คณิต ณ นคร : ปัญหากฎหมายในบ้านเมือง ว่าด้วยความเข้าใจและการบังคับใช้กฎหมาย

การกระทำในทางกฎหมาย (ตอนจบ) ย้อนอ่าน ตอน  2

3.ความเข้าใจกฎหมายและหลักกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมาย

ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหากฎหมายในบ้านเมืองเรานั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีอยู่ 2 เรื่อง คือ

“ความเข้าใจกฎหมายและหลักกฎหมาย” และ “การบังคับใช้กฎหมาย”

เกี่ยวกับปัญหา “การบังคับใช้กฎหมาย” นั้น เมื่อครั้งผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ผู้เขียนได้จัดตั้ง “สถาบันกฎหมายอาญา” ขึ้นในสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้เป็นหน่วยงานในการผลักดันเกี่ยวกับ “การบังคับใช้กฎหมาย” แต่ครั้นเมื่อผู้เขียนพ้นจากราชการไปแล้ว “สถาบันกฎหมายอาญา” ก็สิ้นบทบาทไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาข้างต้นนั้น กล่าวคือ “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2561 นั้น ผู้เขียนเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ความเข้าใจกฎหมายและหลักกฎหมาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ ความเข้าใจ “การกระทำ” (Akt/Act) ในทางกฎหมาย

“การกระทำ” (Akt / Act) ในทางกฎหมายนั้น มีอยู่ 3 ประการ คือ

(1) การกระทำของรัฐบาล (Regierungsakt / Government Act) ซึ่งเป็นเรื่องของ “นโยบาย”

(2) การกระทำในทางบริหาร (Verwaltungsakt / Administrative Act) ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร

(3) การกระทำในทางยุติธรรม (Justizakt / Justice Act) ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ คือ การกระทำในคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการ

และการกระทำในคดีของพนักงานอัยการ

เกี่ยวกับการกระทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น นักกฎหมายของไทยดูจะยังแยกแยะไม่ออกระหว่าง “การกระทำของรัฐบาล (Regierungsakt / Government Act) “การกระทำในทางปกครอง” (Verwaltungsakt / Administrative Act) และ “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act)

“การกระทำในทางปกครอง” (Verwaltungsakt / Administrative Act) หากมีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น กรณีก็จะนำไปสู่ “ศาลปกครอง” (Verwaltungsgericht / Administrative Court) ดังนั้น “การกระทำในทางปกครอง” (Verwaltungsakt / Administrative Act) จึงมีช่องทาง “การเยียวยาทางศาล” (Rechtsmittel / Legal Remedy)

ส่วน “การกระทำของรัฐบาล” (Regierungsakt / Government Act) นั้นเป็นเรื่องของ “นโยบาย” ซึ่งการที่รัฐบาลจะดำเนิน “นโยบาย” ใดๆ ได้นั้น ตามปกติต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

(ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 262 เป็นต้นไป)

ดังนั้น “การกระทำของรัฐบาล” จึงไม่มี “การเยียวยาทางศาล” (Rechtsmittel / Legal Remedy) ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องในทางการเมือง หากเกิดความผิดพลาดในเรื่อง “นโยบาย” ก็จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่คือรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่สังคมไทยเราใฝ่หา

แต่กรณีก็มีบุคคลถูกฟ้องเป็นความอาญาและถูกลงโทษในเรื่องเกี่ยวกับ “นโยบาย”

และ “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ก็ไม่มี “การเยียวยาทางศาล” (Rechtsmittel / Legal Remedy) ใดๆ เช่นเดียวกันถ้าได้กระทำไปโดยสุจริต

(ดู คณิต ณ นคร “อำนาจฟ้องคืออำนาจศาล” อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม (พิมพ์คู่กับ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”) พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2537 หน้า 109-135; vgl auch Landmann Giers Proksch, Allgemeines Verwaltungsrecht, 4. Auflage, D?sseldorf 1969 S.151 ff.) และดู คณิต ณ นคร “การถอนฟ้องคดีอาญา” จริยธรรมนักกฎหมายกับการปฏิรูปกฎหมาย พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2561 หน้า 135-147 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 146)

