วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : วัคซีนส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงไร

การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ซึ่งเป็นจุดรวมของนักวิชาการสุขภาพโลก (global health) จบลงในวันนี้ ปีนี้หัวข้อเรื่องที่สำคัญคือ COVID-19 โดยมีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งเราก็พูดกันเองมากในประเทศไทย เช่น

  • วัคซีนผลิตได้ไม่ทันความต้องการจะแบ่งปันกันอย่างไร ให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างที่ประเทศส่วนใหญ่กำลังทำ หรือให้ความสำคัญกับแรงงานหนุ่มสาวทางเศรษฐกิจ
  • จะทำอย่างไรกับโควิดสายพันธุ์ใหม่จากแอฟริกา และ อังกฤษ ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและอาจจะทำให้ป่วยและตายมากขึ้น
  • วัคซีนมาแล้ว เมื่อไหร่เศรษฐกิจจะฟื้นโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว

ในช่วงของการแนะนำการประชุม มีการนำเที่ยวออนไลน์โดย ThaiPBS และ Workpoint ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชมเทปและสัมภาษณ์สด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมสาธารณสุขและประชาชนจากจังหวัดน่านซึ่งภูมิใจในป้องกันไม่ให้โควิดจากนอกจังหวัดเข้ามาแพร่กระจาย และจากจังหวัดสงขลาที่ชาวบ้านช่วยกันนำตัวผู้ป่วยที่กลับจากประเทศมารับกักตัวและรักษา และจังหวัดภูเก็ตที่พร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวกับมาชมความงาม

การจัดเตรียมการท่องเที่ยวออนไลน์ทั้งหมดนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล และอำนวยการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพ มุ่งหวังที่จะให้ต่างชาติเห็นพลังความร่วมมือของคนไทย และ กลับมาเยือนบ้านเราเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีได้ฟื้นตัว

 

งานประชุมเลิกไปแล้ว แต่ละประเทศต้องคิดว่าเราจะทำอะไรต่อ

ทางจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจการท่องเที่ยวเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือมากขึ้น รวมทั้งขอให้มีการจัดสรรวัคซีนโควิดแบบพิเศษเพื่อให้กับเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย และ กรุงเทพมหานคร ก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่จะมาท่องเที่ยว นอกจากนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นในภูเก็ต 19 องค์กร จะร่วมลงขันออกเงินซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนของตนร้อยละ 70 ด้วย ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่มีหลักฐานว่าได้ฉีดวัคซีนถูกต้องแล้ว ทางภูเก็ตก็เห็นว่าไม่ควรต้องถูกกักตัว จะได้เข้าออกท่องเที่ยวได้สะดวก ข่าวกล่าวว่าวัคซีนชุดแรก 2 แสนโด๊สจะเข้ามาถึงประเทศไทยในเดือนนี้ แต่รัฐบาลจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยและกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคใน 5 จังหวัดของภาคกลางที่มีโควิดระบาดก่อน แล้วจึงกระจายออกไป โดยปีนี้รัฐบาลตั้งใจว่าจะนำเข้า 63 ล้านโด๊ส

หนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์ประโคมข่าวในวันนี้ว่าภูเก็ตประกาศว่าพร้อมจะรับนักท่องเที่ยวในเดือนตุลาคมปีนี้

ผมในฐานะของนักวิชาการภาคใต้ที่เอาใจช่วยภูเก็ตมาตลอดทั้งเรื่องการควบคุมโรคต่าง ๆ ใน 20 กว่าปีทีผ่านมา และด้านการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการท่องเที่ยว รู้สึกเห็นใจและอยากให้กำลังใจชาวภูเก็ตในการแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มีแง่มุมที่อยากฝากให้ทั้งชาวภูเก็ตและคนไทยภายนอกได้มองร่วมกัน

 

ตามหลักของเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ ถ้ามีใครในสังคมสามารถได้อรรถประโยชน์จากอะไรสักอย่างหนึ่งโดยไม่มีใครเสียประโยชน์เลย สวัสดิการของสังคมจะดีขึ้น แต่ถ้าบางคนได้ประโยชน์บางคนเสียประโยชน์ต้องมีการต่อรองเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน

ถ้าวัคซีนมีมากหาซื้อง่าย ใครจะจ่ายเงินซื้อก็ได้ รอของรัฐบาลก็ได้ ไม่มีใครเดือดร้อน

