ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (2) : รัชกาลที่ 9 พระราชทานความเห็นเรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทย/บทความพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บทความพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (2)

: รัชกาลที่ 9 พระราชทานความเห็นเรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทย

 

เมื่อหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล แนะนำผู้เข้าร่วมชี้แจงเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสบางตอนว่า

ก่อนอื่นต้องขอขอบใจและแสดงความยินดีที่มีการก่อตั้งชุมนุมภาษาไทยเพื่อรักษาและศึกษาเรื่องภาษาไทย และขอขอบใจที่ต้อนรับในวันนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายไม่ได้เชิญมา แต่ว่าเชิญตัวเองมา เพราะสุดแสนจะทนทาน

การที่มีชุมนุมภาษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง เพราะว่าภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่งเช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น

ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี

ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้

ปัญหาเฉพาะในการรักษาภาษานี้มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นที่ปัญหาสำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้

ที่โต๊ะนี้ก็มี “ศัพท์บัญญัติกร” หลายท่าน นี่ก็ได้เป็นศัพท์บัญญัติกรไปอีกคนหนึ่ง มีคนเดียวที่ไม่ใช่คือ อาจารย์สุมนชาติ

การบัญญัติศัพท์ใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน จำเป็นแต่อันตราย ฉะนั้น ในปัญหาทั้งสามนี้ วันนี้นึกถึงปัญหาที่สามเป็นใหญ่ แต่ปัญหาเรื่องการออกเสียงนั้นก็อันตรายอย่างยิ่ง นึกถึงคำว่า มหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ทางโทรทัศน์หรือทางวิทยุได้ยินว่า “หมาวิทยาลัย” กลายเป็น “วิทยาลัยหมา” ออกจะอันตราย ซึ่งเรายอมไม่ได้ บางอย่างเรายอมได้ อย่างคำว่า “ฉัน” ที่จริงเขียนว่า “ฉัน” แต่ว่าพูดกัน “ชั้น” ทั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมไว้บ้าง แต่บางทีก็เกินไปหน่อย กลายเป็นอย่างอื่นในคำว่า “ฉัน” นี่

คำว่า “น้าม” เขียนว่า “น้ำ” แต่ออกเสียง “น้าม” นี่เราก็ต้องยอมรับ อย่างนี้ไม่เป็นไร แต่คำว่า “มหาวิทยาลัย” เราอย่ายอม แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาต่างๆ และบางสิ่งบางอย่างเราต้องยอม บางสิ่งบางอย่างเราต้องคัดค้านอย่างเด็ดขาด…

ในด้านบัญญัติศัพท์หรือคำใหม่ก็เป็นทางหนึ่งที่อันตรายมากเหมือนกัน แต่ขอพูดอีกอย่าง วิธีพูดหมายถึงใช้คำมาเป็นประโยคหรือใช้คำมาแสดงเป็นความคิด ซึ่งได้ยินมามากในทางข่าว…

แล้วทรงยกตัวอย่างและทรงอธิบายที่มาของคำว่า “อุบัติเหตุ” ในภาษาอังกฤษ ระหว่าง accident กับ incident ฟังข่าววิทยุซึ่งผิดอย่างร้ายที่สุด เพราะว่า accident เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีมนุษย์ต้องการ ส่วน incident นั้น ถ้าจะอธิบายก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุที่เกิดขึ้น แต่โดยที่มีความต้องการของมนุษย์ ไปใช้ “อุบัติเหตุ” ก็ไม่ถูก…

สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่ใช่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก แต่อาจเป็นด้วยเห็นว่าไม่โก้พอก็ต้องใช้คำใหม่ๆ

แต่การตั้งคำใหม่นั้นมีหลักหลายประการ และผู้ตั้งคำนั้นต้องรู้คำและหลักของภาษาลึกซึ้งทั้งภาษาไทย ทั้งภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษ ต้องทราบถึงภาษาอื่นๆ ด้วย ต้องทราบถึงหลักภาษาอังกฤษเอง คือ มาจากไหน มาจากความคิดอะไร เพื่อจะไม่ให้ผิดไปอย่างตลกขบขันทีเดียว…

