มองให้ลึก เราคือคน ‘เปราะบาง’ ทั้งประเทศ!

สุทธิชัย หยุ่น

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน “ขอความร่วมมือ” จากสมาคมธนาคารไทยให้ช่วย “กลุ่มคนเปราะบาง” ด้วยการลดดอกเบี้ยให้สัก 0.25%

ต่อมาไม่กี่วัน สมาคมธนาคารไทยก็ตอบสนองด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้า “กลุ่มเปราะบาง” ทั้งลูกค้าส่วนบุคคลและเอสเอ็มอีเป็นเวลา 6 เดือน

มีเสียง “เฮ” จากหลายฝ่ายทันที

เพราะใครๆ ก็เห็นใจ “กลุ่มเปราะบาง”

แต่สิ้นเสียง “เฮ” ก็เกิดคำถามว่ากลุ่ม “เปราะบาง” ที่ว่านี้คือใครบ้าง?

มีใครรู้ไหมว่ามาตรการลดดอกเบี้ยที่ว่านี้จะได้ประโยชน์สักกี่คน?

ถามไปถามมาก็ไม่มีใครตอบได้

เพราะคำว่า “กลุ่มเปราะบาง” เป็นคำสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์

แต่ไม่ปรากฏในนิติศาสตร์

นักการเมืองและนักวิชาการและแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกับสภาพัฒน์มักจะใช้คำนี้เพื่อสะท้อนถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากรัฐ

กระทรวงทบวงกรมทั้งหลายชอบคำนี้เป็นพิเศษ…เพราะเขียนโครงการตั้งงบประมาณได้

แต่พอจะลงรายละเอียดว่าความช่วยเหลือลงที่คน “เปราะบาง” ก็จะมีคำถามว่าใครเข้าข่ายนี้บ้าง

ถามไปที่คนที่เกี่ยวกับเอสเอ็มอีอย่างคุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ก็ได้คำตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน

“ผมก็กำลังถามหาคำนิยามว่ากลุ่มเปราะบางคืออะไร”

ก่อนจะถามว่า “กลุ่มเปราะบาง” คืออะไรต้องเริ่มด้วยถามหาคำนิยามว่า SME คืออะไรก่อน

แกอธิบายว่าภาครัฐกับเอกชนจะใช้นิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเกณฑ์

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้เอสเอ็มอีคือบริษัทที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5-50 ล้านบาท

ส่วนรายย่อยนั้นวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5 ล้านบาท

แต่เอาเข้าจริงๆ แต่ละสถาบันการเงินก็มีเกณฑ์เอสเอ็มอีของตัวเอง

ยิ่งถ้าถามต่อไปว่าเอสเอ็มอีต้องอยู่ในสภาพเช่นไรจึงจะเข้าข่าย “เปราะบาง” ก็ยิ่งจะหาคำตอบยากขึ้นไปอีก

เพราะ “ขนาด” ของธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับ “ความเปราะบาง”

คุณแสงชัยบอกว่าที่สำคัญคือต้องรู้ว่าพอลดดอกเบี้ยให้แล้ว จะช่วยได้จริงๆ สักกี่ราย

จึงต้องมีการรายงาน “ตัวชี้วัด” ที่จะบอกด้วยว่าแต่ละสถาบันการเงินสามารถตอบสนองความต้องการของ “กลุ่มเปราะบาง” ได้เท่าไหร่กันแน่

ไม่ใช่มีแต่โครงการ…แต่ไม่มีผู้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ก็จะเข้าข่าย “ไม่ตรงปก” อีกหนึ่งในมากมายหลายกรณี

 

มาถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่าความจริงสังคมไทยโดยส่วนรวมก็ล้วนมีความ “เปราะบาง” ทั้งสิ้น

เพราะโครงสร้างสังคมไทยตั้งแต่บนลงล่างสุดนั้นล้วนไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคงหรือด้วยตรรกะที่สมเหตุสมผล

ระบบอุปภัมภ์, คอร์รัปชั่น, การเล่นเส้นสายและการยอมให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นโดยไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

นั่นคือเชื้อร้ายที่ทำให้ “ภูมิต้านทาน” ระดับชาติในเกือบทุกวงการอ่อนแอ

สำรวจตรวจสอบเข้าไปลึกๆ เกือบทุกวงการ แม้ว่าข้างนอกอาจจะดูแข็งแกร่ง แต่ข้างในถูกเซาะกร่อนด้วยความอยุติธรรมและพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง

คุณภาพนักการเมืองตกต่ำเพราะเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์แห่งตนมากกว่าที่จะเสียสละเพื่อสร้างอนาคตประเทศชาติอย่างจริงจัง

ความพยายามจะนำเอา “การเมืองก้าวหน้า” เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงถูกกลไกรัฐและกลุ่มอำนาเดิมสกัดกั้นทุกวิถีทาง

นั่นคืออาการที่แท้จริงของ “ความเปราะบาง” ระดับชาติ

เป็นอาการป่วยซึมลึกที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ด้วยการไม่ยอมรับความจริงว่าสังคมกำลังป่วยเรื้อรัง

 

ผู้มีอำนาจมักเอ่ยอ้างถึง “ผู้เปราะบาง” เพราะสามารถสร้างความความนิยมชมชอบทางการเมืองด้วยการเอ่ยอ้างถึง “ผู้ด้อยโอกาส”

แต่ไม่เคยสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

ขณะที่ตนยืนอยู่บนโครงสร้างการเมืองระดับชาติที่อ่อนไหวสั่นคลอน

เพราะได้อำนาจมาด้วยการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่รังแต่จะทำลาย “ภูมิคุ้มกัน” ของประเทศทั้งสิ้น

