบบเก่า” ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในสังคมของตน และกระแสชุดนี้อีกส่วนหนึ่งเชื่อมต่อเข้ากับการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันในสังคม อันได้แก่ “ขบวนการสิทธิพลเมือง” (Civil Rights Movement) แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกนำไปเชื่อมต่อกับ “กระแสสังคมนิยม” ที่เป็นดั่ง “สินค้าต้องห้าม” และกำลังถูกเปิดให้เห็นอย่างชัดเจนจากความสำเร็จของการปฏิวัติจีนและชัยชนะในคิวบา กระแสชุดนี้ส่วนหนึ่งจึงพัดพาคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งให้กลายเป็น “คนหนุ่มสาวปฏิวัติ” ที่เชื่อในอุดมการณ์ของการเปลี่ยนโลกอย่าง “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน”
จากกระแส “ปฏิวัติ 1968” ส่งต่อมายัง “ขบวนการต่อต้านสงคราม” และเชื่อมต่อเข้ากับ “กระแสสิทธิพลเมือง” และในอีกด้านหนึ่งก็เชื่อมเข้ากับ “กระแสสังคมนิยม” แล้ว คำตอบที่ชัดเจนก็คือโลกของคนหนุ่มสาวกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ถ้ากระแสชุดนี้หันเหออกไปจากสังคมนิยมแล้ว ก็อาจทำให้คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งมุ่งไปสู่ความสุขด้วยการเป็น “บุปผาชน” เวทีคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นกลางทุ่งนาในรัฐนิวยอร์กที่ชื่อ “Woodstock” ได้กลายเป็นตำนานของคนหนุ่มสาวเสรีในยุคนั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้…พวกเขาพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรีเต็มที่โดยไม่นำพากับค่านิยมแบบเก่าใดๆ ทั้งสิ้น
กระแสคนหนุ่มสาวในยุคสมัยดังกล่าวอาจจะดูเหมือนปฏิเสธโลก แต่ว่าที่จริงก็คือพวกเขาปฏิเสธต่อ “ระบบเก่า” ต่างหาก และหันหลังให้กับคุณค่าและค่านิยมเก่าๆ ด้วยการสร้าง “โลกใหม่” ของคนหนุ่มสาวขึ้น และวีรบุรุษของพวกเขาก็คือคนอย่าง เช กูวารา หรือเหมา เจ๋อตุง ดังปรากฏให้เห็นจากการเดินขบวนของคนหนุ่มสาวในหลายประเทศที่มาพร้อมกับการชูรูปของบุคคลทั้งสอง
โลกอาจจะยังไม่เป็นโลกาภิวัตน์ แต่กระแสชุดนี้ก็ไหลบ่าเข้าสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะดูเหมือนมีกระแสสังคมนิยมแทรกเข้ามา แต่โดยเนื้อแท้แล้วกระแสชุดนี้เป็นเสรีนิยม
ที่สำคัญก็คือเป็นเสรีนิยมที่ปฏิเสธแนวคิดของระบอบอำนาจนิยม และยังมีทรรศนะอีกด้วยว่าระบอบอำนาจนิยมไม่ใช่เป็นเพียงระบอบการปกครองของผู้นำทหารในระดับท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่เป็นระบอบการปกครองแบบ “ตัวแทน” ที่ถูกนำไปเชื่อมต่อกับการสนับสนุนของ “จักรวรรดินิยม” สหรัฐ ในเวทีภูมิภาคอีกด้วย อันเห็นได้ชัดเจนจากการจัดตั้งฐานทัพอเมริกันภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลทหารไทย
การขับเคลื่อนภายใน
สำหรับบริบทภายในแล้ว การเติบโตของขบวนการนักศึกษาไม่เพียงสะท้อนปัญหาของชนชั้นกลางที่ปฏิเสธระบอบทหารเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงทรรศนะของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ นิสิตนักศึกษาในสังคมไทยควรจะมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ หรือพวกเขาจะเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อสืบทอดบทบาทการเป็นชนชั้นนำรุ่นต่อไป พร้อมกันนี้ก็อยู่ด้วยการ “ปิดหู-ปิดตา” ต่อการรับรู้ถึงปัญหาของบ้านเมือง คำถามเช่นนี้ถูกตอบด้วยความท้าทายจากบทกวีชื่อ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ของพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ (กูเป็นนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี… บทกวีนี้พิมพ์ในปี 2512) แน่นอนว่าบทกวีเช่นนี้ท้าให้คนหนุ่มสาวในยุคนั้นต้องตอบตัวเองว่าพวกเขาจะอยู่อย่างไร และขณะเดียวกัน บทกวีนี้ก็เป็นเสียงเรียกร้องถึง “พันธสัญญา” ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่อบทบาททางสังคม