ดังนั้น ในทางกฎหมายแล้ว การกระทำของผู้พิพากษาและตุลาการ ซึ่งเป็น “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ย่อมได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว

เหตุนี้กรณีจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มครองผู้พิพากษาศาลยุติธรรมดังกล่าวมาข้างต้นกันไปทำไม มิเป็นการฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐและภาษีที่ผู้เขียนเสียไปให้แก่รัฐหรอกหรือ

“การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizsakt / Justice Act) ในหลักการแล้ว นอกจากคุ้มครองการกระทำในคดีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมแล้ว ยังคุ้มครองการสั่งคดีตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการด้วย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การสั่งคดีของพนักงานอัยการก็เป็น “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizsakt / Justice Act) ที่ไม่มี “การเยียวยาทางศาล” (Recntsmittel / Legal Remedy) เช่นเดียวกัน

แต่จากความไม่เข้าใจเรื่อง “การกระทำ” (Akt / Act) ในทางกฎหมายดังกล่าวมาแล้วของนักกฎหมายของไทยเรา พนักงานอัยการของประเทศไทยเราจึงเคยถูกฟ้องว่าได้กระทำความผิดในทางอาญามาแล้ว

(ดู เป็นต้นว่า คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3509/2549 จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา หน้า 788)

สรุปว่า ผู้พิพากษาต้องไม่กลัวเกี่ยวกับ “การกระทำในคดี” หรือ “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ของตน และพนักงานอัยการก็ไม่ต้องกลัวใน “การสั่งคดี” หรือ “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ของตนด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ” และตาม “กฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ได้บัญญัติให้ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ต้องใช้ “ระบบไต่สวน” เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้ว และสรุปส่งท้ายว่า

“การดำเนินคดีของศาลปกครองก็ดี ของศาลแรงงานก็ดี และของศาลยุติธรรมทุกศาลไม่เฉพาะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก็ดี แท้จริงต่างดำเนินคดีโดย “หลักการตรวจสอบ” (Examination Principle) ที่เหมือนกันทั้งสิ้น หรือในการดำเนินคดีในศาลทั้งสามประเภทโดยใช้ “ระบบไต่สวน” ที่เหมือนกันนั่นเอง”

(ดู คณิต ณ นคร “ระบบไต่สวนตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” จริยธรรมนักกฎหมายกับการปฏิรูปกฎหมาย พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2561 หน้า 49-80)

อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่า แต่ขณะนี้มีการกล่าวกันว่า หลังจากที่ได้มีการจัดตั้ง “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ตาม “กฎหมายว่าด้วยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ผู้พิพากษาถูกฟ้องกันเป็นจำนวนมาก

กรณีถึงกับต้องมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมกันหรืออย่างไร

บทสรุป

“การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ซึ่งเป็นการกระทำในคดีของผู้พิพากษาและตุลาการ และเป็นการกระทำในคดีของพนักงานอัยการ ย่อมไม่มี “การเยียวยาทางศาล” (Rechtsmittel / Legal Remedy) ใดๆ

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหลายในอดีตนั้น ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกท่านไม่เคยหวั่นไหวกับ “การกระทำในคดี” หรือ “การกระทำในทางยุติธรรม” (Justizakt / Justice Act) ของตนแต่อย่างใด เพราะต่างยึดมั่นใน “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา”

ดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด ผู้เขียนจึงใคร่ขอสรุปว่า

กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยศาลยุติธรรมดังกล่าวมาในบทความนี้ เป็นกฎหมายที่ฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอย่างแท้จริง และกระทบต่อภาษีที่ผู้เขียนเสียให้แก่รัฐด้วย