สแกมเมอร์ ย้อนศร ปลอมเป็นเพจรัฐยิงแอดเฟส รับแจ้งความออนไลน์-ช่วยคนถูกหลอก สุดท้ายดูดข้อมูลรัวๆ

มุขใหม่แก๊งสแกมเมอร์! ย้อนศร ปลอมเป็นเพจรัฐ ยิงแอดเฟสบุ๊ก รับแจ้งความ-ช่วยคนถูกหลอก สุดท้ายดูดข้อมูลรัวๆ

เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ทีมข่าวมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์เจอกับตัวเอง จากการใช้งานสื่อออนไลน์ตามปกติแต่กลับพบเพจอ้างเป็นหน่วยงานงานรัฐจำนวนมากช่วงวันที่ผ่านมา ซื้อโฆษณาทางเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับแจ้งความออนไลน์ บริการความช่วยเหลือ มีการทำกราฟิคภาพโฆษณาชวนร้องเรียนอย่างเป็นกระบวนการ เป็นขั้นเป็นตอน มีการใช้รูปภาพบุคคลสำคัญในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ มาเป็นบุคคลประกอบชักนำการโฆษณา

แต่เมื่อกดเข้าไปในเพจดังกล่าว กลับพบว่าหลายเพจมีคนกดไลค์หลักสิบ จนถึงหลักร้อย จนถึงหลักพัน ซึ่งอันที่จริงหน่วยงานสำคัญดังกล่าวน่าจะมีคนกดไลค์มากกว่านั้น

และเมื่อเลื่อนกดไปดูที่ช่องแสดงความเห็น จะพบคนไทยจำนวนมากเข้าไปแสดงความเห็นขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจจากเพจดังกล่าว หลายโพสต์มีคนกดไลค์จำนวนมาก รวมถึงช่วยแชร์ต่อด้วย

โดยจากการตรวจสอบภายในวันเดียวพบเพจที่ปลอมเป็นหน่วยงานรัฐ ซื้อโฆษณาทาง facebook ยิงแอดเข้ามาใน Social Media มากกว่า 20 เพจ

โดยลักษณะการปลอมเป็นเพจหน่วยงานรัฐนั้น จากการตรวจสอบพบว่าแก๊งสแกมเมอร์มิจฉาชีพออนไลน์ เลือกปลอมเป็นหน่วยงานรัฐในหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ หน่วยงานยุติธรรมระดับจังหวัด หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ มาดัดแปลงเป็นรูปโปรไฟล์ให้ดูน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ยังมีการใช้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานโดยเฉพาะตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาทำเป็นรูปประกอบเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ นอกจากการทำกราฟฟิกรูปภาพ ยังมีการนำคลิปวีดีโอมาโพสต์ ให้ดูน่าเชื่อถือ

รูปแบบเพจจะมีการตั้งชื่อเลียนแบบหน่วยงานรัฐ ทั้งยังทำการกดซื้อโฆษณากับ Facebook โดยมีคนหลงเชื่อกดไลค์และแสดงความเห็นรวมถึงแชร์ต่อจำนวนมาก

เมื่อกดเข้าไปในหน่วยงานต่างๆตามเพจที่ปรากฏ ก็จะพบว่าหลายเพจพึ่งตั้งได้ไม่นาน บางเพจเพิ่งตั้งได้ราว 1 ถึง 2 วัน หลายเพจมีการโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ เช่นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นในลักษณะการประชาสัมพันธ์รายวันตามปกติ หากไม่สังเกตให้ดีจะไม่รู้ว่าเป็นเพจปลอม เพราะมีลักษณะเนื้อหาการโพสต์ที่ชวนให้เชื่อว่าเป็นเพจจริง บางเพจก็นำข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากสำนักข่าวอย่างเป็นทางการของประเทศไทย มาโพสต์หลอกลวงสร้างความน่าเชื่อถือให้เพจ

กระทั่งโพสต์รำลึกเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญตามแบบอย่างที่หน่วยงานรัฐมักโพสต์ เพจปลอมหน่วยงานรัฐก็ลอกเลียนแบบได้อย่างแนบเนียน

ในส่วนเนื้อหาที่เพจเหล่านี้ เลือกนำมานำเสนอใช้ในการหลอกลวงประชาชนนั้น กลับเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะเพจเหล่านี้ต่างนำเสนอโดยชักชวนให้ประชาชนร้องเรียนหากถูกมิจฉาชีพโกงทางออนไลน์ โดยให้แชทข้อความกลับไปที่เพจทันที ไม่ว่าจะเป็นคนที่เดือดร้อนจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การถูกหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดนหลอกให้โอนเงิน
แจ้งความเอกสารหายผ่านทางช่องทางออนไลน์แบบไม่ต้องไปโรงพัก บริการปรึกษาข้อกฎหมายทางออนไลน์ ให้ความช่วยเหลือจากการถูกหลอก บริการให้ความช่วยเหลือกลโกงออนไลน์จากการถูกดูดเงิน บริการร้องทุกข์ออนไลน์ บริการตามเงินคืนให้กับประชาชนที่เสียหายจากการโดนหลอกได้อย่างทันที บริการเร่งช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ คดีต้มตุ๋นการลงทุน บริการให้คำปรึกษาปัญหาทางสังคม

โดยเพจดังกล่าวมักใช้รูปโปรไฟล์ และรูปปก เลียนแบบหน่วยงานรัฐ แต่การตั้งชื่อหน่วยงานรัฐ จะมีการดัดแปลงสลับถ้อยคำ เมื่อดูผ่านๆจะมองคล้ายว่าเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ที่จริงไม่เคยมีหน่วยงานดังกล่าวอยู่จริง เช่น