นักการเมืองมักจะใช้ภาษาสวยงามที่ต้องการสื่อว่ามีความทุ่มเทเพื่ออุทิศตนในการยกระดับมวลชนที่ “เปราะบาง”

แต่เอาเข้าจริงๆ นักเลือกตั้งเหล่านี้จะทำทุกอย่างเพื่อให้ยังมี “กลุ่มเปราะบาง” ดำรงอยู่อย่างกว้างขวาง

เพราะนั่นคือ “ฐานเสียง” อันสำคัญสำหรับการกล่าวอ้างในการหาเสียง

และเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเสนองบประมาณเพื่อสร้างโอกาสในการหาประโยชน์ใส่ตน

กลเกมเช่นว่านี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่ขั้นบันไดของทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา

มันแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปเกาะเกี่ยวโครงสร้างของสังคมในเกือบจะทุกมิติ

เป็นผลต่อเนื่องที่กลายเป็นเชื้อร้ายที่นำมาซึ่งความแปรปรวนและอ่อนไหว

มันสะท้อนถึง “ความเปราะบาง” ของการเมืองในระดับสูงของประเทศ

 

สังคมก็เป็นเพียงแจกันบอบบางที่วางอยู่ขอบโต๊ะอย่างล่อแหลม

โดยไม่สำเหนียกว่าเพียงแรงสั่นสะเทือนเบาๆ ณ จังหวะที่เหมาะเจาะก็มีสิทธิ์จะส่งมันตกพื้น…แตกกระจุยกระจายอย่างที่คาดไม่ถึงได้

แต่ผู้มีอำนาจยังปฏิเสธความจริงข้อนี้

เพราะในภาพผิวเผินข้างนอก ทุกอย่างยังดูดีประหนึ่งภาพวาดทุ่งลาเวนเดอร์

แต่วันหนึ่งเมื่อขยะใต้พรมที่สั่งสมมาช้านานถูกกวาดออกมาต่อสายตาสาธารณะ เมื่อนั้นก็จะเกิดความตระหนักว่าบ้านเมืองถึงทางตัน

แต่รอให้แจกันดอกไม้บอบบางนั้นหล่นลงจากโต๊ะจึงจะตกใจตื่นตัวก็อาจจะสายเกินกาล

เพราะรัฐบาลที่ “อ่อนเปลี้ยเพลียแรง” จะช่วยประชาชนที่ “เปราะบาง” ได้อย่างไร?

 

ไม่เพียงแต่ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ไกลปืนเที่ยงเท่านั้นที่เข้าข่าย “เปราะบาง”

แต่วันนี้ หากจะตรวจสอบกันให้ลึกและวิเคราะห์กันให้รอบด้านก็จะพบว่า

ระบบการศึกษาเรายิ่งกว่าเปราะบาง เพราะเรากำลังพ่ายแพ้เพื่อนบ้านของเราในเกือบทุกสนามพิสูจน์ฝีมือในระดับสากล

ระบบ “นิติรัฐ” หรือ Rule of Law ของเราก็อยู่ในภาวะ “เปราะบาง” อย่างหนัก

เพราะเป็นที่ชัดแจ้งว่ากฎหมายไม่ได้ถูกใช้เท่าเทียมกันสำหรับคนทุกคน

เมื่อถูกซักถูกถามว่าทำไมคนบางคนจึงได้รับสิทธิ์พิเศษภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ก็ได้รับคำตอบว่า “คุณไม่พอใจก็ต่างคนต่างอยู่”

เสมือนหนึ่งว่าประเทศนี้มีประชาชนอยู่สองชนชั้นที่มีสิทธิ์และเสียงไม่เท่ากันโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่อาจจะแก้ไขปรับปรุงได้แต่อย่างไร

 

สังคมคนสูงวัยเราก็ “เปราะบาง” อย่างน่ากังวล

ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “จนก่อนแก่” หรือ “แก่ก่อนรวย” เป็นความน่ากลัวที่สะท้อนว่าระบบสวัสดิการสังคมของเราไม่อาจจะคุ้มครองดูแลผู้สูงวัยได้

ขณะที่คนรุ่นทำงานที่เรียกว่า Sandwich Generation (คนรุ่นแซนด์วิช) ถูกกระหน่ำด้วยภาระหนักขึ้นตลอดเวลา

เพราะด้านหนึ่งต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมาก และอีกด้านหนึ่งต้องมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูลูกให้โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

เป็นความกดดันที่หนักอึ้งสำหรับคนที่ต้องเผชิญกับ “ความเปราะบาง” ของสังคมไทยอย่างน่ากลัวยิ่ง

 

เศรษฐกิจของไทยก็อยู่ในภาวะ “เปราะบาง” ยิ่ง

เพราะเราพึ่งพา “เครื่องยนต์” เพียงสองชุด นั่นคือการท่องเที่ยวและการส่งออกที่กำลังอยู่ในภาวะที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่หนักหน่วง

เพราะรัฐบาลที่ไม่ยอม “ปฏิรูป” โครงสร้างเศรษฐกิจ, ระบบราชการ, คอร์รัปชั่น และระบบการศึกษาย่อมไม่อาจจะพาชาติให้พ้นจากภาวะเปราะบางได้เลย

หากเราไม่ยอมรับความเปราะบางทั้งระบบของประเทศ ก็จะไม่มีวันที่จะนำพาประเทศออกจาก “กับดักแห่งความล้าหลัง” ที่เป็นปัญหาหมักหมมมาช้านาน…และจะอยู่กับเราไปอีกนาน

จนกว่าความเปลี่ยนแปลงที่จริงจังและยั่งยืนเพื่อแก้ความ “เปราะบาง” ในทุกวงการของสังคมจะมาถึง!