ธเนศวร์ เจริญเมือง / 18 ปีที่จากไป : จรัล มโนเพ็ชร (3 กันยายน พ.ศ.2544-2562) 

“ชีวิตที่ไม่ถูกตรวจสอบ ก็คือชีวิตที่ไร้ค่า”

“The life which is unexamined is not worth living.”

Socrates, 469-399 B.C.

ในช่วงปี พ.ศ.2520-2554 ที่อ้ายจรัล มโนเพ็ชร มีชีวิตอยู่ อ้ายได้สร้างผลงานเพลง “กำเมือง” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนเมืองทุกเพศทุกวัย

และลามไปถึงชนชั้นกลาง คนมีการศึกษาดีในเขตเมืองทั่วประเทศ น้อยคนที่จะไม่รู้จักเขา หนุ่มร้องเพลง-แต่งเพลงเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เป็นคนเสียงนุ่ม หน้าตาดี สุภาพ พูดจาดี ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ เป็นกันเอง และมีน้ำใจ

จรัล มโนเพ็ชร เกิดเมื่อปี พ.ศ.2494 พ่อทำงานฝ่ายศิลปะของสำนักงานชลประทาน เชียงใหม่ แม่เป็นสาย ณ เชียงใหม่ บ้านของจรัลอยู่ใกล้ประตูเชียงใหม่ ข้างวัดฟ่อนสร้อย ในเขตกำแพงเวียง

เป็นลูกคนโต พ่อเป็นศิลปินที่เก่งแทบทุกด้าน โดยเฉพาะการเล่นดนตรีหลายชนิด ร้องเพลง-แต่งเพลง งานตกแต่ง งานวัฒนธรรมประเพณี

บวกเข้ากับเลือดแม่ จรัลก็รับเอาทุกอย่างจากพ่อและแม่มาหลอมรวมกัน เขาจึงเป็นคนเมืองที่ทระนง มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมล้านนา เก่งการดนตรีมาก

และภูมิใจยิ่งนักในชาติตระกูลของตน

 

การเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของพ่อน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่จรัลต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนเมตตาศึกษา ใกล้บ้าน ไม่มีโอกาสได้เรียนที่มงฟอร์ตวิทยาลัย เช่น ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และทักษิณ ชินวัตร หรือที่ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เช่น จุมพล ชุติมา สุรพงษ์ สุกัณศีล และภาคิไนย ณ เชียงใหม่

การได้เรียนที่เมตตาศึกษา ทำให้เขาเป็นคนติดดิน เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนๆ ที่มาจากครอบครัวระดับกลางและล่าง จึงได้ซึมซับวัฒนธรรมคนเมืองและล้านนามากกว่าเยาวชนจากครอบครัวชั้นกลางและชั้นสูงที่รับเอาวัฒนธรรมชนชั้นนำของเมืองหลวงมากกว่า เช่นในโรงเรียนชั้นนำของจังหวัด

การเข้ามาของกระแสตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ.2500 รวมทั้งดนตรีกีตาร์ของจิมมี่ เฮ็นดริกซ (1942-1970), วงดนตรีเดอะ บีตเทิลส์, วงปีเตอร์-พอล-แมรี่ ฯลฯ พร้อมกับเพลงโฟล์กซองต่อต้านสงครามเวียดนาม ที่หลั่งไหลเข้ามา ได้ส่งผลสะเทือนต่อจรัลในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่นพอดี

จรัลซึ่งเก่งดนตรีพื้นเมืองโดยเฉพาะซึง ย่อมเล่นและเก่งกีตาร์ได้อย่างรวดเร็ว เพลงตะวันตกแบบโฟล์กซองมากมายทำให้เขานำทำนองเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นเพลงคำเมืองได้อย่างยอดเยี่ยม

 

หลังจากตั้งวงขับขาน จนเป็นที่รู้จักมากขึ้นๆ จรัลก็ได้รับการชักชวนให้ออกเทปเพลง ส่งผลให้เพลงของเขาก้าวขึ้นสู่ระดับชาติในปี พ.ศ.2520/1 หลายเพลงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เช่น