จากนั้น พระองค์ทรงยกคำว่า “รถบัส” มาขยายความก่อนจะเป็นคำว่า “รถบัส” แล้วทรงแสดงความคิดเห็นถึงคำใหม่ๆ อาจทำให้ภาษาเราไม่มีความหมาย ภาษาเราอาจเป็นภาษาที่ไม่มีหลักเลย เรียกว่า ไม่มีบ่อเกิด เพราะว่าบ่อเกิดผิดมาหมด บิดเบี้ยวมาจนกระทั่งภาษาไม่เป็นภาษาก็มีปัญหาต่างๆ ที่ว่าเอาไว้แล้ว

ขอให้ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะที่ผู้มาจะเรียกว่า “วิทยากร” ก็ไม่ค่อยชอบคำนี้ “ศัพท์บัญญัติกร” ก็ชอบเพราะว่าตั้งเอง ขอให้ท่านศัพท์บัญญัติกรทั้งหลายได้แสดงความเห็น

 

เมื่อจบบางตอนของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงออกความเห็น

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์กราบบังคมทูลแสดงความคิดเห็นว่า… หลักการที่พระราชทานพระบรมราโชวาทนั้นเป็นหลักที่ถูกต้องอย่างยิ่ง คิดด้วยเกล้าฯ ว่าไม่มีใครแย้ง แม้ “ศัพท์บัญญัติกร” เช่นข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นด้วย คำว่า “ศัพท์บัญญัติกร” นี้ก็ถูกต้องในการบัญญัติศัพท์ เพราะว่า “บัญญัติ” นั้นเป็นกิริยา เมื่อเอา “กร” ต่อเข้าก็ใช้ได้

ส่วน “วิทยากร” นั้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้คิดและก็ไม่ค่อยชอบนัก แต่การเติม “กร” ข้างหลังนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นผู้ให้ตัวอย่าง แต่เขาใช้กันเฝือไป เช่นคำว่า “บุคคลากร” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เขียน บุคลากร) ซึ่งราชบัณฑิตยสถานให้ผ่านไป เขาจะใช้ให้แปลว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่เราเรียกกันว่าทะเบียนประวัติ แต่ทำไมไม่เรียกว่า เจ้าหน้าที่ทะเบียนประวัติ ต่อไปไม่ทราบเกล้าฯ ขอให้แปล Personnel Officer ว่าบุคคลากร

ในที่สุดราชบัณฑิตยสถานก็บอกว่า บุคคลากรนั้นถ้าจะแปลว่า Personnel ก็พอไปได้ เพราะประกอบด้วย บุคคล + อากร แปลว่า หมู่บุคคล คือเจ้าหน้าที่ แต่ที่เรียกว่า “เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพนักงาน” ก็เป็นที่เข้าใจกัน อย่างเช่นว่า ป่าไม้จังหวัด ป่าไม้อำเภอ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ ราชบัณฑิตยสถานว่าใช้บุคคลากรก็ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ขอแย้งนิดหน่อย ราชบัณฑิตยสถานทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าเป็นหน้าที่ของผู้มีวิชา ไม่ใช่วิทยากร มีวิชาที่เป็นหลัก ต้องไม่ยอมตามอำนาจของผู้ใด แม้สมาชิกราชบัณฑิตยสถานจะเป็นรัฐมนตรี ไม่ควรจะยอมเพราะเป็นเรื่องสมบัติของชาติ ขอแย้งแค่นี้

…พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงอธิบายต่อไปว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น ต่อไปข้างหน้าที่ปรึกษาจะไม่ยอม…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า การที่เสด็จพระองค์วรรณฯ มีรับสั่งนั้น ก็เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า ต่อไปจะเข้มงวด จะดำเนินมาตรการที่เข้มงวด

คำว่า “ดำเนินมาตรการ” นี่ก็เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษอีกแล้ว ซึ่งขอโจมตีอีกอัน เพราะว่าดำเนินมาตรการนั้นก็คงมาจากภาษาอังกฤษของสำนักข่าว รู้สึกว่าควรจะหาคำอื่นมาใช้ ไม่ควรจะใช้คำว่า ดำเนินมาตรการ อย่างนี้

