คุณูปการ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

เวลา 22.35 น. ของวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยได้เสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าอีกท่าน กล่าวคือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของญาติพี่น้อง

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2472 เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจ และอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริง จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2541

ได้รับยกย่องว่าเป็นตำรวจตงฉินแห่งกรมตำรวจไทย ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์

ขณะที่ พล.ต.อ.วสิษฐเริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการ ในกรมประมวลราชการแผ่นดิน แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แล้วย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี 2513

จากนั้น ในปี พ.ศ.2539-2543 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2533 ถึง 9 ธันวาคม 2533

ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรี เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

(อ้างอิงจาก http://www.thairath.co.th/content/1303731)

ครับ สำหรับประเทศไทยแล้วท่านเป็นนักคิด นักปฏิบัติที่คอยเสนอสังคม โดยเฉพาะวงการตำรวจและยุติธรรม

อีกทั้งเป็นนักปฏิบัติธรรมที่เป็นแบบอย่างที่หาตัวจับอยากคนหนึ่งในประเทศไทย

ในส่วนปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 14 ปี ท่านไม่เคยหยุดคิด หยุดเขียน หยุดเสนอแนะ

โดยนำหลักพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา อีกทั้งยึดมั่นในกระบวนการสันติวิธี ซึ่งท่านเคยกล่าวหลายต่อหลายครั้งในสื่อ รวมทั้งบทความในมติชน ที่กล่าวถึงผู้เขียนในฐานะคนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้กระบวนการสันติวิธีผ่านหลักคิดคุณธรรม จริยธรรม (ในคอลัมน์กระแสทรรศน์เมื่อหลายปีผ่านมาแล้ว)

จากเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอนำทัศนะบางส่วนจากท่านที่พูดถึง จชต.
ดังนี้

1.ปี พ.ศ.2553 ท่านแสดงความเอาใจใส่และความพยายามที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบ และที่จะพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนและจะสัมฤทธิผลทันเวลาหรือไม่นั้น อยู่ที่นำนโยบายสู่ปฏิบัติ

ท่านเปรียบปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนคนไข้ และรัฐเป็นหมอในการรักษาไข้ ดังนั้น หมอจะต้องมีความสามารถ เชี่ยวชาญ และรอบคอบในการรักษา

ตัวยาหนึ่งที่รักษาคือ พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2553 คณะผู้บริหาร ศอ.บต. คือคณะแพทย์ ท่านสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาของ ศอ.บต. ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2553

และอีกทั้งคณะแพทย์อีกชุดที่จะระดมสมองในการแก้ปัญหาคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

ท่านเสนอแนะให้พิจารณาอย่างรอบคอบเมื่อนำนโยบายสู่ปฏิบัติ เพราะมันหมายถึงการชนะทางมวลชน ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไว้วางใจรัฐอันเป็นก้าวแรกในการพัฒนาประเทศร่วมกันและหันหลังให้กับผู้ก่อความไม่สงบ

2.ปี 2560 เรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยท่านติงรัฐสองประการในการจัดการไม่ให้ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือน้ำลึกสงขลา ยื่นหนังสือถึงมือนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งประชุมสัญจร ที่จังหวัดสงขลา เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2560 (โดยท่านกล่าวไว้ดังนี้)

ประการแรก ผมสังเกตเห็นจากภาพข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เผชิญกับกลุ่มผู้คัดค้านและจับกุมผู้คัดค้านนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะแต่งเครื่องแบบและใช้อุปกรณ์สำหรับปราบจลาจล แต่อีกหลายคนก็แต่งเครื่องแบบปกติ แสดงว่าอาจมิใช่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกปราบจลาจลมาโดยเฉพาะ

ยิ่งกว่านั้นในภาพข่าวยังปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารบกร่วมจับกุม และมีรายงานข่าวด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนร่วมปฏิบัติหน้าที่