ในทางการเมืองแล้ว บทบาทของขบวนคนหนุ่มสาวเริ่มขยับให้เห็นมากขึ้น ทศวรรษของปี 2510 เป็นช่วงเวลาที่เปิด “ยุคแห่งการแสวงหา” อันสะท้อนถึงกิจกรรมในรูปแบบใหม่ ยุค “กิจกรรมนักศึกษา” (student activism) เริ่มเปิดพื้นที่ของกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่หนีห่างจากกิจกรรมเดิมของ “ระบบโซตัส” พร้อมกันนั้นก็เห็นถึงการขยายตัวของการรวมกลุ่มข้ามมหาวิทยาลัยจนนำไปสู่ทั้งการกำเนิดกลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆ และขณะเดียวกันก็นำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ในเวลาต่อมา อันเป็นสัญญาณถึงการก่อตัวของ “ขบวนนักศึกษา” อย่างเป็นจริงในสังคมไทย
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารก็อยู่ด้วยความเชื่อมั่น กองทัพยังมีอำนาจควบคุมสังคมไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในของระบอบการปกครองเดิม เพราะยิ่งอยู่นาน ผู้นำทหารส่วนหนึ่งและเครือข่ายของพวกเขาก็ยิ่งขยายอำนาจและอิทธิพลจนราวกับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของประเทศทั้งหมด แต่ผู้นำทหารอีกส่วนเริ่มหลุดออกจาก “วงจรอำนาจ” และเริ่มมีสถานะเป็น “ผู้สูญเสียผลประโยชน์” ภายในกองทัพ ความขัดแย้งเช่นนี้เริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นการรอสถานการณ์ “สุกงอม” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำทหาร
จุดเปลี่ยน
เช่นเดียวกัน สังคมเองก็เริ่มมีอาการ “เบื่อ” กับผู้นำทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบื่อกับการใช้อำนาจทางการเมือง นับจากกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ที่รัฐบาลทหารพยายามปกป้องความผิดจากการใช้เฮลิคอปเตอร์ออกไปล่าสัตว์ จนกลายเป็นการ “ลูบหน้าปะจมูก” ของรัฐบาลทหารแล้ว ความน่าเชื่อถือของผู้นำทหารในขณะนั้นจึงกลายเป็น “ตัวตลก” สำหรับการจัดละครล้อการเมืองในมหาวิทยาลัย และความน่าเชื่อถือนี้ก็ลดลงตามลำดับเมื่อประเทศต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจในปี 2516 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2516 เหตุการณ์สำคัญของโลกก็คือ การกำเนิดวิกฤตพลังงานครั้งแรกของโลก และไทยก็ต้องเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวด้วย… วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและพลังงานกระแทกเข้ากับรัฐนาวาทหารโดยตรง อันนำไปสู่คำถามถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในการบริหารรัฐไทยในระดับมหภาค
ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้หลายกลุ่มและหลายฝ่ายดูจะมีทรรศนะที่สอดคล้องกันว่า “หมดเวลา” สำหรับรัฐบาลทหารแล้ว การเดินขบวนครั้งใหญ่ของขบวนนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม 2516 จึงสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยที่ต้องการยุติบทบาทของรัฐบาลทหาร ฉะนั้น ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนก็คือยิ่งรัฐบาลปราบปรามนักศึกษามากเท่าใด ก็เท่ากับยิ่งเร่งอายุของรัฐบาลทหารให้จบลงเร็วเท่านั้น และในที่สุดรัฐบาลทหารก็ถูกโค่นล้มด้วยพลังของประชาชนนิสิตนักศึกษาเป็นครั้งแรกและในประวัติศาสตร์การเมืองไทย… การเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลทหารเกิดจากการลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหารในหมู่ผู้นำทหารเช่นในยุคเก่าอีกต่อไป
โลกของการเมืองไทยเปลี่ยน… โลกของผู้นำทหารก็เปลี่ยน… โลกของคนหนุ่มสาวก็เปลี่ยน แต่โลกที่เปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยชุดนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของทั้งการเมืองภายในของไทยและภายในภูมิภาคคู่ขนานกัน ชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่เคยเป็นพันธมิตรกับนักศึกษาในการล้มรัฐบาลทหาร กลับเริ่มมองขบวนนักศึกษาด้วยความหวาดระแวง
และขณะเดียวกันเริ่มมีมุมมองที่ชัดเจนว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามมากกว่ารัฐบาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อว่ารัฐบาลทหารเป็นทางเลือกในการคุ้มครองความมั่นคงไทย มากกว่าจะปล่อยให้พลังใหม่จากขบวนนิสิตนักศึกษาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญก็คือ พวกเขาหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างมาก!