“น้อยไจยา” เพลงคำเมืองที่เก่าแก่แต่สมัยรัชกาลที่ 6-7

“คนสึ่งตึง” เพลงคำเมืองที่ศิลปินรุ่นพี่แต่งไว้ก่อนหน้าไม่นาน

“สาวเชียงใหม่” เพลงที่นำทำนองเพลงตะวันตกมาดัดแปลง

“เสเลเมา” เพลงพื้นบ้านเก่าแก่

“ล่องแม่ปิง” ดัดแปลงจากเพลงพื้นบ้านในอดีต จรัลแต่งเนื้อเพลงได้ดีเยี่ยม กลายเป็นเพลงแห่งความภาคภูมิใจของคนล้านนา สถาบันการศึกษาฟ้อนประกอบ วิทยุก็เปิดบ่อยครั้ง

“อุ๊ยคำ” เพลงที่นำทำนองเพลงตะวันตกมาจนคนฟังส่วนใหญ่ไม่รู้ ทั้งมีเนื้อหาของคนแก่ที่อยู่คนเดียว ไม่มีคนเหลียวแล ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่คนในเขตเมืองใหญ่

“หมะเมียะ” และ “เจ้าดวงดอกไม้” เพลงที่มีท่วงทำนองท้องถิ่น แต่เป็นเพลงสะท้อนความไม่เป็นธรรม และปัญหาชนชั้นในสังคม

“พี่สาวครับ” “ผักกาดจอ” “สาวมอเตอร์ไซค์” “ลูกข้าวนึ่ง” เพลงคำเมืองที่สนุกสนาน มีกลิ่นอายของท้องถิ่น และสะท้อนทั้งสภาพสังคมและการเปิดวัฒนธรรมท้องถิ่นให้โลกรู้

“มิดะ” เป็นเพลงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม-ประเพณีของพี่น้องบนดอยสูง

“ศิลปินป่า” เป็นเพลงรณรงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม และการมีชีวิตแบบเรียบง่าย แสวงหาการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย

“ลมหนาว” “รางวัลแด่คนช่างฝัน” เพลงที่ให้กำลังใจในการมีชีวิต และสู้ต่อไป ฯลฯ

 

จะเห็นได้ว่าเพลงของจรัลมีความหลากหลายมาก แต่ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นเพลงกำเมืองที่เขาแต่งและเพลงเก่าที่เขานำกลับมา สะท้อนความโดดเด่นของศิลปินผู้นี้ อย่างน้อย 3 ด้าน

หนึ่ง การผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองกับกีตาร์ ซึ่งมีเสียงคล้ายๆ กัน ทำให้เพลงของจรัลมีลักษณะเป็นเพลงพื้นเมืองและสากล และเป็นเพลงท้องถิ่นนิยม

สอง เพลงส่วนใหญ่ของเขาเน้นที่สาระและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตอันหลากหลายของผู้คน กระทั่งหลายชนชั้น แสดงให้เห็นคุณค่าหรืออุดมการณ์ มีลักษณะเป็นเพลงเพื่อชีวิต

และสาม หลายเพลงของเขาให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา วัฒนธรรมศึกษา และชาติพันธุ์วิทยา จึงมีลักษณะเป็นเพลงเพื่อการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในระบบการศึกษา

เขาเป็นศิลปินคนเมืองเหนือคนแรกที่ครบเครื่องมาก เป็นนักร้อง นักดนตรี มีรูปแบบและบุคลิกดี มีสติปัญญาและความรู้เรื่องท้องถิ่นดี แต่งกายและใช้เครื่องดนตรีพูดจาในที่สาธารณะที่แสดงความเป็นท้องถิ่นและส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน ทั้งยังแสดงทัศนะด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และต่อชีวิตในเชิงปรัชญา ซึ่งนับว่าหายากในหมู่ศิลปิน

 

