หนูน้อยหมวกแดง (ฉ.เลือดสาด) – Freeway (1996) Little Red Riding Hood (Blood Hard)

La finta nonna (Little Red Riding Hood) ที่เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ของอิตาลีนั้น หนูน้อยหมวกแดงใช้ไหวพริบของเธอเอาชนะหมาป่าได้ด้วยตนเอง โดยไม่ได้ร้องขอหรือได้รับความช่วยเหลือจาก “เพศชาย” แต่อย่างใด

ซึ่งในภายหลังได้มีการเพิ่มตัวละคร “คนตัดไม้” (Woods man) เข้าไป เพื่อลดทอนบทบาทของหนูน้อยหมวกแดง

โดยแสดงให้เห็นว่าเพศหญิงนั้น ยังคงต้องการความช่วยเหลือปกป้องจากบุรุษเพศที่แข็งแรงกว่า

การนำนิทานมารีเมกใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ก็มีให้เห็นมาแล้วไม่น้อย ยิ่งหนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชั่นคนแสดงด้วยแล้วน่าจะมีมากเกินว่านิ้วนับ! (เช่น Hard Candy-มุมกลับของหนูน้อยหมวกแดงที่เอาตัวเข้าเป็นเหยื่อล่อหมาป่าเสียเอง หรือ The Woods Man-นักโทษกลับใจอยากเป็นคนตัดไม้ที่คอยช่วยเหลือเด็กจากหมาป่าหิวกระหาย เป็นอาทิ)

หนึ่งในนั้นที่ผู้เขียนอยากหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังก็คือเรื่องนี้

Freeway เปิดเรื่องด้วยภาพการ์ตูน “หมาป่ากำลังวิ่งไล่หญิงสาว” เพียงแค่ฉากแรกฉากเดียวก็แสดงพฤติกรรมของการถูกกระทำได้เป็นอย่างดี

เพราะในฉากถัดมา เราจะได้เห็นหญิงในชุดแดงยืนขายบริการอยู่ริมถนน และตัวเอกของเรื่อง วาเนสซ่า ลักซ์ (Reese Witherspoon) ก็ใส่เสื้อ “สีแดง” ขณะซ้อนจักรยานแฟนหนุ่มกลับบ้าน (แฟนของเธอเป็นคนผิวดำเสียด้วย) “บ้าน” ในความหมายซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ใช้ร่วมกับคนในครอบครัว แต่สภาพครอบครัวของเธอก็ถูกตอกย้ำด้วยภาพซ้ำๆ (Motif) อันเลวร้ายด้วยบริบทแวดล้อมอันฟอนเฟะ ทั้งแม่ที่เป็นโสเภณี และมีพ่อเลี้ยงขี้เหล้า ติดยา และกระทำลวมลามต่างๆ กับเธอ

หนังนำเสนอพฤติกรรมเบื้องต้นและที่มาที่ไปของวาเนสซ่าโดยสังเขป พอให้ทราบเลาๆ ว่าเธอเติบโตมาในที่แบบไหนและต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะหลังจากที่แม่ของวาเนสซ่าโดนจับข้อหาค้าประเวณี พ่อเลี้ยงโดนจับกุมข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ วาเนสซ่า (หนูน้อยหมวงแดง) จึงเลี่ยงที่จะไปอยู่สถานสงเคราะห์โดยการหนีจากแอล.เอเพื่อที่จะไปหาคุณย่าที่สต็อกตั้น (หนังเน้นย้ำความเป็น “เหยื่อ” ของสตรีเพศถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ยังใส่ชุดแดง!)

และไม่นานหลังจากที่เธอหนี ขณะที่รถของเธอเสียอยู่กลางถนนหมาป่าบนฟรีเวย์ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น…

มันมาในคราบของสุภาพบุรุษมาดเนี้ยบ!

บ๊อบ วอลเวอร์ตั้น (Kiefer Sutherland) อาสาจะไปส่งเธอ วาเนสซ่าจึงไม่รีรอที่จะขึ้นรถไปกับมัน

จากนั้น “หมาป่า” ก็เริ่มกล่อมเธอด้วยอุบายต่างๆ ทันที บ๊อบบอกวาเนสซ่าว่าเขาเป็นนักจิตวิทยายินดีรับฟังปัญหาทั้งหมดเพื่อช่วยให้เธอรู้สึกผ่อนคลายขึ้น

แต่สำหรับบ๊อบแล้ว (หมาป่า) มันคือชั้นเชิงการหลอกล่ออันแยบยล รอคอยจังหวะให้เธอ (หนูน้อยหมวกแดง) ตายใจแล้วจึงลงมือจัดการ (กิน!)

