
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | มงคล วัชรางค์กุล |
เผยแพร่ |
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ อิวิตา เปรอง ฮวน เปรอง และรัฐบาลทหารอาร์เจนตินา
จะเที่ยวอาร์เจนตินาให้สนุก ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศึกษาเรื่องราวการเมืองที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
แล้วจะเข้าใจว่า ชาวอาร์เจนติเนียนต่อสู้จนผ่านเหตุการณ์แห่งความเจ็บปวดและขมขื่น
มาได้อย่างไร
อิวิตา เปรอง (Evita Peron)
ชื่อเดิมของเธอคือ Maria Eva Duarte ผู้เป็นอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งที่มีผลงานโดดเด่นจารึกในหน้าประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา
เอ่ยชื่ออาร์เจนตินา ก็ต้องนึกถึงอิวิตา เปรอง สองชื่อนี้แยกกันไม่ได้
อิวิตาถือกำเนิดเมื่อ 7 พฤษภาคม 1919 ในชนบทของอาร์เจนตินาในครอบครัวยากจน พ่อของเธอเสียชีวิตเมื่ออิวิตาอายุ 7 ขวบ เธอจึงมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น จนเมื่ออายุ 15 ปี อิวิตาหนีตามไอ้หนุ่มละครเร่เข้ามาเป็นสาวนักเต้นแทงโกในเมืองหลวงบัวโนสไอเรส

การเป็นสาวเต้นแทงโกไม่สามารถดำรงชีพได้ตลอดรอดฝั่ง ดังนั้น อิวิตาจึงต้อง “ออฟ” กับแขกที่มาหิ้วตัวไปในยามค่ำคืน
แต่อิวิตาไม่หยุดชีวิตตัวเองไว้ที่โรงเต้นแทงโก เธอสมัครเข้าเป็นผู้จัดรายการวิทยุและเริ่มไต่เต้าสู่บันไดดาราด้วยการถ่ายแบบในหนังสือพิมพ์ แสดงหนัง จนได้เป็นดาราดังสมใจ
ปี 1944 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอาร์เจนตินา คณะทหารผู้ปกครองประเทศและเหล่าดาราศิลปินต่างมาจัดงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายพลโทฮวน เปรอง (Juan Domingo Peron) สมัยนั้นเป็นรองประธานาธิบดีในรัฐบาลทหารได้พบกับอิวิตาที่าทำหน้าที่พิธีกรในงานและตกหลุมเสน่ห์ทันที “หิ้ว” อิวิตาไปในค่ำคืนนั้น
ถึงแม้นายพลเปรองจะมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อได้พบกับอิวิตาเปรองก็หย่าขาดกับภรรยาเก่ามาแต่งงานกับอิวิตาในปีถัดไป
ปี 1946 เปรองลงสมัครได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี อิวิตาในวัย 26 ปีจึงได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอทำงานการเมืองด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานและคนยากคนจนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
อิวิตาทุ่มเททำงานในกระทรวงแรงงานและความมั่นคงทางสังคม เธออุทิศตนเพื่อการปฏิรูปสังคม ดูแลเรื่องการศึกษา สวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล และสิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

อิวิตาจึงเป็นขวัญใจประชาชนทั้งในด้านความงาม ความเฉลียวฉลาด และความทุ่มเทในการทำงาน
การปราศรัยของอิวิตาจากหน้าทำเนียบประธานาธิบดีท่ามกลางฝูงชนแน่นขนัดเต็ม Plaza de Mayo ในปี 1952 เป็นฉากประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอาร์เจนตินา