เปรียบเทียบกับเพลงจากภาคอื่น

4ทศวรรษที่ผ่านมา เพลงจากภาคอีสานได้รับความนิยมอย่างสูงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงจรัลมีชีวิตอยู่ ยังไม่มีเพลงดังจากแดนใต้ ล้านนาก็มีจรัลที่โดดเด่นเพียงคนเดียว 4-5 ปีมานี้ หลังจากที่จรัลจากไปนานแล้ว เพลงจากภาคอีสานยิ่งโดดเด่นกว่าทุกภาค มีเพลงจากแดนใต้เริ่มโด่งดัง แต่ก็ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับเพลงจากภาคอีสาน เช่น จากสถิติในเดือนสิงหาคมปีนี้ จำนวนผู้ชม

1. เพลง “คำแพง” (แซ็ค ชุมแพ-ขอนแก่น) 479 ล้านครั้ง

2. เพลง “เชือกวิเศษ” (Labanoon-กรุงเทพฯ) 474 ล้านครั้ง

3. เพลง “คู่คอง” (ก้อง ห้วยไร่-สกลนคร) 431 ล้านไร่

4. เพลง “ผู้สาวขาเลาะ” (ลำไย ไหทองคำ-ร้อยเอ็ด) 364 ล้านครั้ง

5. เพลง “ทดเวลาบาดเจ็บ” (บอย พนมไพร-ร้อยเอ็ด) 356 ล้านครั้ง

6. เพลง “คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส” (มนต์แคน แก่นคูน-ยโสธร) 336 ล้านครั้ง

7. เพลง “กลับคำสาหล่า” (ไมค์ ภิรมย์พร-อุดรธานี) 286 ล้านครั้ง

8. เพลง “ระเบิดเวลา” (ศาล สานศิลป์-หนองบัวลำภู) 279 ล้านครั้ง

9. เพลง “มหาวัวชน” (วงพัทลุง) 254 ล้านครั้ง

10. เพลง “เลิกคุยทั้งอำเภอฯ” (ลิลลี่ นารีนาท-นครศรีธรรมราช) 252 ล้านครั้ง

11. เพลง “เฮ็ดทุกวิถีทาง” (เบิ้ล ปทุมราช-อำนาจเจริญ) 238 ล้านครั้ง

12. เพลง “ขอใจเธอแลกเบอร์โทร” (หญิงลี ศรีจุมพล-บุรีรัมย์) 220 ล้านครั้ง

13. เพลง “ชอบแบบนี้” (หนามเตย สะแบงบิน-กาฬสินธุ์) 188 ล้านครั้ง

14. เพลง “โอ้ละน้อ” (ก้อง ห้วยไร่-สกลนคร) 177 ล้านครั้ง

15. เพลง “แรกตั้งใจฮัก” (ปรีชา ปัดภัย-อุบลราชธานี) 167 ล้านครั้ง

 

จาก 15 เพลงข้างบนนี้ เราจะพบลักษณะสำคัญบางประการ เช่น

1. นักร้องจากภาคอีสานมีมากถึง 12 คน และยังมีอีกมากมายตามมา และที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับการยอมรับมาก ไม่ต้องดูที่จำนวนผู้ฟัง เช่น ศิริพร อำไพพงษ์, เฉลิมพล มาลาคำ, สุนารี ราชสีมา, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ตั๊กแตน ชลดา, ต่าย อรทัย, จินตหรา พูนลาภ ฯลฯ ที่จริงมีมากกว่านั้นหลายเท่า และมีชื่อเสียงมากทั้งนั้น) มีเพียง 2 เพลงจากภาคใต้ที่ติดอยู่ในกลุ่มนี้

2. จำนวนการฟังเพลงหลายร้อยล้านครั้งสะท้อนให้เห็นความนิยมอย่างสูง และจะเห็นการทุ่มความนิยมไปยังเพลงของนักร้องอีสาน

