โลกในมือเธอ “ผู้หญิง” ในสายตา “ชลิดาภรณ์” นักวิชาการการสตรีนิยม

“ที่คิดว่าผู้หญิงเข้ามามีบทบาท

แล้วโลกจะเปลี่ยน ไม่เกี่ยว

แต่โลกจะเปลี่ยนเมื่อผู้หญิงสามารถพูดด้วยเสียงของตัวเองต่างหาก”

thumbnail_img_6142

โลกศตวรรษที่ 21 มีพลวัตอย่างมาก

โดยเฉพาะหากโฟกัสไปที่บทบาทของ “สตรี” เราได้เห็นการรุกคืบเข้ามาในพื้นที่ต่างๆ มากมาย

“ผู้หญิง” ในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร

“รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีนิยม เป็นผู้ให้คำตอบ

“เมื่อพูดถึงเรื่องผู้หญิงแบบเดิมๆ เรามักจะพูดว่าผู้หญิงไม่ทำงาน อยู่กับเหย้าเฝ้าแต่เรือน จริงๆ ผู้หญิงทำงานมาตลอด แต่อยู่ในบทบาทแม่เเละเมียในหลากหลายกลุ่ม”

“ตอนนี้ในศตวรรษที่ 21 ผู้หญิงทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน เผชิญกับปัญหาที่เหมือนและแตกต่างกันไป”

“คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองรู้แล้วว่าผู้หญิงเผชิญกับปัญหาอะไร เวลาที่จะกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ของรัฐ กลายเป็นเรื่องของการพยายามจะไปช่วยเหลือ สงเคราะห์ คุณมักจะคิดว่ารู้อยู่แล้วว่าผู้หญิงต้องการหรือมีปัญหาอะไร จริงๆ แล้วเรารู้หรือเปล่า”

“ในความเป็นจริงนั้น สถานการณ์ของผู้หญิงแต่ละกลุ่ม มันมีความเฉพาะและซับซ้อนมาก แต่กลับละเลยที่จะพูดถึงประเด็นเหล่านี้”

“การที่คุณคุณเห็นและเข้าใจเขาในกรอบหรือเลนส์แบบเดิม เป็นความคาดหวังว่าผู้หญิงจะมีบทบาทแบบเดิมๆ บทบาทแบบเเม่ๆ เราก็จะไปคาดหวังแต่อะไรแบบนี้ แล้วเราก็มองว่าผู้หญิงต้องมีลักษณะอาการปรากฏชุดหนึ่ง เสื้อผ้า หน้า ผม สวยงาม เรามองเห็นผู้หญิงผ่านเลนส์แบบเดิม ทั้งๆ ที่เขาปรากฏไปในพื้นที่ที่เดิมผู้หญิงไม่ได้ปรากฏ นี่คือปัญหาอยู่”

“เวลาที่เรามองนักการเมืองหญิง ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐสมัยใหม่ ถามว่าใหม่ไหม ไม่ใหม่ เพราะหากดูประวัติศาสตร์นั้นมีมานานแล้ว ผู้หญิงเป็นนายกฯ นี่ไม่ใหม่นะ แต่คุณมองเขาแบบเดิม พอขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในรัฐไหนรวมทั้งไทย มักจะถูกประเมินเรื่อง เสื้อผ้า หน้า ผม แต่ผู้ชายไม่เห็นคุณตั้งคำถามอะไรแบบนี้ อย่าง เทเรซา เมย์ ผู้นำคนใหม่ของอังกฤษ เธอก็ชัดเจนว่า เธอชอบแฟชั่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่สนใจนโยบายรัฐ การบริหาร”

อาจารย์ชลิดาภรณ์ ได้ตอกย้ำ เพื่อให้เราได้เห็นว่า นอกจากการมองผู้หญิงด้วยเลนส์แบบเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงก็ถูกท้าทายจากกรอบเดิมๆ ไปพร้อมกันด้วย

“ปัจจุบัน ผู้หญิงหลายกลุ่มได้เรียนหนังสือมากขึ้น มีตัวเลขบอกว่าผู้หญิงเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ชาย และในหลายๆ เรื่องผู้หญิงสามารถทำได้ดีมากกว่าผู้ชาย แต่หลายคนยังคงมาพูดว่าต้องให้โอกาสผู้หญิง ต้องเปิดพื้นที่ ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว”

อาจารย์ยังได้อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น ถึงวิธีคิดในโลกยุคเก่า ซึ่งยังมีมาจนถึงปัจจุบันว่าเรามักมองผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ เช่น ต้องลุกให้นั่งบนบีทีเอส หรือรถประจำทาง ทั้งๆ ที่จริงแล้วควรจะพูดถึงเกณฑ์ว่าใครควรได้อะไร เช่น มนุษย์ทุกคนเท่าเทียม ใครมาก่อนได้ก่อน first come first serve และถ้าใช้เกณฑ์ที่บอกว่าเราเท่ากันหมด ก็ต้องมาดูว่าเราเท่ากันหมดในความเป็นจริงหรือเปล่า สิ่งที่เราเถียงกันมันจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เกณฑ์เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับสภาพของคุณในเวลานั้นด้วย