จุดปะทะ
ดังนั้น หลังจากการทดลองพาจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับประเทศไทยในตอนกลางปี 2518 ซึ่งก็เป็นดั่งการทดสอบพลังสนับสนุนทหาร พลังต่อต้านนักศึกษาและคอมมิวนิสต์ อายุของขบวนนักศึกษาก็เป็นดั่งการนับถอยหลัง และเริ่มมีความชัดเจนที่จะพาประเทศกลับสู่ระบอบการปกครองของทหารอีกครั้ง ความพยายามเช่นนี้ประสบความสำเร็จในการฉวยโอกาสต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อมีการนำจอมพลถนอม กิตติขจร กลับประเทศ การล้อมปราบจึงเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และจบลงด้วยการสังหารหมู่ทั้งในส่วนหน้าและภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวันนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นถึงรายชื่อของผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้… ต้นมะขามสนามหลวงที่เคยเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ กลับกลายเป็น “ต้นไม้แห่งความตาย” และน่าตกใจว่าผู้ถูกแขวนคออาจมีถึง 4 หรือ 5 คน
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่โลกของการเมืองไทยเปลี่ยน… โลกของผู้นำทหารเปลี่ยน… โลกของคนหนุ่มสาวก็เปลี่ยน การถูกปราบปรามครั้งใหญ่ในปี 2519 เป็นปัจจัยผลักดันให้คนหนุ่มสาวต้องละทิ้งการเคลื่อนไหวแบบเดิม และเดินทางมุ่งหน้าสู่ชนบทด้วยความมุ่งมั่นด้วยแนวคิด “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” หลังจากปี 2519/2520 แล้ว สงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ขยายตัวในชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนเกิดการประเมินสถานการณ์ว่า อีกไม่นานไทยอาจจะเป็น “โดมิโนตัวที่ 4” ที่จะล้มตามการพ่ายแพ้ของรัฐบาลในเวียดนาม กัมพูชา และลาว อันอาจนำไปสู่การ “ล้มใหญ่” ตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสำเร็จของการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 เริ่มจะกลายเป็นความล้มเหลวได้ไม่ยากนัก สัญญาณที่บอกถึงการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์หลังจากการสังหารหมู่ครั้งนั้น กลับกลายเป็น “ปัญหาความมั่นคง” ชุดใหม่ทั้งของไทยและของภูมิภาค
จุดปรับ
ความกลัวต่อชัยชนะของสงครามคอมมิวนิสต์กลายเป็น “แรงกดดัน” ให้ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยต้องปรับตัวและยอมรับกับความเป็นจริงว่า การเมืองต้องเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถถอยกลับสู่รูปแบบของรัฐบาลทหารแบบเก่าได้อีกต่อไป เพราะการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารคือเงื่อนไขของการพ่ายแพ้สงครามเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในเวียดนามและกัมพูชา โดมิโนไม่ได้ล้มลงเพราะคอมมิวนิสต์เข้มแข็งกว่า แต่ล้มเพราะรัฐบาลทหารอ่อนแอกว่า และล้าหลังเกินกว่าที่จะปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เอาชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งตัดสินใจล้มรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในปี 2519 และยอมเปิดระบบการเมือง โดยทหารยังมีอำนาจในการควบคุมอยู่ อันนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในยุคนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และยุคนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมกันนี้ก็ได้ตัดสินใจปิดฉากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ด้วยการประกาศนิรโทษกรรมทั้งหมด และขณะเดียวกันก็ปรับยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคง จนกลายเป็น “ยุทธศาสตร์ใหม่” ด้วยการประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525
