นิยายสิบสองบาท : วรรณกรรมตลาดล่างในสังคมไม่อ่านหนังสือ

สุภาษิตสอนหญิง-บุพเพสันนิวาส-นิยายสิบสองบาท : หญิงก้าวหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยา กับหญิง (ที่ถูกจองจำให้) ล้าหลังแห่งกรุงเทพมหานคร (3)

นิยายสิบสองบาท : วรรณกรรมตลาดล่างในสังคมไม่อ่านหนังสือ

“นิยายสิบสองบาท” เป็นนวนิยายขนาดสั้น ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มขนาดเล็ก ความยาว 80 หน้า ขายในราคา 12 บาท เรียกอีกอย่างว่า “นิยายเล่มเล็ก” หรือ “นิยายปกดารา” เนื่องจากนิยมใช้ภาพถ่ายดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงขณะนั้นพิมพ์ปก

นวนิยายเหล่านี้มักไม่ระบุสถานที่และวันเดือนปีที่พิมพ์ เนื้อหาเน้นนำเสนอเรื่องรักของคนหนุ่มสาว ดำเนินเรื่องตามขนบ (convention) ของวรรณกรรม

ระหว่างบรรทัดแห่งเรื่องรักก่อความสัมพันธ์แวดล้อมในตัวบท (text) ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมฉากหลัง (background) ไม่ต่างจากวรรณกรรมรูปแบบอื่นที่นำเสนอภาพจำลองของสังคมในหลายมิติ

นิยายสิบสองบาทมีมานานแล้ว เพียงแต่ชื่อเรียกอาจเปลี่ยนผันไปตามราคาขาย ซึ่งก็ขยับตามยุคสมัยอีก

เช่นเมื่อสักยี่สิบปีก่อนขายเล่มละสิบบาท คนก็เรียกกันติดปากว่า “นิยายสิบบาท”

หรือบางเล่มบรรจุนิยายมากกว่าหนึ่งเรื่อง ราคาก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ “ยี่สิบบาท” คนก็เรียกนิยายยี่สิบบาท

จากการสังเกตพบว่านิยายสิบสองบาทมักวางขายตามแผงหนังสือเล็กๆ ริมทางทั่วไป ปะปนกับหนังสือดารา หนังสือเรื่องย่อละคร หนังสือพระเครื่อง หนังสือมวย หนังสือไก่ชน หนังสือหวย หนังสือทำนายฝัน และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคนที่ซื้อนิยายสิบสองบาทไม่น่าใช่คนมีการศึกษาสูง ขณะเดียวกันร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่ฐานลูกค้าเป็นผู้มีการศึกษาสูงก็แทบไม่พบนิยายประเภทนี้เยี่ยมกรายเข้าไปได้เลย

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสังเกตอีกว่ากลุ่มคนที่อ่านนิยายสิบสองบาทมักอ่านขณะนั่งรอรถนานๆ ระหว่างเดินทาง เราจึงมักพบเห็นนิยายประเภทนี้วางขายอยู่ตามสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง หรือท่ารถต่าง ๆ อันเป็นสถานที่ซึ่งคนต้องใช้เวลารอ

หรือตามแผงหนังสือหน้าโรงพยาบาลที่คนต้องนั่งเฝ้าไข้นานญาตินานๆ เช่นกัน อาจเพราะเป็นนิยายขนาดสั้น อ่านง่าย โครงเรื่องไม่ซับซ้อน สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้น และราคาถูก

นิยายสิบสองบาทจึงถูกเลือกเป็นหนังสืออ่านฆ่าเวลาของคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม นิยายสิบสองบาทเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งซึ่งฟันฝ่าเอาชีวิตรอดกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่สื่อบนหน้ากระดาษระดับตำนานของเมืองไทยหลายต่อหลายเล่มพากันปิดฉากแพ้พ่ายในห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้

หากชี้ชัดลงไปว่ากลุ่มคนอ่านนิยายสิบสองบาทคือคนทั่วไปที่มีรายได้และการศึกษาไม่สูงนักก็ถือเป็นเรื่องชวนประหลาดใจ เพราะคนกลุ่มนี้น่าจะอยู่ห่างไกลจากการโลกการอ่านมากที่สุด

