รัฐบาลทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ (2)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

รัฐบาลทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ (2)

 

การทำผิดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นเรื่องที่มีความรุนแรง ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นคณะรัฐมนตรีเสียเอง ย่อมสามารถใช้เป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ไต่สวนในข้อหา “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ตามมาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้

พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2564 เพื่อใช้เป็นงบประมาณของแผ่นดิน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564 ถึง 30 กันยายน พ.ศ.2565

ในพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับดังกล่าว ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีหลักฐานที่ระบุชัดว่า รัฐบาลชุดนี้กระทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐอยู่ 2 จุด ที่เป็นปัญหาร้ายแรง คือ ประการแรก เป็นการตั้งงบประมาณโดยมีรายจ่ายเพื่อการลงทุน ต่ำกว่าร้อยละ 20 และ ประการที่สอง มียอดเงินกู้สูงกว่ายอดงบฯ ลงทุน

 

สัดส่วนงบฯ ลงทุนต่องบประมาณ

ต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นความผิดของใคร

คําอธิบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ณ วันที่เสนองบประมาณเข้าสภา ตัวเลขสัดส่วนงบลงทุนนั้นมากกว่าร้อยละ 20 แต่เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาแล้วตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงน้อยกว่า 20 จึงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่า ในวันที่รัฐบาลนำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 สัดส่วนของงบลงทุนต่องบประมาณ คือร้อยละ 20.14 เกินกว่าร้อยละ 20 โดยมียอดของงบลงทุนอยู่ที่ 624,399.9 ล้านบาท

แต่เมื่อผ่านการพิจารณาจากสภา ยอดงบฯ ลงทุนลดลงเหลือเพียง 611,933.4 ล้านบาท หรือหายไป 12,466.5 ล้านบาท

ทำให้สัดส่วนลงเหลือเพียงร้อยละ 19.74 ซึ่งเป็นการผิดวินัยการเงินการคลังภาครัฐ

คำอธิบายในเรื่องดังกล่าวคือ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณอยู่ในขั้นการพิจารณาวาระที่สอง มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี กรรมาธิการได้มีการตัดรายการงบฯ ลงทุนที่ไม่จำเป็นออกตามหน้าที่ของกรรมาธิการซึ่งเป็นปกติของการพิจารณางบประมาณในวาระที่สอง

แต่เมื่อตัดงบฯ ลงทุนที่ไม่เหมาะสมออกไป แทนที่รัฐบาลจะแปรญัตติรายการงบฯ ลงทุนเข้ามาเพิ่มเพื่อให้ได้สัดส่วนงบลงทุนร้อยละ 20 กลับนำไปไว้ในงบฯ กลาง ร่วมกับรายการงบฯ ดำเนินการอื่นๆ ที่ถูกตัด ในรายการที่ชื่อใหม่ว่า “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเงิน 16,362 ล้านบาท

เงินจำนวนดังกล่าว ถือเป็นงบฯ ดำเนินงาน ไม่ใช่งบฯ ลงทุน

การที่รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่า สภาเป็นฝ่ายตัดนั้นอ้างไม่ได้ เพราะสภามีหน้าที่ตัด ส่วนรัฐบาลต้องมีหน้าที่เป็นฝ่ายเติมเพื่อคงสัดส่วนงบฯ ลงทุนให้ได้ร้อยละ 20 เท่าเดิม จะมาอ้างว่าสภาตัด เป็นความผิดของสภาคงไม่ได้

ยิ่งชื่อบุคคลที่ทูลเกล้าฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

 

การชี้แจงข้อมูลที่เป็นเท็จ

กรณียอดเงินกู้มากกว่างบลงทุน

ยอดเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของปีงบประมาณ 2565 คือ 700,000 ล้านบาท โดยมียอดรายจ่ายเพื่อการลงทุนเพียง 611,933.4 ล้านบาท เป็นยอดที่สูงกว่าถึง 88,066,6 ล้านบาท เป็นการผิดวินัยการเงินการคลังนับแต่วันที่นำเสนองบต่อสภา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อ้างต่อสภาผู้แทนราษฎรว่ายังมียอดรายจ่ายเพื่อการลงทุน จากโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP : Public-Private-Partnership) มาชดเชย

แต่เมื่อตรวจสอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2565) ของสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจกระทรวงการคลัง กลับพบรายการร่วมลงทุนของปี พ.ศ.2567-2570 ที่ลงนามแล้วเสร็จเพียง 2 โครงการ โดยลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2564 เป็นมูลค่าการลงทุนรวมกันเพียง 11,260 ล้านบาทเท่านั้น

ยอดเงินกู้ที่กู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุล จึงมิได้นำมาใช้ในการลงทุนตามราคาคุย เพราะแม้จะหักลบจากเงินลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ก็ยังเกินกว่างบฯ ลงทุนกว่า 76,000 ล้านบาท

 

ทำผิดวินัยการเงินการคลังภาครัฐแล้วอย่างไรต่อ

แม้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จะไม่มีบทบัญญัติในเรื่องบทลงโทษ แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 62 วรรคแรก เขียนไว้ชัดเจนว่า “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”

และในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ยังเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคมและต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด”

หลักฐานโจ่งแจ้งขนาดนี้ ไม่เรียกว่าผิดทั้งรัฐธรรมนูญและทั้งผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว