100ปี “ไพบูลย์ บุตรขัน” / เพลง “ลูกทุ่ง” คือ “ตลาดล่าง” ?

ถูกกล่าวหาว่าเป็นเพลงตลาดล่างมาตั้งแต่เริ่มคลอด กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีงานระดับที่พอจะเชิดหน้าชูตาว่าเป็นศิลปะที่มีความละเมียดละไมไม่แพ้สกุลอื่นก็ใช้เวลานาน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีคนสร้างงานที่ทำให้ถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นงาน “ตลาดล่าง” ออกมาบ้าง แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันไม่มีข้อยุติ

ไม่อาจวัดค่าหรือตัดสินได้ว่า “ลูกทุ่ง” คือ “ตลาดล่าง” หรือเปล่า

หากเทียบกับลูกกรุงที่ถูกเรียกว่าเพลงของคนไฮโซ หรือผู้ดี แล้วเพลงลูกทุ่งก็คงไม่น้อยหน้า แม้ว่าเพลงลูกทุ่งที่เนื้อหาไปในท่วงทำนองเพลงลูกกรุงจะไม่โด่งดังนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเอาเสียเลย เนื้อหาละเมียดละไมที่ต้องขบคิดอย่างเพลง “ข้าด้อยเพียงดิน” ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง นั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดี

ว่ากันด้วยเนื้อหา ถ้าเปรียบเทียบกับทาง “กวี” ลูกกรุง ก็คงเป็นแนวโรแมนติก และลูกทุ่งนี่เป็นเพื่อชีวิต แม้จะไม่ได้แยกชัดถึงขนาดนั้นก็พอยกเปรียบเทียบให้เห็นได้พอเข้าใจ เนื้อหาสำคัญของลูกทุ่งที่แม้มีฉากเป็นความรัก หรือความสวยงาม แต่มักมีความเป็นวิถีชีวิต การดิ้นรนต่อสู้ ชนชั้น และความเป็นอยู่แบบชาวบ้านร้านตลาดเป็นแกนเดินเรื่อง ขณะที่ลูกกรุงเน้นภาพชีวิตสวยงามเป็นหลัก

คงเป็นการไม่ควรเลยหากพูดเรื่องลูกทุ่งแล้วไม่พูดถึงครูเพลงคนสำคัญผู้มีชีวิตผูกพันกับการกำเนิดของเพลงสกุลนี้อย่าง “ไพบูลย์ บุตรขัน”

พูดถึงครูไพบูลย์ เราอาจคิดถึงเพลงดังมากมายอย่าง มนต์เมืองเหนือ ค่าน้ำนม ฯลฯ แต่จะมีสักกี่คนรู้จักเพลงที่ครูแต่งเอง ร้องเอง อย่าง “ไร้สมบัติ”

เกิดเป็นคนจนก็ต้องทนทุกข์อยู่ร่ำไป

เหลียวแลหาใครเขาก็ไม่เมตตา รุ่งรัตน์

ยากแค้นลำเค็ญเหมือนดังเป็นคนอัตคัด

ต้องอาศัยพระอยู่ในวัดเพราะไร้สมบัติ เมทะนี

ข้อแรก คือ ลูกเล่น เพลงนี้ร้อยเรียงเอาชื่อคนดังในยุคนั้น (นับย้อนหลังไปสัก 40-50 ปี) เอาไว้ในทุกๆ ท่อนของเพลง ฟังหรืออ่านแล้วก็เข้าใจทั้งความหมายในเนื้อเพลง และรู้ว่าเป็นชื่อของใคร

ข้อสอง คือ ลีลาสัมผัส ไม่ได้ด้อยไปกว่างานเพลงไพเราะอื่นๆ ที่ส่งให้นักร้องมีชื่อเสียงมาแล้วมากมาย

ข้อสาม คือ “ลายลูกทุ่ง” ที่สลักเสลาไว้ในเพลง เนื้อหาที่กล่าวถึงชีวิตของคนจนที่ต้องดินรน ซึ่งในสมัยนั้น วัดวาอารามเป็นที่พึงพิงที่สำคัญสำหรับผู้ยากไร้

การบันทึกเหตุการณ์ วิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัยไว้ในเพลงนั้นเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง และเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน

เกิดมามีกรรม ก็ต้องจำเฝ้าแต่ครุ่นคิด

เพราะไร้ญาติขาดมิตร ชัยบัญชา ว้าเหว่สิ้นดี

คู่รักก็เมินซ้ำยังเดินเหินห่างทุกที

โถเจ้ามาหนี ไปดอยสุเทพ วงศ์กำแหง

ท่อนนี้แสดงทั้งความน้อยเนื้อต่ำใจ และความขำขันไปพร้อมกัน เรียกว่าถึงจะจนทนลำบากไร้ญาติขาดมิตรจนคนรักเมินหน้า แต่ก็ไม่ไร้สิ้นซึ่งอารมณ์ขันปลุกปลอบตัวเอง นี่แหละเกิดเป็นคนก็ต้องทนสู้ ยิ้มไว้แม้ไร้ข้าวกิน