3. เปรียบเทียบกันระหว่างเพลง “สัญญากาสะลอง” ซึ่งเป็นเพลงเอกของละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” และมีการร้องเป็นภาษาคำเมืองด้วย กับเพลง “คู่คอง” เพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง “นาคี” ซึ่งเป็นเพลงและภาพยนตร์เกี่ยวกับภาคอีสาน เพลงแรกมียอดคนฟัง 9.1 ล้านครั้ง เทียบกับคนฟังเพลง “คู่คอง” ซึ่งมากถึง 431 ล้านครั้ง

และ 4. ยังไม่มีเพลงคำเมืองที่โด่งดังเทียบกับเพลงจากอีสานเช่นที่กล่าวมาในช่วงหลายปีมานี้ ส่วนเพลงของกระแต อาร์สยาม – นักร้องสาวลำปาง มีคนฟังระดับแสนครั้ง

ต่อคำถามที่ว่าเหตุใดเพลงจากภาคอีสานจึงมีคนฟังมากที่สุด

 

ผมคิดว่าคำตอบมีหลายข้อ ได้แก่

หนึ่ง พี่น้องอีสานมีจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ และยังเดินทางออกไปทำงานนอกภาคมากที่สุด และต้องไม่ลืมรวมกับพี่น้องลาวซึ่งพูดภาษาเดียวกัน มีศิลปวัฒนธรรมร่วมกันมาก

สอง พี่น้องอีสานมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางชาติพันธุ์สูงมาก ผิดกับคนล้านนาในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ที่มีความหลากหลายมากทั้งคนเมือง (ยวน)-ไต (ไทยใหญ่)-ไทขึน-ไทเชียงตุง-ไทลื้อ-ไทยอง ฯลฯ อันเป็นผลพวงของการตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและอยุธยา-รัตนโกสินทร์ เมื่อประชากรถูกกวาดต้อนออกไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการเกณฑ์และกวาดต้อนประชากรจำนวนมากจากดินแดนอื่นๆ เข้ามาหลายๆ ครั้งในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (รวมพี่น้องบนดอยจำนวนมากและมีหลายเผ่าที่อพยพเข้ามา)

อนึ่ง พี่น้องอีสานก็ถูกกวาดต้อนเข้ามาจำนวนมากเช่นกันในยุคเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพี่น้องไท-ลาวเหมือนกัน ผิดกับล้านนา ส่วนภาคใต้ จำนวนประชากรมีน้อยกว่ามาก

สาม ผมไม่คิดว่าพี่น้องอีสานรักเสียงเพลงและดนตรีมากกว่าคนไต/ไทกลุ่มไหน คนไต/ไททุกกลุ่มรักดนตรีและเสียงเพลงเหมือนกันหมด

แต่การเป็นคนอีสานที่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานเพื่อปากท้องโดยเฉพาะในเมืองหลวง ซึ่งต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมืองหลวงที่เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ อีกทั้งการรับเทคโนโลยีนำสมัยมาจากกระแสโลกานุวัตร ผลการผสมผสานนำโดยเสียงดนตรีและเสียงเพลงแนวท้องถิ่น เป็นเสียงของบ้านเกิดเมืองนอน จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น แทบจะเป็นสิ่งเดียวที่อุ้มชู ประโลมจิตใจของคนไกลบ้าน กระทั่งในต่างแดน ในยามที่ต้องอยู่ห่างไกลพ่อแม่ ญาติ และถิ่นกำเนิดอันอบอุ่น

ไม่ว่าจะเป็นเพลงรัก เพลงคนอกหัก เพลงปลอบใจให้หายเหนื่อย ปลุกใจให้สู้และฝ่าฟัน เพลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของแผ่นดินเกิด ฯลฯ เมื่อเพลงเหล่านี้ได้รับการต้อนรับอย่างดี จึงเป็นทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ยอดเยี่ยม