  • หน่วยงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ (ไม่มีหน่วยงานนี้ในประเทศไทย)
  • สำนักงานป้องกันและปราบปรามคดีทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (หน่วยงานจริงจะใช้ชื่อว่า “ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ”)
  • สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย (ของจริงจะใช้ชื่อว่า “สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย” คนกดไลค์ประมาณ 4,000 คน เพจปลอมคนกดไลค์ 1,000 คน )
  • ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน กรมการปกครอง (ของจริงจะใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริการประชาชนกรมการปกครอง. DOPA Service Center.” )
  • ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เพจจริงจะใช้ชื่อว่า “สายด่วน 1300 พม.” มีคนกดไลค์ประมาณ 8 หมื่นไลค์)
  • ศูนย์ช่วยเหลือแจ้งความคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ (ไม่มีหน่วยงานนี้)
  • สำนักงานร้องทุกข์ ออนไลน์ (ไม่มีหน่วยงานนี้)
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 (เพจปลอมจะมีคนกดไลค์ 4,000 คน แต่ถ้าเพจจริงจะมีคนกดไลค์ 34,000 คน)
  • สำนักงานกฎหมายดำรงยุติธรรม (ไม่มีหน่วยงานนี้)
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (เพจปลอมคนกดไลค์ 100 คน)
    สำนักงานศาลปกครอง (เพจจริงจะมีคนกดไลค์ประมาณ 8 หมื่นคน)

ทั้งหมดคือตัวอย่างเพจปลอมซึ่งพยายามลอกเลียน หน่วยงานรัฐ เพื่อให้ดูสมจริง โดยทั้งหมดมีการซื้อโฆษณาทาง Facebook ให้ไปปรากฏในหน้าฟีดของประชาชน โดยมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อ คิดว่าเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการบริการประชาชนทางช่องทางออนไลน์ เนื่องจากการใช้ชื่อหน่วยงาน ใช้รูปโปรไฟล์ มีการทำข้อมูลในเพจที่เหมือนจริง จนทำให้ประชาชนเข้ามากดไลค์และแชร์เพจต่างๆเป็นจำนวนมาก หลายคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ชื่นชม สอบถามข้อมูล ซึ่งเพจที่หลอกลวงดังกล่าวก็มีการตอบคำถาม และขอให้ประชาชนที่เสียหายแจ้งรายละเอียดได้ทางช่องทางแชท ก่อนจะมีการหลอกลวงดึงข้อมูล สร้างความเสียหายต่อไป

เมื่อนำตัวอย่างเพจหลายเพจที่เข้าข่ายต้องสงสัยสอบถามไปยัง นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ตรวจสอบเพจต่างๆที่ปรากฏ พบว่าตัวอย่างเพจที่ส่งไปพบว่าไม่ใช่เพจจริง

“…โดยเฉพาะเพจศูนย์ปราบปรามทางอาชญากรรมที่เมื่อเช็คดูพบว่ามีจำนวนหลายเพจมาก จะเร่งติดตามและแก้ไขการปลอมแปลงเพจเพื่อเจตนาอื่นใดนี้โดยไวที่สุดนะคะ…” โฆษกกระทรวงดิจิทัลฯ ชี้แจงกลับ

 

เพจมิจฉาชีพออนไลน์มักใช้รูปของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นรูปภาพหลักในการประชาสัมพันธ์ ชักชวนให้ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือติดต่อแจ้งความได้ในเพจ
รูปแบบการปลอมเป็นหน่วยงานต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบไปตามลักษณะของเพจ เช่นรับผิดชอบด้านการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเป็นกลอุบายเพื่อให้คนส่งข้อมูลส่วนตัวให้ บางเพจมาในแนวแนะนำวิธีอย่าหลงเชื่อกลโกงมิจฉาชีพ และเปิดให้ร้องเรียนได้ สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

 

ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ภัยออนไลน์ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติการร้องเรียนไปที่เหยื่อการถูกโกงเฉพาะคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นต้น
รับแจ้งความร้องทุกข์ปรึกษาแม้แต่กรณีการถูกคอลเซ็นเตอร์โกง ถูกโกงไปทำงานออนไลน์ ถูกโกงไปลงทุนหุ้นคลิปโต หรือกรณีการกู้ออนไลน์ซึ่งไม่มีอยู่จริง นอกจากนี้ในลักษณะการทำเพจหลอกลวงประชาชน ยังมีการสร้างเนื้อหาให้ดูสมจริงเช่นผู้แจ้งจะได้รับเลขแจ้งจากระบบสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีผ่านทางออนไลน์ได้เป็นต้น

 

การใช้ภาพนำในการซื้อโฆษณา Facebook มีทั้งรูปแบบการใช้ภาพกราฟฟิคและการใช้คลิปวิดีโอให้ดูสมจริง โดยเพจดังกล่าวไปลักลอบนำภาพเจ้าหน้าที่ที่มีการเผยแพร่ในสื่อมาประกอบ
นอกจากการโพสต์หลอกลวงยังมีการโต้ตอบกับประชาชนที่มาแสดงความเห็นอีกด้วย มากกว่านั้น ยังมีการโพสต์ข้อความเตือนว่าเพจอื่นเป็นเพจปลอม ทั้งที่ตัวเองก็เป็นเพจปลอม ยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนไปใหญ่ โดยบางเพจพยายามสร้างคอนเทนท์ที่ให้คล้ายกับหน่วยงานราชการไทยทำ เช่นการโพสต์รำลึกวันสำคัญของประเทศเป็นต้น