ดำเนินมาตรการ นั้น แปลว่า take measures คำว่า take measures นั้น ในภาษาอังกฤษก็หมายถึงเมื่อเกิด incident เกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ต้องจัดการ ต้องดำเนินกิจการที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่นนี้จะบอกว่า ดำเนินมาตรการ ก็ไม่ถูก ก็ควรจะใช้อย่างอื่น แต่ไม่ทราบว่าควรจะใช้อะไร อาจใช้ว่า “จัดการ” หรือ “ปราบปราม” หรืออะไรก็ได้ เรามีคำใช้เยอะแยะไป ก็ควรขอให้ช่วยกันหา ไม่จำเป็นต้องหาจากสันสกฤตบาลีก็ได้ ภาษาไทยเราเองก็คงมี

 

ครั้นแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ออกความเห็น

หม่อมหลวงบุญเหลือกราบบังคมทูลว่า ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกล่าวแก่ที่ประชุมโดยไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ เพราะว่าไม่เคยเป็นข้าราชการฝ่ายใน เคยเป็นแต่ข้าราชการฝ่ายหน้า ไม่ค่อยจะได้ใกล้ชิดพระยุคลบาท คงจะมีการพลาดพลั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ให้อนุญาตน่ะให้ละ แต่ขอให้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ราชาศัพท์นั้นเป็นภาษาวรรณคดี ทุกคนควรจะทราบ โดยเฉพาะในคณะอักษรศาสตร์นี้

หม่อมหลวงบุญเหลือกราบบังคมทูลต่อไปว่า ถ้าทรงมีพระราชประสงค์เช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะพยายาม แต่ว่า…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไม่ใช่ต้องการให้ทำอย่างนั้น แต่ก็ขออย่าได้ออกตัวว่าไม่ทราบ เพราะขายหน้านักเรียน แต่ว่าในการจะพูดกับที่ประชุม อนุญาตทุกเมื่อ เพราะว่าอย่างอาจารย์สุมนชาติและเสด็จในกรม และผู้ที่พูดต่อที่ประชุมไม่ต้องขอเดชะ อนุญาตให้ทั้งนั้น

หม่อมหลวงบุญเหลือกล่าวต่อไปว่า ใคร่อยากจะเรียนต่อที่ประชุมว่า เมื่อดิฉันเรียนเป็นราชาศัพท์นั้นอาจผิดพลาดบ้าง ขออย่าจำเอาไปใช้ เพราะว่าการใช้ราชาศัพท์ ถ้าเอาไปใช้ในการแต่งบทประพันธ์หรือวรรณคดีนั้นเราใช้ได้เป็นศิลปะ แต่เมื่อใช้ราชาศัพท์ต่อองค์พระมหากษัตริย์นี้ เราต้องรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี จะต้องเรียนจริงๆ จังๆ จะต้องใช้เวลา แล้วก็จะต้องมีความชำนิชำนาญในการที่จะใช้ นี่เป็นการเตือนเพื่อนครูภาษาไทยว่า เมื่อได้ฟังใครเขาใช้ราชาศัพท์ไม่ใช่ว่าจะถูกทุกทีไป คือว่าควรจะคอยถามหลายๆ คนว่าใช้อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

ในเรื่องการบัญญัติศัพท์นั้น สำหรับดิฉันเองไม่เคยบัญญัติศัพท์อื่นนอกจากศัพท์เทคนิคทางการศึกษา แต่ว่าใคร่จะได้ทูลให้กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงทราบ คำว่า “บุคคลากร” นั้น เวลาที่คิดคำนี้ขึ้นใหม่ ดิฉันยังเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ว่าเหตุใดจึงมีคนไปทูลว่าแปลว่า เจ้าหน้าที่ ก็ไม่ทราบ