โดยเฉพาะในสังคมที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสังคมไม่อ่านหนังสืออย่างหนักหนาสาหัส จนเกิดวาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด” ที่ได้ยินคุ้นหูกันมานาน

วาทกรรมแปดบรรทัดที่ว่ามาจากไหน ไม่มีแหล่งอ้างอิงแน่ชัด

ระยะหลังมีข้อโต้แย้งว่าวาทกรรมดังกล่าวเลื่อนลอยเกินไป

งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย (2558) ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ECON CHULA) และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่า จากการศึกษาย้อนหลังไป 10 ปี ไม่พบข้อมูลยืนยันเรื่องคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด

สิ่งที่พบคือคนไทยมีแนวโน้มอ่านหนังสือมากขึ้น ข้อมูลในปี 2558 คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 66 นาที

ขณะที่ในปี 2551 คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียงวันละ 39 นาที (THAIPULBICA. 2559 : ออนไลน์.)

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไทยทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ อ่านหนังสือเท่ากัน เพราะพฤติกรรมการอ่านขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเพศ อายุ สถานภาพ และรายได้

กลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุดคือกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 20 ปี

และเวลาในการอ่านดังกล่าวจะลดลงเป็นลำดับในกลุ่มคนอายุสูงขึ้น กระทั่งอายุ 61 ปี

เวลาในการอ่านต่อวันจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง เพศหญิงอายุน้อย สถานภาพโสด และรายได้สูง คือกลุ่มคนที่อ่านหนังสือมากที่สุด (ประชาชาติธุรกิจ. 24 กุมภาพันธ์ 2558 : ออนไลน์.)

แต่ไม่ว่าคนไทยจะอ่านหนังสือวันละแปดบรรทัดหรืออ่านนานนับชั่วโมงต่อวัน คนที่น่าจะถูกมองว่าอ่านหนังสือน้อยกว่าใครหรือไม่น่าจะอ่านหนังสือเลยคือกลุ่มคนระดับล่าง

ซึ่งในที่นี้หมายถึงประชาชนทั่วไปที่ได้รับการศึกษาน้อย (ต่ำกว่าปริญญาตรี) ประกอบอาชีพแรงงานไร้ฝีมือ และได้รับค่าแรงต่ำ เช่น เกษตรกร พนักงานโรงงาน คนงานรับจ้างทั่วไป เป็นต้น

การที่หญิงอายุน้อย สถานภาพโสด และมีรายได้สูง เป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากกว่าใคร

อาจอธิบายได้ว่าเพราะคนกลุ่มนี้ปากท้องอิ่มและยังไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตมากนัก จึงพร้อมทั้งเวลาและทุนทรัพย์สำหรับการอ่าน

แต่กลุ่มคนระดับล่างคือกลุ่มคนรายได้น้อย คุณภาพชีวิตต่ำ ยังต้องดิ้นรนกับสภาพความเป็นอยู่และปากท้อง จึงน่าจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะอ่านหนังสือ

หรือหากพวกเขาต้องการอ่าน ก็ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาและค่าใช้จ่าย

อาจเป็นได้ว่านิยายสิบสองบาทตอบโจทย์คนระดับล่างด้วยเหตุนี้

บทความนี้สนใจนิยายสิบสองบาทในฐานะวรรณกรรมประเภทหนึ่งซึ่งนำเสนอภาพจำลองของหญิงสมัยในหลวงภูมิพลได้ไม่ต่างจากวรรณกรรมประเภทอื่น

เพียงแต่สถานะวรรณกรรมตลาดล่างอาจช่วยฉายภาพเฉพาะลงไปว่า ภาพเสนอผู้หญิงที่ปรากฏในนิยายสิบสองบาทนั้นนำเสนอความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง ค่านิยม และอุดมการณ์กำกับคุณค่าผู้หญิงของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชีวิตร่วมยุคสมัยกับเกศสุรางค์

แต่เป็นคนระดับล่าง ไม่ใช่คนชั้นกลางในเมืองที่ได้รับการศึกษาสูง

(และน่าจะเป็นคนกลุ่มแรกที่พร้อมสำหรับการอ่าน) อย่างเกศสุรางค์