ภาพข่าวที่เห็นทำให้สงสัยว่าการใช้กำลังผสมเช่นนั้นมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วหรือไม่ ถ้ามีใครเป็นผู้บังคับการกำลังผสม นายตำรวจหรือนายทหารหรือข้าราชการพลเรือนฝ่ายปกครองคนใด

ในสถานการณ์เช่นนั้น เอกภาพในการบังคับบัญชาเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าปราศจากเอกภาพในการบังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ต่างเหล่าจะปฏิบัติการไปตามลำพัง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถ้าการปะทะกันเลยเถิดจากการใช้มือใช้ไม้ (อย่างที่เห็น) กลายเป็นการใช้อาวุธ ผลก็อาจจะกลายเป็นการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย

ประการที่สอง ผมไม่แน่ใจว่าก่อนที่จะส่งกำลังออกไปเผชิญและปะทะกับกลุ่มผู้คัดค้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหรือฝ่ายปกครอง ได้ศึกษาที่มาของปัญหาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาและการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สงขลามาก่อนแล้วหรือไม่เพียงใด การศึกษาจะทำให้ได้ข่าวกรองเกี่ยวกับสถานการณ์และบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง และจะเป็นประโยชน์ อาจทำให้สามารถเจรจาและยับยั้งเหตุการณ์ โดยไม่ถึงกับต้องปะทะและจับกุมคุมขังกัน

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะยังไม่จบ เพราะต้นเหตุคือเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาและท่าเรือน้ำลึกที่สงขลายังอยู่ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนและเป็นที่พอใจ ตราบนั้นการชุมนุมหรือเดินขบวนคัดค้านก็จะยังเกิดขึ้นได้อีก

และถ้าคราวหน้าเหตุการณ์ไม่จบลงเช่นคราวนี้ แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต บาปก็จะตกอยู่แก่เจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน

(โปรดดู https://www.matichonweekly.com/special-report/article_68464)

3.ปี 2561 ก่อนท่านเสียชีวิต ท่านได้เขียนอีกหนึ่งบทความเล่าถึงการแก้ปัญหาตั้งแต่ยุคนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน

แสดงความเป็นห่วงต่อการแก้ปัญหาทั้งๆ ที่รัฐใช้งบฯ มหาศาล

แต่ความขัดแย้ง ความไม่ไว้วางใจ พุทธ-มุสลิม ยังมีปัญหาชีวิตและทรัพย์สิน คนของรัฐยังถูกลอบทำร้าย

และท่านหวังว่าท้ายสุดความสงบจะกลับคืนมา

(โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.matichon.co.th/columnists/news_963206)

4.แต่ที่ติดตาติดใจมากที่สุดคือ ปี 2551 ท่านได้เขียนหนังสือเรื่อง พรมแดน ซึ่งเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ที่สะท้อนแนวคิดการร่วมการแก้ปัญหาผ่านหลักธรรมของพุทธ-อิสลาม คนพุทธ-มุสลิม

แล้วท้ายสุดมีคนนำไปทำหนังเรื่อง ปิตุภูมิ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เป็นหนังที่สะท้อนความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจอันตรายในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ราชการ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่น ความรัก ความผูกพัน

และประเด็นปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม และ 2 นักแสดงฝีมือดีที่จะมาชิมลางงานภาพยนตร์ครั้งแรกอย่าง เวียร์ – ศุกลวัฒน์ คณารศ และใหม่ – ดาวิกา โฮร์เน่ (โปรดดูรายละเอียดใน https://www.se-ed.com/product/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99.aspx?no=9789740213512 และ https://www.youtube.com/watch?v=ZRU-13a3aDk)

นี่คือผลงานของท่านที่ฝากไว้ให้คนไทยโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งหวังว่าแนวคิดดีๆ ของท่านจะถูกสานต่อ จนนำความสันติสุขที่ท่านหวังในวาระสุดท้ายของชีวิต กลับคืนมา