“พอเราไปจัดว่าความเป็นหญิงคืออะไร และเขาควรจะทำอะไร มันก็ไปล็อกเขาไว้ ผู้หญิงก็ถูกเลือกปฏิบัติในระดับที่แตกต่างกัน เช่น เสียงผู้หญิง มีงานวิจัยว่า เสียงที่น่าเชื่อถือ เป็นอย่างไร ทุ้มๆ นิ่งๆ จะน่าเชื่อถือ ผู้หญิงโดยทั่วไป ให้ทุ้มอย่างไรก็ไม่เท่าผู้ชาย เสียงจะแหลมกว่า เวลาที่ผู้หญิงพูด เนื่องจากความเป็นหญิง เสียงจะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ก็จะรู้สึกว่ามันไม่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง เช่น เวลาที่ ฮิลลารีปราศรัย เสียงมันจะเหวี่ยงขึ้น จะฟังดูไม่มั่นใจ ไม่น่าฟัง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ก่อนเป็นนายกฯ อังกฤษ ยังต้องฝึกคุมเสียงด้วยซ้ำ”

นี่คือสถานการณ์ผู้หญิงในโลกปัจจุบันที่มักถูกท้าทายด้วยการเลือกปฏิบัติ จากกรอบพิมพ์นิยมความเป็นชายของอาจารย์ชลิดาภรณ์ ได้ชี้ให้เราเห็นเข้าไปในวิธีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ว่า

“เราต้องไปดูว่า ผู้หญิงแต่ละระดับเขาเจอกับอะไร การเลือกปฏิบัติมันเจอกันในหลายมิติ เพราะคุณมีมาตรฐานบางอย่าง ในหลายๆ พื้นที่ที่เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ชายกลุ่มเล็ก คุณต้องไปดูความเฉพาะเจาะจงว่าผู้หญิงแต่ละกลุ่มเขาต้องเจอกับอะไร เจอการเลือกปฏิบัติแบบไหน”

เมื่อมองไปที่การเข้าสู่อำนาจของสตรี ในระดับผู้นำ โดยเฉพาะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในศตวรรษนี้ผู้หญิงมีบทบาทในการเป็นผู้นำทางการเมืองอย่างมาก ในหลายๆ ประเทศ ขยายบทบาทไปถึงการเป็นผู้นำระดับโลกเลยทีเดียว แต่การเข้าสู่อำนาจก็มักถูกนำมาเปรียบกับผู้ชาย

แล้วสถานการณ์ของผู้นำหญิง เป็นอย่างไร อาจารย์ชลิดภรณ์ ตอบคำถามนี้ว่า

“เส้นทางการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง พิมพ์นิยมตอนนี้ ก็คือ การเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งมันเป็นกติกาประชาธิปไตยสากล และพิมพ์นิยมแบบนี้มันก็แปะอยู่บนหน้าผากของผู้ชายกลุ่มเล็ก และทำให้คุณต้องสู้แบบผู้ชาย ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้หญิงที่เข้ามาสู่การเมือง ที่ใช้จารีตแบบผู้ชาย ตอนนี้ก็เข้ามาสู่การผลักไปสู่วิธีคิดแบบผู้หญิง การที่คิดว่าผู้หญิงเข้ามามีบทบาทแล้วโลกจะเปลี่ยน ไม่เกี่ยว แต่โลกจะเปลี่ยนเมื่อผู้หญิงสามารถพูดด้วยเสียงของตัวเองต่างหาก แต่ทุกวันนี้คุณไม่ให้เขาพูด หรือไม่แม้แต่จะฟังด้วยซ้ำ”

อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ ต่อความท้าทายของประชาชนทั่วไปต่อบทบาทของผู้หญิงไว้อย่างน่าคิดตาม คือ เราทุกคนต้องเลิกถามได้แล้วว่า จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ต้องเลิกถามได้แล้ว เพราะคุณนั่นแหละเห็นผู้หญิงแบบไหน คุณเห็นเขาจริง หรือคุณมองผ่านมายาคติ

เราหาคำตอบนี้ได้ด้วยตนเอง แค่ลองมองไปยังสิ่งรอบข้าง แล้วค่อยพินิจ ครุ่นคิด หาคำตอบ ว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะเลิกตั้งคำถามกันได้แล้ว อสมการ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสร้างสมการที่เท่ากัน ร่วมกันบนโลกศตวรรษนี้

“จงเห็นโลกแล้วตั้งคำถามกับมัน ไม่ใช่เอากรอบอะไรมามองหรือตัดสิน” อาจารย์กล่าวทิ้งทาย