การประนีประนอม แบบฉบับของความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า : จารุพรรณ กุลดิลก

ในคำนิยาม “การประนีประนอม” ในพจนานุกรมมีความหมายละเอียดอ่อนและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่มีฝ่ายใดมีพละกำลังเพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายของฝ่ายตนประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์

อย่างไรก็ตาม ในเนื้อหาทางการเมือง หน้าที่ของการประนีประนอมก็เพื่อจะให้คนตัดสินใจร่วมกันได้ ซึ่งจะมีผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ไม่ว่าจะสามารถทำให้ความสนใจให้เป็นจริงได้หรือไม่ก็ตาม

นั่นหมายถึงการตัดสินใจไม่อาจตกลงกันได้ฝ่ายเดียว และหากมีการตัดสินใจฝ่ายเดียวก็ไม่สามารถจะมีเสถียรภาพได้

ในกรณีนี้การบังคับให้ตัดสินใจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว ในกรณีทั่วไประยะเวลาในการตัดสินใจมีจำกัดกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงและมีการถ่วงดุลอำนาจตามมา

การประนีประนอม ลดค่าใช้จ่ายและลดทอนอำนาจในระบบที่ให้คนคนเดียวมีอำนาจการตัดสินใจ

ในหนทางการประนีประนอม เกิดขึ้นเมื่อมีผู้เข้าร่วมตัดสินใจ 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งแต่ละฝ่ายทุ่มเทจิตใจในการออกสิทธิ์ออกเสียงในทางที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายมุ่งความสนใจซึ่งประโยชน์แห่งตน

นั่นคือคนทั้งหลายต่างนึกขึ้นได้ถึงเป้าหมายที่ตนเลือกว่าจะเป็นไปได้ในทางการเมือง ซึ่งจะมีความสำคัญยิ่งในการคำนึงถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่มีความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ในขณะที่ผลแห่งความสำเร็จได้รับความสำคัญอย่างเป็นทางการในสายตาของผู้เข้าร่วมตัดสินใจ ประดุจมีข้อต่อที่ทำให้เกิดเสถียรภาพต่อการอยู่ร่วมกัน

ความสำเร็จในการประนีประนอมจะสามารถทำให้ผู้เข้าร่วมตัดสินใจเห็นความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกัน แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เข้าร่วมก็ตาม จะรู้สึกว่ามีประสบการณ์ร่วมห่างๆ เนื่องด้วยมีการพิจารณาอย่างมีส่วนร่วม มีการร่วมมือกันที่เป็นธรรม ได้สัมผัสถึงข้อต่อของกระบวนการตัดสินใจนั้น ได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่าย รวมทั้งคุณค่าของเหตุผลโดยรวมที่ดีในทางการเมือง ยังผลให้แผ่ขยายออกไปสร้างความเข้าใจเหนือกว่าการใช้พละกำลังในรูปแบบเดิม

การประนีประนอมเฉกเช่นสถานการณ์การให้และการรับซึ่งชอบธรรม จะสร้างความเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจประนีประนอมครั้งนี้จะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและคุณค่าของการพิจารณาสิ่งต่างๆ ร่วมกัน

สิ่งนี้เป็นไม้ต่อของความต้องการและความสนใจของตนเองผ่านความสนใจของผู้อื่นที่ตนเองไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่ต้องต่อรองร่วมกันด้วยความสนใจ ด้วยคุณค่า และด้วยเป้าหมายของคนอื่น เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็มีวิธีพิพากษาวิธีคิดของตนเอง จึงเกิดวิธีคิดและวิธีพิจารณาความสนใจ ประโยชน์ และคุณค่าที่หลากหลายมากที่สุด เป็นเป้าหมายสำคัญของประชาธิปไตย

ความสามารถที่จะโอบล้อมประโยชน์โดยชอบเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นการผสมผสานประโยชน์ที่มีความชอบนั้นอย่างมีความรอบคอบ และมีกระบวนการตัดสินใจในทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเข้าถึงความเป็นประชาธิปไตย

ในเหตุผลดังกล่าว การทำงานร่วมกันและการคำนึงถึงการประนีประนอมที่ฉลาด จะพัฒนาทัศนคติ พฤติปฏิบัติ และทักษะ ซึ่งประชาธิปไตยต้องการในการทำงานและสร้างศักดิ์ศรีให้พลเมือง ในทางความรู้ โดยนัยยะวัฒนธรรมแห่งการประนีประนอมเป็นโรงเรียนชั้นนำของความเป็นประชาธิปไตย

การประนีประนอมเป็นทักษะที่ต้องพัฒนาในสังคมประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ความขัดแย้งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญของปัญหาในสถานการณ์ทางการเมืองโดยสังเขปความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นได้ทุกทาง หากข้อสรุปไม่ตรงกับความต้องการของผู้เข้าร่วมแบ่งปันผลประโยชน์โดยชอบ

เมื่อไม่มีข้อตกลงชัดเจน ความสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ต้องการระเบียบในทางการเมืองเพื่อจัดการการงานต่างๆ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการความต้องการทางเลือกอันหลากหลายส่วนตนอยู่ดี