แต่ขณะนี้วัคซีนทั่วโลกขาดแคลน ประเทศจีนสัญญาว่าจะทำให้ทั่วโลกก็ไม่เห็นว่าจะให้ประเทศไทยได้ การซื้อวัคซีนจีนก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว ราคาก็แพง สำนักอาหารและยาและสถาบันวัคซีนของเราต้องแก้ปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนซึ่งหวังว่าจะเรียบร้อยเร็ววัน วัคซีนที่ฉีดกันมากในอเมริกาก็ผลิตไม่ทันใช้เพราะคนแย่งกันซื้อทั่วโลก บริษัทวัคซีนอเมริกันไม่สนใจที่จะขึ้นทะเบียนในประเทศไทยเพราะเขาไม่อยากเสียเวลากับตลาดเล็กเงินน้อย ๆ อย่างไทย วัคซีนอังกฤษก็ดูเหมือนจะโดนอียูบอกว่าต้องให้อียูก่อน หรือ เราจะลองติดต่อวัคซีนรัสเชียและอินเดีย ซึ่งก็ต้องถามใจคนไทยว่าถ้ารัฐบาลเอามาฉีดคนไทย คนไทยจะยินดีรับไหม

ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ได้มีเฉพาะการท่องเที่ยว ยังมีภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเช่นกัน ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องการให้คนงานของตนได้รับวัคซีน เพื่อให้การผลิตที่ยังคงดำเนินไปได้อยู่ระดับหนึ่งจะได้ไม่ขาดตอน เขาก็บอกว่ายินดีจ่ายเงินค่าวัคซีนเหมือนชาวภูเก็ตเช่นกัน การตัดสินใจของรัฐจึงต้องฟังเสียงจากหลาย ๆ ด้าน ทั้งพวกที่อยากได้มากในสองภาคธุรกิจนี้ และคนที่ยังอยากรอก่อนอีกจำนวนหนึ่ง

 

วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนทั่วโลกในขณะนี้ เป็นการขี้นทะเบียนสำหรับการใช้ฉุกเฉิน ในกรณีนี้ คือ มีการระบาดหนักอย่างเช่นในสหรัฐ ยุโรป อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ถ้าประเทศเหล่านี้ไม่ได้วัคซีนจะมีคนตายอีกจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขจะถึงแก่กาลล่มจม ข้อมูลเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนได้มาจากการติดตามอาสาสมัครไม่กีหมื่นคนซึ่งติดตามมาเพียงครึ่งปีเศษ ๆ สำหรับวัคซีนแต่ละชนิด ทำให้เป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่ยอมให้ใช้เพราะความเสี่ยงจากการใช้วัคซีนซึ่งข้อมูลไม่ครบ ก็เพราะโรคกำลังระบาดอย่างหนัก

ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศดังกล่าว เราควบคุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดี ทั้งในปีกลาย และต้นปีนี้ แต่ตัวเลขต่าง ๆ ระบุว่าเรายังมีความเสี่ยงสูงในพื้นที่สมุทรสาคร กทม. และ ภาคตะวันออก หรืออาจจะรวมถึงจังหวัดชายแดนตะวันตก เชื้ออาจจะระบาดอีกและลามไปทั่วประเทศก็ได้ อย่างนี้มีเหตุผลค่อนข้างหนักแน่นที่จะอนุมัติให้ใช้อย่างฉุกเฉิน

จังหวัดที่ความเสี่ยงต่ำ ๆ ควรจะใช้อย่างเพราะสถานการณ์ฉุกเฉินไหม แม้กระทั่งคนที่อยู่ในวิชาชีพของผมเอง สถิติในประเทศบอกว่าที่ผ่านมาสองรอบมีการติดเชื้อทั้งหมอและพยาบาลเพียงร้อยกว่าคน ถ้าหมอไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่เสียงสูงน่าจะใช้ไหม ผมเชื่อว่ามีบุคลากรจำนวนหนึ่งยินดีที่รอก่อน อีกไม่กี่วันข้างหน้า กระทรวงสาธารณสุขจะออกแบบสอบถามบุคลากรทางการแพทย์แต่ละคนว่าอยากฉีดไหม ถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสียงและไม่อยากฉีด กระทรวงอาจจะคิดว่าก็รอไปก่อนก็ได้ จะได้เอาวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้กับคนที่จำเป็นและอยากได้ก่อน

แต่อย่าลืมนะครับ วัคซีนสำหรับภาวะฉุกเฉิน เหมือนชูชีพบนเครื่องบินเอาไว้ใช้ฉุกเฉินห้ามเอามาใส่เล่น และห้ามเอาลงจากอากาศยาน หรือ เหมือนห่วงยางริมสระน้ำที่เอาไว้โยนช่วยชีวิตคนตกน้ำ ไม่ได้เอาไว้ให้คนหัดว่ายน้ำสวมใส่

