คณิต ณ นคร : การกระทำในทางกฎหมาย

การกระทำในทางกฎหมาย (1)

ขณะนี้ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2561” ออกใช้บังคับ และพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 97 ก ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561

(ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่มดังกล่าว หน้า 1-5)

บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมานี้ที่ผู้เขียนมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ บทบัญญัติมาตรา 6/1 ซึ่งมีข้อความว่า

“มาตรา 6/1 การพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งข้าราชการตุลาการได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

เหตุผลในการบัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 6/1 ลงไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความว่า

“โดยที่มาตรา 188 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี สมควรกำหนดความคุ้มครองผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต”

(ดู หมายเหตุ ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ใน ราชกิจจานุเบกษา หน้า 5)

การที่ผู้เขียนกล่าวว่าบทบัญญัติมาตรา 6/1 เป็นบทบัญญัติที่ผู้เขียนมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งก็เพราะว่า

การตรากฎหมายใดๆ ออกใช้บังคับนั้น ผู้เขียนเห็นว่า โดยหลักการแล้วกรณีจักต้องเกิดจากความจำเป็นเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วการตรากฎหมายออกใช้บังคับก็จะเป็นการฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดิน

ซึ่งงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการตรากฎหมายนั้น ย่อมรวมถึงภาษีที่ผู้เขียนได้ชำระให้แก่รัฐด้วย

1.ตัวอย่างบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติ

ในบ้านเมืองไทยเรานั้น ส่วนราชการต่างๆ ได้ผลักดันจนเกิดกฎหมายที่ขาดความจำเป็นมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งโดยการผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย และการผลักดันให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติ

1.1 บทบัญญัติที่ไม่จำเป็นที่เกิดขึ้นในประมวลกฎหมาย

เมื่อปี พ.ศ.2551 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีการเพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 226/1 ลงไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีข้อความดังนี้

“มาตรา 226/1 ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น

(2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี

(3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ

(4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด”

ซึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 226/1 นี้ ผู้เขียนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ว่า

“เป็นบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับหลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไปเลยทีเดียว เป็นบทบัญญัติที่กระทบต่อความเป็นเสรีนิยมอันเป็นหลักการที่สำคัญของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยเรา”

และผู้เขียนได้กล่าวต่อไปอีกว่า

“บทบัญญ้ติแห่งมาตรานี้เป็นเพียงการวางแนวทาง (Guideline) สำหรับผู้พิพากษาเท่านั้น ไม่ได้มีหลักการอะไรเป็นพิเศษแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นบทบัญญัติที่อาจถูกมองว่าผู้ที่เป็นผู้พิพากษานั้นขาดความคิดในเชิงตรรกโดยสิ้นเชิง ควรเป็นแนวทางในการฝึกอบรมผู้พิพากษามากกว่านำมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย”

(ดู คณิต ณ นคร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์วิญญูชน มกราคม 2560 หน้า 179 เชิงอรรถที่ 322)

และในปี พ.ศ.2551 เช่นเดียวกัน ได้มีการเพิ่มเติมมาตรา 227/1 ลงไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 227/1 มีข้อความว่า

“มาตรา 227/1 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย”

การเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 227/1 ลงไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น มีเหตุผลว่า

“โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับพยานหลักฐานแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศในปัจจุบัน”

ซึ่งเกี่ยวกับการเพิ่มเติมมาตรา 227/1 ลงไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า

“การเพิ่มเติมมาตรา 227/1 นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความทันสมัยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลายเป็นการกระทำที่เป็นการจำกัดอำนาจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน กรณีจึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มิได้ตั้งอยู่บน “หลักความเป็นอิสระในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน” (Prinzip der freien Beweisw? rbdigung / principle of free evaluation of evidence) จนกลายเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย”

[ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 8 หน้า 77-78 (ตำราเล่มนี้ได้พิมพ์เป็นครั้งที่ 9 แล้ว และข้อความดังกล่าวมาอยู่ในฉบับพิมพ์ใหม่ หน้า 104-106); และดู คณิต ณ นคร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ พิมพ์ครั้งที่ 3 มกราคม 2560 หน้า 183 เชิงอรรถที่ 336]

นอกจากตัวอย่างสองมาตราที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาแล้ว ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังมีบทบัญญัติอีกหลายบทบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปีเดียวกันและผู้เขียนได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ทำนองเดียวกันว่าเป็นบทบัญญัติที่ฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

(ดู รายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน คณิต ณ นคร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์วิญญูชน มกราคม 2560)

1.2 บทบัญญัติที่ไม่จำเป็นในพระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนใน “การปล่อยชั่วคราว” ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 26 มาตรา 29 และมาตรา 30

เกี่ยวกับ “การปล่อยชั่วคราว” ดังกล่าวไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวมานั้น หากองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทุกองค์กรมีหลักในการทำงานแล้ว “การปล่อยชั่วคราว” ก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น เพราะการที่จะเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐจักต้องเกิดจากความจำเป็นเท่านั้น กล่าวคือ

มี “เหตุการหลบหนี” มี “เหตุการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน” และมี “เหตุการก่ออันตรายประการอื่น” เท่านั้น

และเมื่อมีเหตุทั้งสามประการดังกล่าว กรณีก็จักมี “การปล่อย” ตัวบุคคลหรือจักมี “การปล่อยชั่วคราว” ไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น บทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จึงเป็นบทบัญญัติที่ฟุ่มเฟือยเช่นกัน ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับ “การปล่อยชั่วคราว” นี้ผู้เขียนได้เคยเขียนเป็นบทความไว้

(ดู รายละเอียดใน คณิต ณ นคร “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” ใน ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า 131-143)