ไซเบอร์ วอทช์เมน : พื้นที่เสรีภาพโลกออนไลน์ หดลงอีกขั้น

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสามารถเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อรัฐบาลคิดว่าตัวเองปลอดภัย”
(Freedom of opinion can only exist when the government thinks itself secure)

เบอร์ทรันด์ รัสเซลส์
นักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่ากลัวมากขึ้นคือ ในจำนวน 17 มาตราของ พ.ร.บ.นี้ ที่ควรจับตามากที่สุดคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ทุกวิธีการในการเข้าถึงข่าวสารที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 6 ที่ว่า

“เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป”

แต่ที่น่ากังวลที่สุดอยู่ที่วรรค 2 ของมาตรานี้ที่ว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอน การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เหตุผล ความจำเป็น วิธีการ บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ และระยะเวลาในการดำเนินการ รวมทั้งวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบ ต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง”

และวรรค 3 ของมาตรา 6 ถือเป็นการรับรองความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามมาตรานี้ว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ หากได้กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

พอกฎหมายฉบับนี้ออกมา เสียงความเห็นก็ออกมาได้ 2 ทิศทางใหญ่ คือ เสียงสนับสนุนกับเสียงคัดค้านและเป็นห่วง

หากเรายืนอยู่ฝ่ายสนับสนุน ก็ต้องบอกกับคนอื่นว่าการข่าวเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงมากโดยเฉพาะยุคดิจิตอล ที่รูปแบบการทำสงครามเปลี่ยนเป็นการทำสงครามด้วยข้อมูล การข่าวจึงจำเป็นและสำคัญมากในการปกป้องประเทศหรืออำนาจอธิปไตย

หรือหากยืนในฐานะประชาชนธรรมดา คำถามโดยหลักคือ การล้วงข้อมูลด้วยทุกวิธีการ ทั้งแฮ็กของบัญชีส่วนตัวโซเชียลมีเดีย แฮ็กเข้าอีเมลส่วนตัว ดักฟังทางโทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ โดยที่เราไม่ใช่เป้าหมายหรือศัตรูของรัฐ สมควรแล้วหรือที่ต้องเข้ามาดูคนทั่วไปที่ไม่ใช่เป้าหมาย

ถือเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่?

อะไรคือเหตุผลของการกระทำ เหตุผลดังกล่าวสมเหตุสมผลต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่

สิ่งนี้ผู้ใช้อำนาจอาจต้องตอบคำถามสังคม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการออกกฎหมายในสภาพที่ประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร คสช. แม้จะผ่านการเลือกตั้งทั่วไป แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กลไกสภาที่ คสช.แต่งตั้งเอง ก็มาออกกฎหมายรัวต่อเนื่องช่วงสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง

ปัญหาย่อมมีตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่ที่ว่า กฎหมายที่ส่งผลต่อชีวิตประชาชนแต่ออกโดยตัวแทนที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่?

 

มีความเห็นจากนักกฎหมายอย่าง ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ก็โพสต์ข้อสังเกตต่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ได้ยกประเด็นตั้งคำถามไว้ 5 ข้อ โดยสรุปคือ

1. การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเพื่อให้ได้ข่าวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากศาล ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไม่สุจริตและไม่ชอบธรรม และการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่

2. ในมาตรา 6 ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายในกรณีกระทำโดยสุจริต แม้จะมีข้อดีในการให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ก็อาจจะเป็นเหรียญสองด้าน โดยอีกด้านอาจจะเป็นการอ้างและใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติกฎหมายในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้

3. การใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่

4. อำนาจตามกฎหมายใน พ.ร.บ.นี้ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือไม่

และ 5. การออกกฎหมายฉบับนี้ที่ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจส่งผลนำไปสู่
(1) การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ) พ.ศ.2561 มาตรา 41 และมาตรา 7 (1)

(2) การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่นี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 48 ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้

 

การปรากฏของ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ที่เพิ่มส่วนการเจาะเอาข้อมูลด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาจทำให้นึกถึงร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ให้ประกาศเป็นกฎหมายและส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ซึ่งในไม่ช้าก็ประกาศเผยแพร่อย่างแน่นอน ได้สะท้อนถึงการกระชับพื้นที่เสรีภาพบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มการตรวจตรา สอดแนมความเคลื่อนไหวของข้อมูลและทัศนะความคิดของประชาชนจำนวนมาก เพื่อสกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารที่ผิดพลาดและประเด็นทุจริตที่บั่นทอนเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

ดังนั้น การบอกกับสังคมว่า กฎหมายไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ก็เพราะรัฐผู้ใช้กลไกและอำนาจยังไม่โดนประชาชนจับได้ว่า ตัวเองสอดส่องชีวิตประจำวันของประชาชนอยู่

หากเราพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด ไม่ว่าการอ้างว่า “ภัยต่อความมั่นคงไซเบอร์” เท่ากับ “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน การตั้งศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก การปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดอาจนำไปสู่จุดประสงค์เดียวคือ เพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐบาลทหาร คสช.จากฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านการรัฐประหาร จนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์

หรือย้อนกลับไปตอนที่ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวยอมรับว่า โซเชียลมีเดียทรงอานุภาพกว่าทุกอาวุธในกองทัพ ก็เป็นการบอกโดยนัยให้สาธารณชนเข้าใจแล้วว่า การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ สร้างความกลัวต่อองค์กรรัฐหรือรัฐบาลที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อมุ่งจะควบคุมความคิดและข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้ขนาดไหน

การออกกฎหมายโดยอ้างความมั่นคงของชาติ เพื่อปิดปากและบีบพื้นที่แห่งการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จึงเป็นการทำลายศักยภาพของประชาชนไม่ให้เติบโตทางความคิด ซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้าของประเทศด้วย

ถ้าความมั่นคงของชาติ คือชีวิต สิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน การดำรงอยู่ของกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนจึงเป็นเรื่องอันตราย และกฎหมายที่เป็นอันตรายต้องถูกยกเลิกในที่สุด