เพราะคำว่า “บุคคลากร” นี้ เมื่อครั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ มีคนเถียงกันว่า คำว่า Personnel นี้จะใช้อะไร ดิฉันบอกว่า “ตัวบุคคล” ก็ดีแล้ว งานการนั้นมีเงินแล้วขาดตัวบุคคล บางคนบอกว่าไม่ชอบคำว่า “ตัว” ก็ว่าอย่างนั้นก็ให้ใช้ “บุคคล” ก็บอกกันว่ามันไม่ใช่บุคคล มันเป็นบุคคลที่จะทำงาน ครั้นบอกว่าก็ใช้ว่า “บุคคลที่จะทำงาน” ไม่ได้หรือ ก็ว่ามัน 5 พยางค์ ก็มีคนเสนอว่า “บุคคลากร” และก็มีผู้ที่เชื่อถือว่ารู้บาลีก็บอกว่า “อากร” แปลว่าหมู่ เช่นว่า ดารากร ก็หมู่ดาว เพราะ “บุคคล” เข้ากับ “อากร” ก็เป็นหมู่บุคคลได้ แต่ว่าเราใช้ในที่เฉพาะเท่านั้น

เพราะคำในภาษาไทยบางคำที่ประชาชนนำไปใช้มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่ใช้วิชาการนั้นมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่นในศาล คำว่า “ฟ้อง” กับคำว่า “ร้อง” มีความหมายเฉพาะ แต่ประชาชนใช้ปนกันว่า “ฟ้องร้อง”

ฉะนั้น บุคคลากร นี่แปลว่าหมู่บุคคลโดยศัพท์ก็จริง แต่ว่าทางวิชาการเราจะใช้ว่า หมู่บุคคลที่ใช้เฉพาะงาน เป็นอันตกลงกัน แต่ที่จะไปแปลว่า เจ้าหน้าที่ นี่เข้าใจจะเป็นการเข้าใจผิดพลาดของผู้ที่ไปทูลชี้แจง

ความคิดเห็นในเรื่องการบัญญัติศัพท์มีอีกบางท่านยังไม่ได้นำเสนอ ณ ที่นี้ เช่น ฯพณฯ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นำเสนอการใช้ภาษาอินเดีย ซึ่งภาษาไทยนำมาใช้เป็นบางคำ ฯลฯ หรือการใช้ ร. กับ ล.

อาจารย์สุกิจเล่าถึงไปพบศาสตราจารย์คนหนึ่งที่เมือง Benares ถามว่า ที่เมืองไทย Water supply ใช้คำว่าอะไร บอกว่า น้ำประปา แกบอก ประปา? very good ประปา แปลว่า drinking fountain เป็นคำสันสกฤต 2,000 กว่าปีมาแล้ว ไทยยังคงเอามาใช้ได้ เขาว่าเป็นของดี โทรเลข โทรศัพท์ เขาก็ว่าดีทั้งนั้น เดี๋ยวนี้แขกก็มีทีวีขึ้นมาเรียกว่า โทรดาเช่น คือ โทรทัศน์…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชมอาจารย์สุกิจว่าท่านเก่งมาก ชำนาญภาษาแขกกว่าแขกอีก แล้วรู้สึกว่าท่านได้มาทุกอย่าง นอกจากอย่างหนึ่ง พยักหน้า อย่างนี้ไม่เป็นตามธรรมดา แขกเขาพยักหน้าทางหนึ่ง แต่ท่านพยักอีกทางหนึ่ง

นายสุกิจกราบบังคมทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่ามาถึงประเทศไทยกลัวคนจะเข้าใจผิดเลยไม่กล้า

 

การอภิปรายชี้แจงยังมีต่อไปทั้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบุคคลอื่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า บัดนี้ท่านทั้งหลายได้ออกความคิดเห็นกันแล้ว น่าจะให้คนที่อยู่ข้างล่างนั้นออกความคิดบ้าง ถ้ามีผู้ใดมีความคิดจะแสดงก็อยากจะเชิญมา จากนั้นจึงเชิญหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่นั่งฟังอยู่ข้างล่าง

โดยพระองค์ทรงทักขึ้นว่า “อ้าว คุณคึกฤทธิ์ คุณคึกฤทธิ์อยู่ที่ไหนก็อยากจะพูด อยู่ข้างล่างนั่งคงจะกลุ้มใจแน่นอน ขอให้ขึ้นมาพูด”