และเป็นฉากสำคัญในหนังและละครเรื่อง Evita ที่จะขึ้นมาพร้อมกับเพลง Don”t Cry For Me Argentina
การปราศรัยครั้งนั้นมีผลให้ฮวน เปรอง ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนถล่มทลาย
วันที่ 2 มกราคม 1952 รัฐสภามีมติวาระพิเศษให้ขนานนามอิวิตาว่า “ผู้นำทางจิตวิญญาณของประชาชาติ” (Spiritual Leader of the Nation)
ไม่นานหลังจากการปรากฏกายในขบวนแห่เฉลิมฉลองตำแหน่ง ประธานาธิบดีของฮวน เปรอง อิวิตาก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1952 ด้วยโรคลูคีเมีย มะเร็งในเม็ดเลือด ด้วยวัยเพียง 33 ปี
ประธานาธิบดีเปรองบรรจุศพของอิวิตาในสุสานอย่างดี ฉีดยา บรรจุในโลงเหมือนศพสตาลิน แต่เมื่อเปรองถูกทหารทำรัฐประหารอีกสามปีต่อมา จนต้องหนีออกนอกประเทศ ศพของอิวิตาก็ถูกทหารขุดคุ้ยนำไปซ่อนเร้นยังสถานที่แห่งหนึ่ง
เป็นการทำลายสัญลักษณ์ของลัทธิเปรองที่มีความหมายระดับ “เทพ” ให้สิ้นสุดลง
ต่อมาเมื่อคณะทหารเจรจากับเปรองที่ลี้ภัยอยู่ในสเปน ศพของอิวิตาจึงถูกส่งไปอยู่ในสเปนนานเกือบ 20 ปี
จนเปรองกลับมาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สามในปี 1973 ภรรยาคนที่สามของเปรองที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีตามกฎหมาย
และเธอได้สั่งเคลื่อนย้ายศพของอิวิตากลับมาฝังในบัวโนสไอเรส ณ สุสานของตระกูลของครอบครัวเธอ อันเป็นอนุสรณ์สถานที่บรรดานักท่องเที่ยวพากันไปเยี่ยมชมในปัจจุบัน
อิวิตาทำงานการเมืองอยู่ 6 ปี (1946-1952) ผลงานเหล่านั้นสร้างเกียรติประวัติอันเกริกไกรให้ชื่อของอิวิตาเคียงคู่กับอาร์เจนตินาตลอดกาล
พลโทฮวน เปรอง
หลังการเสียชีวิตของอิวิตา เปรอง และการขึ้นเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนตินาสมัยที่สองของฮวน เปรอง ในปี 1952 เขาอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 1955 ก็โดนทหารทำรัฐประหาร
ฮวน เปรอง หนีไปปารากวัย ประเทศที่อยู่ทางเหนือของอาร์เจนตินา และบัญชาการการต่อต้านการปกครองของทหารจากนอกประเทศ
ต่อมาฮวน เปรอง ย้ายไปอยู่ในปานามา ที่นี่เขาได้พบกับดาราคาบาเรต์ชื่อ Isabel Martinez และตกหลุมรักจนแต่งงานกันเป็นภรรยาคนที่สาม
ฮวน เปรอง เป็นนายพลที่พ่ายเสน่ห์ดาราสาวเสมอมา
ฮวน เปรอง หอบหิ้วอิสซาเบล มาร์ติเนส ไปอยู่ในสเปนภายใต้การอุปถัมภ์ของนายพลฟรังโก อีกหนึ่งตำนานของศึกสเปน
คณะนายทหารผู้ยึดอำนาจในอาร์เจนตินาไม่สามารถเอาชนะลัทธิ “เปรอง” (Peronism) ที่นายพลเปรองสร้างไว้ได้ ลัทธินี้เน้นแนวคิดสามด้าน คือ
ชาตินิยม คือ ความเป็นเอกราชทาง ศก. ไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งซื้อคืนสาธารณูปโภคทั้งหมดมาเป็นของรัฐ
สังคมนิยม คือ ความยุติธรรมทางสังคม ให้สวัสดิการกับคนยากจนทั้งเรื่องค่าจ้าง การสร้างบ้าน การศึกษาที่ไม่ต้องจ่ายเงิน และการรักษาพยาบาล