 

ผลประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิดในยามที่ข้อมูลจำกัดนี้จะสูง ถ้าประชากรมีความเสี่ยงสูง ยิ่งเสียงสูงเท่าไหร่ และฉีดได้ครอบคลุมมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งได้ประโยชน์การลดการป่วยและตายได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายและผลข้างเคียงไม่ขึ้นกับความเสี่ยงต่อโควิด ไม่ว่าคุณเสียงหรือไม่เสียงต่อโควิด คุณก็จะต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียงเท่ากันทั้งนั้น ยิ่งฉีดมากยิ่งเสียประโยชน์มาก ถ้าอยู่ในฐานะที่เสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงจากวัคซีนจะสูงกว่าความเสี่ยงจากโควิดแน่นอน

แต่คนเราก็อย่างว่าแหละครับ ชอบเสี่ยง ถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ เสี่ยงน้อยไม่สนุก ต้องไปเที่ยวบ้างเสี่ยงเพิ่มขึ้นหน่อยแต่คุ้ม คนงานยอมทำงานเสี่ยงและไม่ถูกสุขอนามัยหลาย ๆ อย่าง เพราะเขาประเมินว่าทำงานที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจะได้รายได้มากขึ้น พวกเล่นหวยหรือเล่นหุ้นก็อยากเสี่ยงเพราะต้องการความสนุกและหวังรวย ถ้าเช่นนั้นเรายอมให้ทุกคนเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วเอาวัคซีนเป็นตัวช่วยเอ็นจอยความเสี่ยงดีไหม ไอเดียนี้ดีถ้าเรารู้จักวัคซีนดีพอ แต่ไม่ดีถ้าเรายังมีความไม่รู้อีกมากมาย เริ่มต้นเราอาจจะรักสนุกแต่ลงท้ายแล้วทุกข์สงัด

เราจะเสี่ยงเพิ่มขึ้นแน่นอน ถ้าเราเปิดประเทศนำนักท่องเที่ยวที่ผ่านการฉีดวัคซีนเข้ามาโดยยังไม่รู้ประสิทธิภาพที่แน่นอนของวัคซีน วัคซีนกันได้อย่างเก่งก็เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ยังมีอีกตั้งเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ที่วัคซีนป้องกันไม่ได้ วัคซีนพิสูจน์ในเบื้องต้นแล้วว่าป้องกันการเจ็บป่วยและการตาย แต่ไม่มีข้อมูลเลยว่าวัคซีนระงับการแพร่เชื้อได้ดีเพียงไร ความไม่แน่นอนสองสามอย่างนี้ทำให้เรามีโอกาสรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อเข้ามาในประเทศไทยได้แน่นอน รับนักท่องเที่ยวมาน้อย ๆ แก้เศรษฐกิจไทยไม่ได้ ต้องรับมาจำนวนมากพอ ยิ่งรับมามากเท่าไหร่ก็เพิ่มนักท่องเที่ยวที่มีเชื้อเข้ามาได้มากเท่านั้น ประชาชนจากพื้นที่ซึ่งเขาปลอดภัยกว่าเราขาใหญ่อย่างจีน เขาคงยังไม่อยากเสี่ยงในช่วงนี้ รัฐบาลจีนก็คงยังไม่อยากส่งคนออกมาเที่ยวข้างนอกเพิ่มโอกาสรับเชื้อเข้า อย่างนั้นเราก็คงได้ฝรั่ง หรือ อาหรับมาเที่ยว ซึ่งเป็นประชากรที่ยังมีเชื้ออยู่มาก ถึงแม้ว่าวัคซีนอาจจะลดเชื้อลงไปเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เชื้อของเขาก็ยังมากกว่าเชื้อของคนไทยอยู่มาก แพร่เชื้อในภูเก็ตสักไม่กี่รายคนภูเก็ตส่วนใหญ่ที่เคยถูกล็อคดาวน์ทั้งเกาะเป็นแรมเดือนเมื่อปีกลายจนเข็ดหลาบกับโควิดคงจะไม่เอาด้วยแล้ว

เราให้เขาเข้ามาแล้ว จะให้อยู่เฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะพื้นที่นี้ประชาชนฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ให้เขาไปจังหวัดอื่นเพื่อกระจายรายได้บ้างหรือ ถ้าให้ออกนอกพื้นที่ จังหวัดอื่น ๆ เขายังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย เขาจะเสี่ยงเพิ่มขึ้นแน่นอน เขาอาจจะไม่อยากแลกความเสี่ยงต่อโควิดกับรายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนจังหวัดที่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก

