คณิต ณ นคร : การเล่นฟุตบอลกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเรา

ย้อนอ่านตอน (1)
การกระทำในทางกฎหมาย (2)

2.การเล่นฟุตบอลกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเรา

ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไป ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวเพื่อทราบถึงสิ่งที่ผู้เขียน “ได้กระทำและได้กระทำมาโดยตลอด” นับตั้งแต่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาโดยทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดกลับมา คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมาเสียก่อน

เรื่องที่ผู้เขียน “ได้กระทำมาและได้กระทำมาโดยตลอด” คือเรื่องเกี่ยวกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”

(ดู เป็นต้นว่า คณิต ณ นคร การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ และบทความต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน ธันวาคม 2552; ดู คณิต ณ นคร กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของคณิต ณ นคร พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2556)

เมื่อผู้เขียนได้รับเลือกให้เป็นผู้หนึ่งใน “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540” หรือ “สสร. 2540” นั้น ผู้เขียนได้ผลักดันให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นเป็นผู้ออกหมายอาญา กล่าวคือ เป็นผู้ออกหมายจับและออกหมายค้น

เกี่ยวกับอำนาจในการออกหมายจับนั้น เดิมทีเดียวถ้าเป็นการออกหมายจับผู้ต้องหาที่มิได้อยู่ในอำนาจศาล กรณีเป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้น เจ้าพนักงานตำรวจในขณะที่ “สสร. 2540” กำลังดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญกันนั้น จึงได้พยายามคัดค้านการดำเนินการของ “สสร. 2540” สุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการออกหมายจับ

ดังนั้น เพื่อลดความขัดแย้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงต้องมีบทบัญญัติเฉพาะกาลไว้ว่า ให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการออกหมายจับให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนด 5 ปีแล้ว กรณีก็ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการออกหมายจับ เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงเป็นปัญหาขึ้นไปสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยมติที่ประชุมมีความเห็นว่า บัดนี้ครบ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลแล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่จะออกหมายจับได้

และในที่สุดก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ขึ้นเมื่อปี 2547 และแล้วต่อมาในปี พ.ศ.2549 ก็ได้มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศกันอีก

กรณีเกี่ยวกับการออกหมายจับนี้ ผู้เขียนจึงได้เคยกล่าวว่า นับเป็นโชคดีของคนไทยอย่างมากที่การแก้ไขเพิ่มเติมได้เกิดขึ้นก่อนการยึดอำนาจ เพราะมิฉะนั้นแล้วกรณีก็จะกลับไปสู่ที่เดิม คือ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ออกหมายอาญาหรือออกหมายจับต่อไป

สิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” นั้น ดูเหมือนสังคมนักกฎหมายของประเทศไทยเราจะยังไม่ค่อยเข้าใจความคิดหรือสิ่งที่ผู้เขียนสื่อออกไป ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจง่ายผู้เขียนจึงได้พยายามเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมของไทยเรากับการเล่นฟุตบอล โดยผู้เขียนได้กล่าวไว้ดังนี้

“อยากจะกล่าวว่า สังคมเราในปัจจุบันมีสูตรเช่นเดียวกับการเล่นฟุตบอล ความเป็นไปในสังคมเราในปัจจุบันนั้น ผมเห็นว่าเป็นไปตามสูตร 3-3-3

สามแรก คือ (1) กฎหมาย (2) นักกฎหมาย และ (3) การเรียนการสอนกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนกฎหมายวิธีสบัญญัติ

ในสามแรกนี้ผมใคร่จะกล่าวว่ากฎหมายวิธีสบัญญัติของเราไม่ด้อยไปกว่ากฎหมายวิธีสบัญญัติของประเทศใดในโลก แต่นักกฎหมายเรานั้นยังไม่ดีเลย แล้วถามว่านักกฎหมายที่ยังไม่ดีมาจากไหน

คำตอบก็คือ มาจากสถาบันการศึกษากฎหมายทั้งจากสถาบันทางวิชาการและสถาบันทางวิชาชีพ เพราะเราสอนกันแต่ให้จำทางปฏิบัติและจำคำพิพากษาศาลฎีกา

ส่วนหลักกฎหมายที่ถูกต้องเราสอนกันน้อยมาก จนศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า นักกฎหมายเราเป็นเพียง “ช่างกฎหมาย” เท่านั้น สังคมเราจึงมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเต็มไปหมด

สามที่สอง เป็นเรื่องของพฤติกรรมของบุคคล (บางคนหรือส่วนมาก?) ในกระบวนการยุติธรรม คือ (1) ทำงานกันอย่างไม่มีความเป็นภววิสัยอย่างแท้จริง (2) ทำงานกันอย่างมีความกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลัวอิทธิพลการเมือง และ (3) ทำงานกันอย่างประจบประแจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประจบประแจงการเมือง

สามที่สาม เป็นเรื่องของประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ กระบวนการยุติธรรมของเรามีความแย่อยู่สามประการ คือ

(1) เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพแย่ที่สุด เช่น แม้การยิงกันในสถานที่ที่มีคนเยอะแยะไปหมดก็ยังยกฟ้อง

(2) เป็นกระบวนการยุติธรรมที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลมากที่สุด เช่น การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐในระหว่างคดีโดยมากปราศจากความจำเป็น เช่นที่ผมได้วิเคราะห์ไว้ในบทความของผมเรื่อง “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม” ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น

และ (3) เป็นกระบวนการยุติธรรมที่แพงสุดๆ เช่น การปล่อยให้มีการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริง และทางปฏิบัติของศาลในสองชั้นนี้ก็มีเพียงการตรวจดูสิ่งที่ศาลชั้นต้นทำมา แล้วพิพากษาคดีไปเลยทีเดียวโดยไม่เปิดเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) แล้วเชื่อเหมือนหรือเชื่อต่างจากศาลชั้นต้น ทางปฏิบัติที่ยึดถือกันมาดังกล่าวนี้จึงไม่อาจอธิบายได้โดยใช้ศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าตรรกศาสตร์หรือจิตวิทยาพยานหลักฐาน กรณีจึงทำให้ศาลฎีกาเรามีผู้พิพากษาเป็นจำนวนร้อย ในขณะที่ศาลสูงสุดของประเทศอื่นมีเพียงเป็นจำนวนสิบเท่านั้น เพราะศาลสูงสุดของเขาพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น”

(ดู คณิต ณ นคร ครูกฎหมาย นักกฎหมายและหลักวิชาชีพนักกฎหมาย พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม 2558 หน้า 16-17)