“น้ำตาเขาแพง” เสียงจาก “ลุงธูป” ผู้เฒ่าเกาะสมุย เจ้าของที่ “ผืนกลาง” ระหว่าง คนสองคน

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษ เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มิ.ย. 2553

ข่าวเด่นแวดวงการเมืองช่วงนี้คงหนีไม่พ้นปม “เขาแพง” ที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “แทน เทือกสุบรรณ – บรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อดีตเลขาฯ เทพเทือก” บุกรุกที่เขาแพง ปี 43-44 กว่า 31 ไร่ ขณะที่ “พงษ์ชัย ฟ้าทวีพร และสามารถ เรืองศรี หรือโกเข็ก” สองนักธุรกิจบนเกาะสมุย หุ้นส่วนที่ร่วมก่อตั้ง หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น โดนคุก 5 ปี โดยศาลชี้ว่า ป่าทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ การเปลี่ยนแปลงเป็นประโยชน์ตัวเอง เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทนายได้ยื่นเรื่องเพื่อขอประกันตัว และศาลอนุญาตปล่อยตัว โดยตีราคาประกันคนละ 500,000 – 800,000 บาท แต่ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต

นอกจากเขาแพงจะมีชื่อนักกการเมือง “บิ๊กเนม” หลายคนถือครอง อาทิ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เริ่มมาจากการเปิด “ศึกซักฟอก” ที่พรรคเพื่อไทยส่งแดงตัวพ่ออย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์” เป็น “ขุนพล” โดยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 62 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 องศา ถือว่าขัดกับประกาศของคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ที่ห้ามออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่มีความลาดชันเกิน 35 องศา

รวมทั้งการ “งอก” อย่างเหลือเชื่อของที่ดินแปลงเจ้าปัญหาแปลงนี้

ทำให้ต่อมา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวขึ้น พร้อมทั้งมี “คณะกรรมการเงา” โดยพรรคเพื่อไทย ที่ได้ร่วมลงพื้นที่พร้อมสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิต เพื่อขุดคุ้ยปริศนาการซื้อที่ดิน “เขาแพง” ใน “ราคาที่แสนถูก”

จุดมุ่งหมายที่อยู่เบื้องหน้าของทีม พท. และคณะสื่อ คือเขาแพง สถานที่ที่ถูกระบุว่า ยอดบนสุดของภูเขาจำนวนกว่า 62 ไร่ ถือครองโดย “แทน เทือกสุบรรณ”

จากคำบอกที่ดินแปลงดังกล่าว ถือเป็นที่ดินผืนสวยที่สุดในเกาะสมุย เพราะจุดนั้นสามารถชมทิวทัศน์ท้องทะเลได้ทั้งวัน ในมุมมองแบบพาโนราม่า หรือสามารถมองเห็นวิวได้มากกว่า 180 องศา หากหันไปทางขวามือคือที่ตั้งของหมู่เกาะอ่างทอง ส่วนซ้ายมือนั้นเป็นหาดหน้าทอนท่าเทียบเรือสำคัญของเกาะสมุย

การเดินทางขึ้นสู่อาณาจักรของเทือกสุบรรณ สามารถใช้ได้ 2 เส้นทางคือ ถนนคอนกรีตส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นโดยเอกชน และถนนลูกรังสลับกับซีเมนต์ที่เป็นทางสัญจรของชาวบ้านตามปกติ รวมไปถึงอาคันตุกะที่ไม่ได้รับเชิญอย่างทีมของเพื่อไทย

01

ด้วยสภาพที่สูงชันและความขขรุขระของถนน ทำให้การเดินทางขึ้นยอดเขาแพง ที่แม้จะใช้รถโฟร์วีลล์แต่ก็ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ตลอดเส้นทางที่นอกจากจะอุดมไปด้วยดงมะพร้าวและต้นไม้หลายชนิดที่ขึ้นระเกะระกะริมทางแล้ว

บางโค้งของหน้าผายังสามารถมองเห็นทะเลด้านหาดหน้าทอนได้ ซึ่งในที่ดินบริเวณนั้นที่ดินหลายแปลงในบริเวณเชิงเขา บ้างถูกแปรสภาพไปเป็นที่ดินโล่งเตียน พร้อมกับป้ายประกาศขายด้วยภาษาอังกฤษด้วยอัตรา 2.98 ล้านบาทต่อตารางเมตร บ้างมีการก่อสร้างบ้านพักขนาดใหญ่จนบางหลังสามารถให้คำนิยามว่าคฤหาสน์ได้

หลังจากใช้เวลาเดินทางอย่างทุลักทุเลเกือบ 20 นาที ภาพที่ปรากฏต่อสายตา คือหลุมกลางถนนที่ถูกขุดโดยรถแบ๊กโฮ ลึกประมาณ 1.50 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร และกว้างประมาณ 1 เมตร ซึ่งร่องรอยการขุดนั้นเป็นรอยสดใหม่ ไม่น่าจะเกิน 24 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะเดินทางไปถึง

ความตั้งใจที่จะไปเยือนที่ดินของลูกขายคนโตในตระกูลเทือกสุบรรณต้องสิ้นสุดลง เมื่อ รปภ. บริษัทเอกชนที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ได้สกัดกั้นการเดินทาง โดยระบุว่า ที่ดินดังกล่าว เป็นที่ดินส่วนบุคคล ห้ามเข้า ท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้น

แต่ทว่า ความรู้สึกดังกล่าวคงไม่สามารถเทียบได้กับอารมณ์ที่ตกอยู่ในอาการตกใจและเสียขวัญของ “ลุงธูป” หรือ นายประธูป ภู่ไพบูลย์ และ “ป้าอรัญญา”