ใบหน้าของบ๊อบขณะพูดหรือสายตาลวนลามของเขาดูน่ากลัวโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของผู้ล่าตัวฉกาจที่ซุกซ่อนความเงียบกริบรอสังหาร

หลักการจิตวิทยาของเขาจึงค่อยๆ วินิจฉัยลงลึกมากขึ้น เลยลามไปถึงเรื่องกามรมณ์ต่างๆ ที่บ๊อบคอยกระตุ้นให้เธอแพร่งพรายออกมาในลักษณะที่ว่าเธอรู้สึกกับมันแค่ไหน อย่างไร จริงๆ แล้วเธอชอบมันใช่ไหม

จนวาเนสซ่าเริ่มเหลืออดเหลือทนต่อคำพูดคำจาที่โดนดูถูกเหยียดหยาม กระทั่งจุดพลิกผันของเรื่องจึงดำเนินมาถึงในแบบไม่คาดฝัน เมื่อหนูน้อยหมวกแดงฉบับนี้เลือดเดือดเหลือเกิน!

หลังจากเป็นฝ่ายถูกหลอกคุกคามมาตลอดทางบนท้องถนน เมื่อถึงขีดสุดเจ้าหมาป่าก็เผยโฉมธาตุแท้ของมันออกมา

เขาบอกความจริงโดยไม่ปิดบังว่าตัวเขาคือ “ฆาตกร I5” ฆาตกรฆ่าข่มขืนที่ตำรวจกำลังตามจับตัวอยู่

โฉมหน้าสุภาพบุรุษนักจิตวิทยาจึงเผยให้เห็นว่าเขาเกลียดหญิงสาวขายบริการมากแค่ไหน

จนถึงกับเรียกพวกหล่อนว่าเป็น “ขยะของสังคม”

จากนั้นหนังจึงนำเสนอแง่มุมความเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม เพื่อเข้ามาสอดรับต่อการกระทำดังกล่าว (หรือการถูกต้อนให้จนมุม) ของวาเนสซ่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นสถานควบคุมความประพฤติที่เธอเล่าว่า ถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่กลับฟ้องร้องใครไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อความเป็นเด็กเหลือขออย่างเธอ แม้กระทั่งการที่เธอถูกข่มขู่จากนักจิตวิทยา ฆาตกรฆ่าข่มขืนว่า “ไม่มีใครเชื่อเรื่องที่เธอพูดหรอก ถ้าส่งฉันให้ตำรวจ”

มันจึงกลายเป็นสิ่งกระตุ้นจิตสำนึกเบื้องลึกให้เธอต้องลงมือจัดการเสียเอง

เราจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอจึงไม่รั้งรอที่จะเหนี่ยวไกยิงเขาเสียเกือบตาย เพราะไม่ว่าอย่างไรเธอก็คือคนผิดที่ถูกสังคมบัญญัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ป่วยการที่เธอจะเห็นชอบต่อกฎหมาย…แต่ทว่ากฎหมายก็ล่ามเธอเอาไว้อยู่ดี

โดยภาพรวมของหนัง Free Way หรือ หนูน้อยหมวกแดง ฉบับเลือดสาด เรื่องนี้ล้วนบ่งบอกภาพลักษณ์ความเป็นหญิงเก่งและการพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากใคร

เธอเป็นคล้ายกับนักสืบสตาร์ลิงใน Silence of the lambs ตรงที่ความแกร่งกร้าวและฉลาด (เพียงแต่ดิบและโหดกว่า) แตกต่างกันตรงที่ทุกคนต่างยอมรับในความสามารถของนับสืบสตาร์ลิง แต่วาเนสซ่าแล้วกลับไม่มีใครเหลียวแลเลย

หนังจึงจบลงด้วยภาพรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และชัยชนะที่เธอได้รับจากการกำจัดเจ้าหมาป่าลงได้อย่างราบคาบ โดยปราศจาก “คนตัดไม้” เข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด

เครดิตภาพประกอบ http://www.bluelight.org/vb/threads/424481-Film-Freeway