ตลาดที่แข็งแกร่งเช่นนี้ย่อมสร้างนักแต่งเพลง นักดนตรี และนักร้องคุณภาพออกมาอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งมีการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้านสื่อ จะอยู่ที่ไหนเวลาใดก็ฟังและชมได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว การเสพและวงธุรกิจก็ยิ่งเพิ่มทวี

ที่กล่าวมาจึงอธิบายได้ว่า เหตุใดล้านนาและภาคใต้จึงไม่อาจเทียบได้กับภาคอีสาน

 

จรัล มโนเพ็ชร – 18 ปีที่จากไป

เราควรยินดีมากๆ กับเพลงของพี่น้องอีสานและภาคใต้ที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น การที่ทั้งประเทศมีประชากร 70 ล้าน แต่มีคนฟังเพลงเหล่านั้นถึง 300-400 กว่าล้านครั้ง ก็แสดงว่ามีคนเข้าไปฟังซ้ำๆ ก็เท่ากับว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้นหลายเท่า

แน่นอน มองอีกด้านหนึ่ง ถ้าพี่น้องในล้านนาได้ฟังเพลงที่ร้องเป็นภาษาของตนเองเพราะๆ และมีผู้คนกดเข้าไปฟัง 200-300 ร้อยครั้ง เช่นเพลงในภาคอื่นๆ ก็คงจะดีมาก แต่น่าเชื่อว่ามิตรรักแฟนเพลงคนล้านนาหลายคนก็คงเข้าไปกดฟังเพลงยอดฮิต และยิ้มหรือโยกไปมาอย่างมีความสุขอยู่แล้วกับดนตรีและเพลงของภาคอื่นๆ

จากที่ปรากฏ แนวเพลงของจรัลก็ไม่ใช่แนวเพลงประเภทคนฟัง 200-400 ล้านครั้ง เมื่อเราฟังเพลงทั้ง 15 เพลงข้างต้น เราจะพบเพลงอย่างน้อย 3 ประเภท คือ

1. เพลงรักแบบช้าๆ เอื้อน หวาน ไพเราะ กินใจ และภาษาที่ใช้งดงามมาก (เช่น เพลงคู่คอง, บุญผลา, กลับคำสาหล่า)

2. เพลงอกหัก ที่ใช้คำสะเทือนใจ เศร้าสร้อย น่าสงสาร เช่น คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส แต่เพลงคำแพง แรงจัด เพราะเนื้อคำเว้าวอน และเสียง/จังหวะที่รุกเร้ามาก

และ 3. เพลงสนุก โดดเด่นทั้งเนื้อเพลงและจังหวะเต้น (เช่น เลิกคุยทั้งอำเภอฯ, ผู้สาวขาเลาะ, ขอใจเธอแลกเบอร์โทร)

วันนี้เรามารำลึกถึงอ้ายจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นที่สุดจากล้านนา ที่วันนี้แม้ตัวตาย แต่ผลงานเพลงยังคงอยู่ ยังมีคนระลึกถึงอ้ายเป็นจำนวนมาก และจนบัดนี้ กล่าวได้ว่า ยังไม่มีศิลปินล้านนาคนใดก้าวขึ้นมาแทนที่อ้ายจรัลได้

เหตุผลสำคัญคือ อ้ายจรัลเป็นผลิตผลของในยุคที่ล้านนา (พ่อน้อยสิงห์แก้วเกิดในปี 2462) นั่นคือ คนท้องถิ่น-เจ้านายท้องถิ่นเติบโตในช่วงที่ล้านนาไม่เหลืออำนาจใดๆ แล้วในช่วงทศวรรษ 2460-2480 อีกทั้งเป็นช่วงที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมคุมขังถึง 3 ครั้ง

การเติบโตในช่วงทศวรรษที่ 2490-2500 ที่ท้องถิ่นไม่เหลืออะไร และอิทธิพลตะวันตกกำลังหลั่งไหลเข้ามา อ้ายจรัลได้เรียนรู้ภาษาพูดและภาษาเขียนของล้านนา ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมจากพ่อแม่และพระสงฆ์