คู่สามีภรรยาสูงวัยคู่นี้
เป็นเจ้าของที่ดิน ภทบ.5 จำนวน 25 ไร่ และ น.ส. 3ก. อีก 3 ไร่ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างที่ดินของ “แทน” และ “นิพนธ์”

“ลุงธูป” เล่าว่า ที่ดินที่ลุงธูปถือครองอยู่นั้น ได้รับมรดกจาก นายข้อง ภู่ไพบูลย์ ผู้เป็นบิดา ที่บุกเบิกแผ้วถางป่าบนเขาแพงเพื่อทำสวนมะพร้าวและปลูกผลไม้ โดยเมื่อพ่อของลุงธูปเสียชีวิต ลุงธูปตัดสินใจที่จะเปลี่ยนอาชีพจากช่างตัดผม มาเป็นชาวสวนเพื่อสานต่ออาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ซึ่งรายได้จากการเก็บผลผลิตในสวนมากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและส่งเสียลูกอีก 2 คนเรียนจนจบได้

ก่อนหน้านี้ “ลุงธูป” เคยนำที่ดินไปขอออกโฉนดแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชายชราคนนี้จึงขอปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความคิดที่จะขอออกโฉนดอีกต่อไป เพราะรู้ว่าขอไปคงก็ไม่ได้

แต่ทว่า เมื่อเส้นทางทำมาหากินถูกตัดลง “ลุงธูป” ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในสวนได้ รายได้ในส่วนที่ได้จากการขายมะพร้าวและขนุน หายไป “ลุงธูป” ได้รับความเดือดร้อน

“พอเขาทำอย่างนี้เราก็เดือดร้อน ทางนี้เราใช้ทำมาหากินอยู่เป็นประจำ ขึ้นมาดูสวน ขึ้นมาทำมะพร้าว วันที่ 7 (มิถุนายน 53) ยังขึ้นมาเอาขนุนได้อยู่เลย ทางนี้ชาวสวนร่วมกันออกเงินจ้างรถมาไถและใช้กันยี่สิบกว่าปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 กว่านู้น ฉันมันก็เป็นคนบนเขา โตบนเขานี่แหละ เพิ่งมาเห็นวันนี้แหละที่ถนนถูกขุด ก่อนหน้านี้ เห็นเขาทำนู่นทำนี่ ไอ้เราก็คิดว่าเป็นเรื่องของเขา เพราะเราไม่เดือดร้อนอะไร แต่ตอนนี้เราเดือดร้อนละนะ”

ก่อนหน้าที่ “เขาแพง” จะกลายเป็นประเด็นร้อน บรรดานายหน้าค้าที่ดินและตัวแทนของนักการเมืองใหญ่ มีความพยายามที่จะติดต่อของซื้อที่ดินจาก “ลุงธูป” โดยหวังว่าที่ดินในบริเวณยอดเขาแพงทั้งหมดจะรวมเป็นแปลงเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการสร้างบ้านพักตากอากาศ ในราคาหลังละ 50-60 ล้านบาท ที่ดินของ “ลุงธูป” จึงกลายเป็นอุปสรรคในการจัดสรรวิลล่าหรู

มีรายงานอ้างว่า “สุเทพ” ได้พานักการเมืองพรรคเก่าแก่ระดับรัฐมนตรีหลายคนไปดูที่ดินแปลงดังกล่าว รวมทั้งยังชวนเชิญแกนนำจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยเป็นถึงอดีตผู้นำของประเทศขึ้นไปชมวิวดูฮวงจุ้ยสำหรับการสร้างบ้านบนยอดเขาแพงด้วย

แต่เมื่อลุงธูปยืนยันว่าจะไม่ขาย วิธีการจึงเปลี่ยนจาก “ขอซื้อ” มาเป็น “ขอตัดถนน” ผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว เพื่อทำถนนให้สามารถขึ้นทางหนึ่งและลงอีกทางหนึ่ง และเมื่อไม่ยินยอมเพราะต้องการรักษาสิทธิในที่ดินของตน ทำให้มาตรการ “กดดัน” คนแก่ถูกงัดออกมาใช้ โดยขู่ว่าจะปิดทางที่ “ลุงธูป” ใช้เดินทางขึ้น-ลงเขาเพื่อเก็บผลไม้ในสวน

“ลุงไม่เคยร้องเรียนอะไร อยู่เฉยๆ แต่รู้มาว่า เขาอยากจะเอาที่ของลุง ส่งคนมาคุยหลายครั้ง แต่ไม่ขายเพราะเราไม่ได้เดือดร้อน อดอยาก และอยากเก็บไว้ให้ลูกมัน คนที่อยากได้ที่สุดเราก็รู้ว่าใคร แต่เขาไม่ออกหน้า หวังว่าทางรัฐบาลกับทางนู้นก็ต้องช่วย เราจะทำอะไรได้ เรามันไอ้พวกกระจอกงอกง่อย”

หนทางที่ลุงธูปสามารถใช้ในการ “ต่อสู้” มีเพียงอย่างเดียวก็คือ การแจ้งขอจัดภาระจำยอมเพื่อขอผ่านทาง

แต่ทว่า สิ่งที่ “ลุงธูป” เปิดประเด็นในวันนั้น มาในวันนี้กลับกลายมาเป็นเรื่องร้อนที่เชื่อมโยงไปยังบรรดาบิ๊กเนมการเมืองหลายคน กับสิ่งที่เรียกว่า “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด”