14 ปี กฎหมายบัตรทอง ทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพไทย

14ปีกฎหมายบัตรทอง

ทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพไทย

14 ปี นับจากประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือกฎหมายบัตรทอง ดูแลประชาชนของประเทศกลุ่มใหญ่กว่า 48 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยังพบปัญหาอุปสรรคทั้งเรื่องงบประมาณ บุคลากร และระบบการให้บริการ จนกลายเป็นปมความขัดแย้งในสังคม ซึ่งล่าสุดกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทว่าในการเพิ่มประสิทธิภาพนั้น จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเดินไปในทิศทางใด เป็นเรื่องที่น่าคิดและติดตาม

ทั้งนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ว่า นับจากนี้ไปประเทศไทยยังต้องคงหลักการที่ว่าการดูแลสุขภาพของประชาชน คือ บริการของรัฐ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐที่จะต้องส่งเสริมให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ

“เมื่อเป็นรัฐสวัสดิการแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้อย่างไร จำนวนเท่าไร เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ซึ่งผมคิดว่าจะต้องพิจารณาที่ระบบการจัดเก็บภาษี เพราะขณะนี้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขในแต่ละปียังขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งไม่เคยเพียงพอ และเกิดเป็นปัญหา มีความขัดแย้งตามมามากมาย” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีงบประ

มาณด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 17 แต่ไม่เพียงพอ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยงบประมาณด้านสุขภาพของแต่ละประเทศไม่ควรเกิน ร้อยละ 20 เพราะหากเกินกว่านี้จะกลายเป็นภาระของประเทศ ดังนั้น จึงเสนอว่าประเทศไทยก็ควรไปในทิศทางนี้เช่นกัน แต่จะให้ลงตัวที่ตัวเลขไหนนั้น จะต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้ง และหากได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยต้องใช้งบประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ต่อไปไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องยึดตัวเลขนี้เป็นหลักในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ทั้งนี้ การกำหนดงบประมาณด้านสุขภาพให้ชัดเจนนั้น มีความจำเป็นต้องทำทันที เพื่อให้รัฐสามารถวางแผนและกำหนดแผนงานล่วงหน้าได้

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ในการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการคือ การลดความเหลื่อมล้ำและการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยบริการ จะทำอย่างไรให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้ง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ เพราะหากทำได้ต่อไปนี้ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

“ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่หากทำได้ถือเป็นความกล้าหาญมากๆ ขณะนี้เรามีตัวอย่างในหลายประเทศที่ทำแล้วดี เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อังกฤษ ฯลฯ นอกจากนี้ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยบริการ โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องเลือกว่าจะต้องเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลใหญ่อย่างเดียว ซึ่งอาจจะต้องลงทุนพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และเครื่องมือ ถ้าโรงพยาบาลทุกแห่งมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ได้ หากทำได้ก็จะลดความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ก็มีโรงพยาบาลรัฐบางแห่งที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ และสามารถทำให้โรงพยาบาลมีศักยภาพโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง

รัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงพยาบาลจะทำได้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีบทบาทสนับสนุนในเรื่องนี้” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า นอกจากนี้

เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ตลอด 15 ปี ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้านสุขภาพมากขึ้น โดยมีส่วนรวมในการบริหารจัดการภายในชุมชนของตนเอง ในภาวะที่รัฐขาดแคลนบุคลากร เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ เช่น การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่มีภาคประชาชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการ หรือมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มผู้หญิง เข้าไปทำกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในชุมชน จะยิ่งทำให้การดูแลผู้ป่วยและประชาชนในแต่ละชุมชนทั่วถึงมากขึ้น และแนวทางนี้จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

“แนวทางนี้เป็นเรื่องเด่นเรื่องหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย แม้แต่ในเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นก็ยังไม่มีเรื่องนี้ ความร่วมมือในรูปแบบนี้จะทำให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพ เพราะลำพังรอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอย่างเดียว ไม่สำเร็จ ยกตัวอย่าง การกำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ชิกุนคุนยา การลดผู้ป่วยความดันและเบาหวาน ฯลฯ จำเป็นต้องมีคนในชุมชนช่วยกันสร้างองค์ความรู้ และทำให้ทุกคนตระหนักถึงพิษภัย ถ้าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้ ก็เท่ากับประหยัดงบประมาณของแผ่นดิน ปัจจุบันในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

มีการตั้งงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคประมาณ ร้อยละ 10 และในอนาคตอาจจะต้องเพิ่มขึ้น ขณะที่ประกันสังคมก็มีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้เช่นกัน เหลือเพียงแค่สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้นที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อตั้งงบประมาณส่วนนี้” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ถ้าสามารถขยับ 3 ประเด็นหลักนี้ได้ การดูแลสุขภาพของประชาชนก็จะมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน ที่สำคัญประชาชนจะเลือกรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้แน่นอน

สอดคล้องกับที่ นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนั้น หากจะทำให้ยั่งยืนควรจะต้อง 1.มีระบบทะเบียนราษฎร์ที่มีประสิทธิภาพ หากประเทศไทยมีฐานข้อมูลที่ดี จะทำให้รู้ระดับรายได้ของประชาชน และสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง 2.จะต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งในอนาคตหากมีฐานข้อมูลที่ดี จะชัดเจนว่ามีประชาชนจำนวนเท่าใดที่ สปสช.ต้องดูแล และมีประชากร

จำนวนเท่าใดที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือมีกี่คนที่เป็นข้าราชการ ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตหากประเทศไทยเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น ภาระที่รัฐจะแบกรับค่าใช้จ่ายของบัตรทองก็อาจจะลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นมากนัก และ 3.การเพิ่มคุณภาพการให้บริการ เพราะขณะนี้เราเน้นแต่เรื่องการทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา แต่เกิดคำถามตามมาว่าได้รับบริการที่มีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้เราเน้นปริมาณและคุณภาพยังต้องเพิ่มอีก เพื่อทำให้ประชาชนพึงพอใจ

ทั้งหมดทั้งมวลหากสามารถทำได้ตามแนวทางเหล่านี้ เชื่อว่าจะสามารถปัญหานานาประการในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

—————