ผู้นำทหารตัดสินใจ “ถอดชนวน” สงครามปฏิวัติในการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ป่าแตก” ที่ทำให้นักศึกษาและสมาชิกที่เข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท.เดินทางกลับจากชนบท แล้วสงครามภายในของสังคมไทยก็ค่อยๆ ลดระดับความรุนแรงลง จนต้องยอมรับในขณะนั้นว่าไทยเป็นตัวแบบของ “สังคมสมานฉันท์” ได้อย่างดี
และในขณะเดียวกัน ชีวิตของขบวนการนักศึกษาที่เคยพุ่งสู่จุดสูงสุดด้วยความร้อนแรงในปี 2516-2519 ก็ค่อยๆ ลดระดับลง และแม้นขบวนนี้จะพลิกฟื้นฐานะอีกครั้งในการเข้าร่วมการต่อสู้กับประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลทหารในเดือนพฤษภาคม 2535 จนเป็นชัยชนะอีกครั้งที่ระบอบทหารถูกโค่นล้มด้วยพลังของประชาชนนิสิตนักศึกษา
จุดพลิกผัน
แต่หลังจากชัยชนะในปี 2535 แล้ว กิจกรรมนักศึกษาก็เผชิญกับการท้าทายครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งโลกของสังคมการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ภายใน และขณะเดียวกันการเผชิญหน้าใหญ่ของยุคสงครามเย็นในเวทีโลกก็สิ้นสุดลงด้วย สัญลักษณ์ของการ “ทุบกำแพงเบอร์ลิน” อันเป็นผลจากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีในปลายปี 2532 ปรากฏการณ์ที่บ่งบอกโดยตรงถึงการหมดศักยภาพของระบบสังคมนิยม และการสิ้นสุดการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซียและในยุโรปตะวันออกเป็นคำยืนยันที่ชัดเจนในกรณีนี้ การเมืองโลกชุดเก่าถึงจุดจบลงแล้ว โลกชุดใหม่กำลังก่อตัวขึ้นและถูกพัดพาด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสังคมไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กระแสนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้วันนี้กระแสโลกาภิวัตน์จะถูกท้าทายจากกระแสขวาจัดที่อยู่ในรูปแบบ “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) ด้วยชัยชนะในการพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (2559) และตามมาด้วยชัยชนะของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (2559) และล่าสุดคือเสียงที่เพิ่มมากขึ้นของพรรคปีกขวาในการเลือกตั้งในเยอรมนี (2560) แต่คำถามที่ไม่เปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็คือ บทบาทของคนหนุ่มสาวในยุคโลกาภิวัตน์แบบปัจจุบันควรจะเป็นอย่างไร… นักศึกษาจะดำรงอยู่ด้วยการมีบทบาททางการเมืองที่เหมาะสมเช่นไร และแน่นอน ไม่ใช่คำถามว่า นักศึกษาควรยุติบทบาททางการเมืองหรือไม่
สำหรับบริบทของสังคมไทยแล้ว ประเด็นสำคัญก็คือ กิจกรรมนักศึกษาจะสามารถนำไปสู่การจัดตั้ง “ขบวนนักศึกษา” ขึ้นในสังคมได้อีกครั้งหรือไม่ และขบวนนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเก่า และทำอย่างไรที่กิจกรรมเช่นนี้จะสามารถพาคนหนุ่มสาวไทยในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคโลกาภิวัตน์ให้เกิด “สำนึกสังคม” เหมือนเช่นที่พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยทวงถามอย่างท้าทายมาแล้วในยุคแห่งการแสวงหาครั้งก่อน อีกทั้งเป็นไปได้หรือไม่ที่มหาวิทยาลัยจะไม่ใช่ “สวนสนุก” ของคนหนุ่มสาว ที่เข้ามาใช้ชีวิตด้วยความบันเทิง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง “พันธสัญญา” ทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น