อ้ายจรัลเติบใหญ่และกลายเป็นเพชรเม็ดงามจากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ขณะที่คนวัยเดียวกันกับอ้ายจรัลที่เรียนหนังสือดี ฐานะดี เติบโตในครอบครัวข้าราชการหรือนักธุรกิจ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เป้าหมายคือ แพทย์ วิศวกร ข้าราชการกระทรวงต่างๆ และรู้น้อยมากเกี่ยวกับ “ตัวเมือง” “ดนตรีพื้นเมือง” ประวัติศาสตร์ล้านนา” ผิดกับอ้ายจรัล

การเกิดขึ้นของเพลงคำเมืองของอ้ายจรัล-สุนทรีในช่วงทศวรรษ 2520 ไม่ว่าจะกระหึ่มอย่างไร ก็ส่งผลสะเทือนเพียงการอู้กำเมืองเพียงบางรายการในวิทยุ, แต่งชุดพื้นเมืองในวันศุกร์ตามโรงเรียนต่างๆ, การเกิดขึ้นของโครงการเรียน “ตัวเมือง” บางวูบ และอุดมศึกษาเชิดชูเพียงรูปภาพท้องถิ่น ป้ายชื่อสถาบัน ชุดแต่งกายแบบสาว “กาสะลอง” ชูภาพ “วัดต้นเกว๋น” ฯลฯ

แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารระบบราชการ-ระบบการศึกษา-องค์กรปกครองท้องถิ่น-วัด-กระบวนทัศน์ อย่างมีนัยยะสำคัญ

อ้ายจรัลมาเบ่งบาน ขับขานรื้อฟื้นจิตวิญญาณหลายส่วน แล้วก็จากไปก่อนวัยอันควร

เมื่อคนล้านนาแบบอ้ายจรัลโด่งดัง และด้วยบุคลิกที่ยอดเยี่ยม อ้ายก็ถูกดึงไปร่วมแทบทุกๆ รายการเพื่อสาธารณกุศล ไปแสดงภาพยนตร์ ออกรายการต่างๆ ในทีวี ร้องเพลง เล่นดนตรีจนดึกดื่นทุกคืน เดินทางทุกๆ สัปดาห์ และจัดรายการต่างๆ เพื่อพัฒนาเยาวชนในชนบท

ใครๆ ก็วิ่งไปหาอ้ายจรัล อ้ายจรัลก็ตอบรับทุกคำร้องขอ แล้วสังขารนั้นก็คงรับไม่ไหว

 

18 ปีแล้วที่อ้ายจรัลจากไป ยังคงไม่มีใครมาทดแทน ตราบใดที่โครงสร้างต่างๆ และระบบยังคงกระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวง และคนท้องถิ่นไม่น้อย แม้จะมีใจให้ ก็ได้แต่รอคอย

ต้นยางบนถนนเชียงใหม่-สารภียังอยู่ ไม่ใช่เพราะการรื้อฟื้น แต่เพราะมันสูงใหญ่เกินไป

ต้นสักรอบกำแพงเมือง ต้นสักบนถนนเชียงใหม่-แม่ริม ต้นประดู่บนถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ต้นขะยอมบนถนนสุเทพ และต้นขี้เหล็กบนถนนเชียงใหม่-หางดง หายไปเกือบทั้งหมด คงมีเพียงต้นฉำฉา บนถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ที่เหลืออยู่บ้าง

ส่วนข้อเสนอให้จัดทำอนุสาวรีย์เล็กๆ ให้อ้ายจรัลสักแห่งที่ข่วงท่าแพ ยังคงเงียบงัน ผิดกับการคึกคัก-ครึกครื้นของศูนย์การค้าต่างๆ และจำนวนรถราที่เพิ่มขึ้นๆ ไม่หยุดยั้ง

18 ปีที่อ้ายจรัล จากไป…เพลง “ซึงสุดท้าย” ของอ้ายฟังแล้วเศร้านัก แต่ความหมายนั้นช่างลึกซึ้งเหลือเกิน…