ไหว้วอนเทวาเฝ้าภาวนา ชนะจิต

ไหว้ครูสิบทิศ วันพฤหัส บุญหลง ครูแรง

ถ้ามีฤทธี นฤบาล คิดอ่านพลิกแพลง

จะเสกใบบัวให้เป็นแบงก์ ด้วยคาถาอาคม มกรานนท์

เมตตา รุ่งรัตน์ สมบัติ เมทะนี มิตร ชัยบัญชา สุเทพ วงศ์กำแหง สี่คนนี้คนรุ่นหลังยังพอรู้จักกันบ้าง

แต่สำหรับสี่คนในท่อนถัดมาอย่าง ภาวนา ชนะจิตร พฤหัส บุญหลง ฤทธี นฤบาล และอาคม มกรานนท์ คนอายุน้อยกว่า 40 ปีคงจะไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว

แต่ในยุคหนึ่งนั้น สี่คนนี้มีชื่อเสียงมากในวงการภาพยนตร์และละครไทย ครูไพบูลย์บันทึกชื่อเหล่านี้ไว้ในบทเพลงของท่านให้เราได้ลองสืบค้นย้อนไปศึกษาดู

เพลงท่อนนี้ยังแสดงถึงความหวังของชนชั้นล่างที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบันด้วย คือการอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการเสี่ยงโชค เชื่อเรื่องโชคลาง คาถาอาคม อันเป็นลักษณะนิสัยสำคัญของคนไทย ที่พบได้ในเพลงลูกทุ่งจำนวนมาก ที่น่าค้นคว้าศึกษาถึงเรื่องราวการแฝงความเชื่อเรื่องโชคลางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเพลงลูกไทยให้เป็นชิ้นเป็นอันต่อไปน่าจะพอมีประโยชน์กับสังคมบ้าง

สิบนิ้วพนม ขอพร ภิรมย์ พระอยู่อาจิณ

ฐานะแค่ดอกดิน กัลยามาลย์ หวานอมขมทน

จะเด็ดดอกฟ้าหมายผกา บุปผา สายชล

อยากจะชนะ ศรีอุบล คอยจนประจวบ ฤกษ์ยามดี

วรรคแรกโชว์สัมผัสอักษรแพรวพราว ครบถ้วนทั้งสารที่ต้องการสื่อ ชื่อคนดังที่สุดของวงการเพลงลูกทุ่งไทยในยุคนั้น แสดงความสามารถด้านภาษาอย่างหาตัวจับยากที่สุด ทั้งยังบอกกล่าว เสมือนสะท้อนชีวิตคนอยากจนเอาไว้ว่า คอยฤกษ์ยามไปเถิดนะพี่น้องทั้งหลาย รัฐบาลเขาไม่เหลียวแลเราง่ายๆ หรอก อะไรทำนองอย่างนี้กระมัง

สมเป็นเพลงลูกทุ่งแท้ๆ ที่มีเนื้อสารลูกทุ่ง เนื้อหาทันสมัย เข้ากับยุค ลูกเล่นขบขัน และท่วงทำนองก็ยังไพเราะ (ลองไปเปิดฟังได้ในยูทูบ)

หากมีนักร้องอาชีพสักคนเอาเพลงนี้มาร้อง เราจะเห็นแง่งามในโน้ตที่ครูไพบูลย์สร้างไว้นี้ด้วย เพราะขนาดเป็นเสียงของครูไพบูลย์เองในวัยที่ไม่เอื้อต่อการร้องเพลงนักก็ยังเห็นจุดที่จะ “เล่น” และท่อนที่ “ไพเราะ” ตั้งหลายท่อน หลายวรรค หลายคำ ในฐานะคนเคยร้องเพลงผมลองออกแบบการร้องแล้วก็ร้องตามโดยที่ครูไพบูลย์ร้องไว้เป็นไกด์ดูก็เห็นว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เพราะมากๆ เพลงหนึ่ง

ถ้าผมเป็นนักร้องอาชีพคงเสียดายที่ไม่ได้ร้องเพลงดีๆ แบบนี้ และหากได้ร้องเพลงนี้อัดแผ่นเสียงก็คงจะภาคภูมิใจพอดูเหมือนกัน

นี่แค่เพลงที่ครูแต่งเอง ร้องเล่นในงานเลี้ยงเล็กๆ งานหนึ่งยังครบถ้วนไพเราะขนาดนี้ แล้วเพลงที่ส่งให้นักร้องเสียงดีๆ โด่งดังตั้งมากมายจะน่าสนใจ และมีคุณค่าควรแก่การสดับถึงเพียงใด

ครูไพบูลย์จึงเป็นผู้สร้าง สร้างคน สร้างเพลง สร้างวัฒนธรรม และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

100 ปีชาตกาล ของใครต่อใคร รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและทำให้ถูกยกย่องตั้งมากมาย คราวนี้มาถึงวาระ 100 ปี ของไพบูลย์ บุตรขัน ผู้เป็น “คีตกวีลูกทุ่ง” ความภาคภูมิใจยิ่งใหญ่ของไทย พวกเขากลับเงียบงัน หรือว่าใครจับเสียงเพลงของครูไปขังไว้ในถ้ำลึกพฤกษ์ไพรใด คนจึงไม่ได้ยินเสียงเพลงไพเราะเหล่านี้

หนึ่งทศวรรษ ครบไพบูลย์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน ควรจะเงียบงันเช่นนี้หรือ?

“เหมือนเพชรค่าล้นร่วงอยู่บนกองขยะ

เหมือนดังแม่พระ มาคลุกเคล้าเปื้อนโคลนตม…”