อนาคตและความฝัน
อย่างไรก็ตาม ในโลกที่เปลี่ยนแปลง บทบาทของคนหนุ่มสาวก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน บทบาทของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทย (แม้ว่าในกรณีของไทยจะถูกขีดวงจำกัดและถูกกดดันอย่างมากก็ตาม) กำลังบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในยุคอินเตอร์เน็ต โลกาภิวัตน์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสื่อใหม่ทำให้โลกของพวกเขาเล็กลง และมีพื้นที่ให้แก่การเปิดบทบาทใหม่มากขึ้น จนอาจต้องเฝ้ามองด้วยความสนใจต่อการก่อตัวของขบวนการคนหนุ่มสาวในเอเชีย (ไม่ใช่แต่ในไทย) ซึ่งไม่ต่างกับทุกยุคทุกสมัยที่การก่อตัวของขบวนการคนรุ่นใหม่จะต้องฝ่าข้ามอุปสรรคและก้าวข้ามเครื่องกีดขวางต่างๆ ให้ได้ แต่อย่างน้อยการปรากฏตัวของพวกเขาในภูมิภาคในวันนี้บ่งบอกถึง “คบเพลิง” แห่งการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ดับมอดลง และกำลังถูกจุดให้สว่างขึ้นอีกครั้ง
ดังนั้น วาระครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่เวียนมาถึง อาจจะเป็นเครื่องเตือนใจถึงการต่อสู้ในยุคหนึ่งของขบวนนักศึกษาในการเรียกร้องหาเสรีภาพและประชาธิปไตย และเรื่องราวเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าบทบาทของนักศึกษากับการเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ แม้วันนี้สถานการณ์ในไทยอาจจะผันแปรไป ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองกลายเป็นสภาวะของการ “เปลี่ยนไม่ผ่าน” เสรีภาพและประชาธิปไตยที่เคยถูกเรียกร้องหาในปี 2516 และ 2535 กลายเป็นดั่ง “นักโทษที่ถูกจองจำ” ในเวทีการเมืองไทย และ “เสรีนิยม” ถูกผลักกลับสู่ “เสนานิยม” เช่นในอดีตอย่างน่าฉงน จนอาจกล่าวได้ว่า กระแสโลกาภิวัตน์ทางการเมืองในไทยกลับถูกตีกลับด้วยกระแสอนุรักษนิยมอย่างคาดไม่ถึง ทั้งที่กระแสอนุรักษนิยมในเวทีโลกย้ายออกไปจากระบอบทหารแล้ว แต่เรากลับเห็นถึงขบวนคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งก็เป็นความหวังว่า การก่อตัวเช่นนี้จะมีนัยสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของเอเชียจากแรงขับเคลื่อนของคนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นว่า “คนหนุ่มสาวคือพลังของการเปลี่ยนแปลงโลก” และการเปลี่ยนแปลงนี้มีเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นธงนำ
ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะฝันได้หรือไม่ว่า สักวันหนึ่ง การก่อตัวดังกล่าวอาจจะเป็น “กระแสเอเชีย” ที่ส่งสัญญาณถึงบทบาททางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เหมือนกับกระแส “ปฏิวัติ 1968” ของนักศึกษาในฝรั่งเศส หรือครั้งหนึ่งในอดีตของเอเชียก็คือ กระแส “4 พฤษภาคม” ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาจีนในปี 2462 (ค.ศ.1919) และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็หวังว่าการเคลื่อนไหวในไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสชุดนี้ ที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ต้องคิดคำนึงถึงอนาคตของประเทศมากขึ้น…
การคิดเช่นนี้อาจจะเป็นดั่ง “ความฝัน” แต่ก็มิได้หมายความว่า เราควรจะเลิกฝันถึงสังคมที่ดีกว่าในอนาคตที่มีคนหนุ่มสาวเป็นพลังมิใช่หรือ!