เนื่องด้วยปัญหาในทางการเมืองนิยามที่ต้องจำกัดเพื่อแก้ไขปัญหาให้ทุกฝ่าย ผ่านสถาบันทางการเมืองที่มีความสามารถ มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างความตกลงกันเพื่อขจัดปัญหาไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตั้งแต่ต้น

มิฉะนั้น ความขัดแย้งจะขยายอาณาบริเวณความต้องการทางการเมือง ในเชิงข้อตกลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งข้อตกลงทางภาคพื้นสนามในแต่ละภูมิภาค

การเมืองเป็นกระบวนการสร้างสันติภาพและรวบยอดวิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงผลประโยชน์อันชอบธรรมโดยรวมอีกด้วย

ชนิดของความขัดแย้งแบ่งออกเป็น 4 ประการ ซึ่งมีงานวิจัยจากสถาบันการเมืองมายาวนานจากการบันทึกประวัติศาสตร์ เช่น มูลนิธิ ฟรีดริก แอร์แบร์ต (Friedrich Erbert Stiftung) ประเทศเยอรมนี อันได้แก่

1. การเริ่มความไม่เห็นพ้องแต่ต้น เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นในการแยกแยะคำถามในเรื่องคุณธรรมพื้นฐาน ว่าคำถามใดมีคุณธรรม คำถามใดไม่ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การตกลงร่วมกันในเรื่องการถกเถียงอย่างเข้มข้นและการวางระเบียบให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในทางวัฒนธรรมได้อย่างเป็นธรรมในที่สุด (ยกตัวอย่างเช่น คำถามในเรื่องวันหยุดราชการ และการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย เหล่านี้มีแง่มุมการใส่ใจในเชิงจริยธรรมและการให้คุณค่าทางสังคม)

2. ความขัดแย้งที่ส่งผลให้ชนะบางส่วน ในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้รับส่วนแบ่งในจำนวนจำกัด ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม (ตัวอย่างเช่น การกระจายของผลผลิตประชาชาติสุทธิ; GDP) ในกรณีนี้ จำนวนส่วนแบ่งและการปันผลลดลงจากบางกลุ่ม และเพิ่มขึ้นที่บางกลุ่ม ในขณะที่ผลผลิตประชาชาติสุทธิเท่าเดิม

3. ความขัดแย้งที่ส่งผลให้ฝ่ายชอบธรรมชนะฝ่ายเดียว ในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อผลลัพธ์เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียวที่ทำให้คนคิดได้ ตัดสินใจในระเบียบแบบแผนชีวิตอย่างสะดวกสบาย รวมทั้งที่มีการเห็นพ้องเบื้องต้นให้บัญญัติไว้ในกฎหมายบ้านเมือง

4. ความขัดแย้งที่ต้องชนะทุกฝ่าย ในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการกำหนดโดยพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบถึงต้นตอของความต้องการในการจัดสรรผลประโยชน์ ที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าทุกฝ่ายควรจะสามารถชนะได้คล้ายๆ กัน

ส่วนใหญ่มักเกิดการชนะเพียงฝ่ายเดียวเพราะถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้จากการออกกติกาใหม่ผ่านรัฐสภา จะนำมาซึ่งความรู้สึกถึงการผลัดแพ้ผลัดชนะ

ความขัดแย้งและการประนีประนอม ในข้อสรุปสุดท้าย ศิลปะในทางการเมืองในการขจัดข้อขัดแย้งดังที่กล่าวข้างต้นทั้ง 4 ประการตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งได้เลยเป็นการจัดการที่ดีที่สุด โดยนัยนั้น การจัดการประโยชน์อันชอบธรรมของแต่ละฝ่ายผ่านการลงมติจากเสียงส่วนใหญ่ถือว่าไม่มีศิลปะมากพอ ซึ่งก็ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเลือกตั้งทั่วไป (General Election) และการตัดสินใจร่วมกันเพื่อสร้างศรัทธาร่วมกันอีกครั้งในฐานะประชาชาติ

การประนีประนอมที่ดีและเป็นธรรม เป็นความจำเป็นในทางวัฒนธรรมทางประชาธิปไตย เป็นถ้อยคำที่สง่างามเพราะผ่านการทดสอบมาหลายครั้งหลายหน และในระยะยาวจนถึงอนาคตจะเป็นทางออกที่ให้ความมั่นคงว่าจะได้ประโยชน์ถ้วนหน้ามากกว่าในการแสดงพลังเหนือมนุษย์ในระยะสั้น การทำให้ความศรัทธามั่นคงเกิดขึ้นระหว่างคนและสังคม

โดยหลักการแล้วพรรคการเมืองต้องบอกสังคมได้ว่า

1. ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาลในขณะนั้นต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้หลักประกันว่าประโยชน์โดยชอบในทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญและเป็นไปได้ในการพัฒนาวัตถุประสงค์ร่วมกันต่อไปในอนาคต

2. ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาล จะมีพื้นที่พอสำหรับสังคมและกิจกรรมทางการเมือง ที่จะหาทางสนับสนุนผู้คนให้ได้รับประโยชน์ถ้วนหน้าในการเลือกตั้งในอนาคตด้วย

พรรคการเมืองควรมีศิลปะในการประนีประนอมโดยป้องกันและขจัดต้นตอของความขัดแย้งตั้งแต่ต้น