แหม ผมมองโลกแต่ในแง่ร้ายและใจร้ายจัง ที่คุยมาทั้งหมดไม่เห็นช่วยอะไรจังหวัดท่องเที่ยวเลย ไปภูเก็ตมีคนรู้จะมาแบกป้ายไล่ไหมเนี่ย

 

ผมคิดว่าไหน ๆ กระแสวัคซีนก็มาแรงจนขนาดนี้แล้ว ไทยเราแม้จะปลอดภัยก็เริ่มคิดฉีดวัคซีนกันเถอะครับ แต่ขอให้แต่ละคนแต่ละภาคส่วน ช่วยรัฐบาลคิดถึงความคุ้มระหว่างความเสี่ยงจากวัคซีนกับเสี่ยงจากโควิด จังหวัดที่เสี่ยงมาก ๆ ก็ต้องได้วัคซีนก่อน ถ้าวัคซีนเข้ามาไทยเมื่อกลางปีกลายนี้ ผมโหวตให้ภูเก็ตก่อนแน่นอน เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดปราการของโควิดในรอบนั้น กว่าชาวบ้านและราชการจะเอาอยู่ได้ภูเก็ตก็สบักสบอมมาก ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวหายไปโควิดก็หายไปด้วย ผมขอโหวตให้สมุทรสาครก๋อนครับ

ผมเห็นด้วยกับทางภูเก็ตนะครับ ถ้าได้วัคซีนทีป้องกันได้ดีและปลอดภัย ควรให้พนักงานที่ดูแลนักท่องเที่ยวก่อน ไม่ต้องรอให้เปิดประเทศหรอกครับ นักท่องเที่ยวไทยก็จะได้ประโยชน์ด้วย ผมไม่เชื่อองค์การอนามัยโลกว่าควรฉีดหมอ คนป่วย และ ผู้สูงอายุก่อน ผมว่าพนักงานเหล่านี้ควรได้ก่อน เพราะผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวนี่แหละตัวดี มีชีวิตรวมหมู่ค่ำคืน ตัวเองไม่ป่วยแต่จะแพร่เชื้อทำให้คนอื่นป่วย ขอโทษลูก ๆ หลาน ๆ ที่จะเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนโรคบางชนิดเช่นโรคกลัวน้ำ เราฉีดให้สุนัขและแมวเป็นหลัก เพราะพวกนี้ไปซนที่ไหนต่อไหนไปทั่ว ถ้าติดเชื้อกับมาเจ้าของก็ไม่รู้  โรคกลัวน้ำเป็นแล้วตายทุกคน แต่เราจะฉีดให้ สัตว์เลี้ยงเป็นหลัก จะฉีดให้คนเป็นพิเศษถ้าอาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกสุนัขหรือแมวกัด เช่น สัตว์แพทย์ และ บุรุษไปรษณีย์  สมมติว่าเราถ้าต้องซื้อวัคซีนโควิดเองมาฉีดให้คนในบ้านโดยมีเงินจำกัดไม่สามารถฉีดทุกคน ผมก็จะฉีดคนเฉพาะที่ออกไปทำงานนอกบ้านเสี่ยงที่จะรับเชื้อกลับมาแพร่ให้คนในบ้าน ส่วน คุณทวด คุณย่า คุณยายที่เป็นโรคเรื้อรังจะฉีดให้ก็ต่อเมื่อมีเงินมากพอเท่านั้น

สรุปว่า ผมยังเห็นด้วยกับทางภูเก็ตเรื่องฉีดวัคซีนอยู่นะจะขอรัฐบาลให้ฉีดพนักงานท่องเที่ยวทั่วประเทศก่อน หรือ จะหาซื้อวัคซีนหาหมอมาฉีดโดยกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบแล้วก็แล้วแต่ คุยกันให้ดีก็แล้วกัน แต่ขอย้ำว่าที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ การกดดันให้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มีหลักฐานว่าฉีดวัคซีนมาแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่กักตัว อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์และยังไม่รู้ว่าป้องกันการแพร่เชื้อได้แค่ไหน ตอนนี้ในยุโรปเริ่มมีคนทำหลักฐานเท็จกันมากขึ้น ตอนนี้มีเชื้อกลายพันธุ์จากแอฟริกาและอังกฤษรอเข้ามาเมืองไทยอยู่มาก ถ้าท่านปล่อยให้พวกนี้เข้ามาง่าย ๆ ท่านมีโอกาสต้องปิดเกาะภูเก็ตอาจจะยาวกว่าเดิมอีกก็ได้

อย่าหาว่าหล่อไม่เตือน