อำนาจนิยม คือ แนวคิดทางประชาธิปไตยเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วสามารถใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด
ชาวอาร์เจนติเนียนในยุคนั้นคลั่งไคล้จนเกิดเป็นขบวนการเปรอง (Peronism) ที่ทหารไม่สามารถโค่นล้มได้ จึงจำต้องยอมเจรจากับเปรอง และให้เปรองกลับอาร์เจนตินา มาสู่การเลือกตั้งจนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามในปี 1973
แต่เปรองก็เป็นประธานาธิบดีได้เพียงปีเศษเพราะเขาเสียชีวิตในปี 1974
อิสซาเบล เดอ เปรอง ภรรยาของเปรองที่ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามกฎหมาย แต่เป็นอยู่ไม่นานก็โดนทหารทำรัฐประหารโค่นอำนาจ
ยุคสมัยเผด็จการทหารอาร์เจนตินา
เผด็จการทหารอาร์เจนตินาดำเนินมาหลายยุคหลายสมัยสลับกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ระบอบเผด็จการทหารอาร์เจนตินายุคสุดท้ายเริ่มปี 1975
จนถึงปี 1985 เป็นยุคที่โหดร้ายทารุณที่สุด เพราะทหารปกครองอย่างเหี้ยมโหด ประชาชนผู้ต่อต้านถูกทำให้หายสาปสูญเรือนหมื่นคน โดนจับเข้าคุกอีกจำนวนมาก เด็กที่เกิดในคุกก็นำมาแบ่งปันกันในครอบครัวทหารเพื่อนำไป “ล้างสมอง”
มีชื่อเรียกยุคการปกครองทหารยุคนี้ว่า “ยุคสงครามสกปรก (Dirty War)”
บรรดาแม่ที่สูญเสียลูกไปใน “สงครามสกปรก” รวมตัวกันภายใต้ชื่อ “Mothers of Plaza de Mayo” หรือมารดาแห่งพลาซ่า เดอ เมย์โย นัดเดินขบวนกันทุกบ่ายวันพฤหัสบดีตั้งแต่ปี 1977 กดดันรัฐบาลทหารให้รับผิดชอบต่อการหายสาบสูญของบรรดาลูกหลานชาวอาร์เจนติเนียนและให้มีการเลือกตั้ง
แต่ทหารก็อ้างเหมือนกับเผด็จการทั้งหลายในโลก คือ “ต้องมีการปฏิรูป” เสียก่อนจึงจะยอมให้มีการเลือกตั้ง
การเดินขบวนกดดันของ Mothers of Plaza de Mayo ดำเนินไปเกือบสิบปี จนทหารยอมคลายมือให้มีการเลือกตั้งในปี 1985
ประธานาธิบดีคนแรกหลังยุคทหารเข้ามาบริหารประเทศด้วยความกล้าหาญ ประกาศยกเลิกกฎหมายกดหัวประชาชนทั้งหมด และจับบรรดาเผด็จการทหารเข้ารับการพิจารณาโทษในศาล นายพลเผด็จการหลายสิบคนถูกศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นายพลคนหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตในคุกเมื่อปีที่แล้ว
ถึงเวลาจะเนิ่นนานผ่านไปหลายสิบปี แต่เหล่าเผด็จการทหารอาร์เจนตินาต้องชดใช้
แล้วอาร์เจนตินาจึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

หันมามองย้อนดูประเทศไทย
เรายังอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร มีการบัญชาการต่อต้านทางการเมืองจากนอกประเทศเหมือนยุคหลังฮวน เปรอง โดนรัฐประหาร แต่ไม่มีการเจรจาระหว่างทหารกับฝ่ายตรงข้าม (เท่าที่รู้มา)
เมืองไทยเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ยุคการเลือกตั้งหลังรัฐบาลทหารเหมือนอาร์เจนตินาปี 1985 และยังไม่รู้ว่าประเทศชาติจะเดินไปทางไหน
ประชาธิปไตยในเมืองไทย “ล้าหลัง” อาร์เจนตินาอย่างน้อย 33 ปี