คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ ในความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย (เพิ่มเติม-1)

ดูเหมือนคำว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 มีแนวโน้มการสืบค้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต

สะท้อนให้เห็นถึงความหวั่นวิตกและความกลัวว่าจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นมาในขณะนี้ ด้วยสถานการณ์โลกซึ่งดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษที่จะเกิดวิกฤตและความขัดแย้งขึ้นมาอย่างฉับพลันในพื้นที่ ได้แก่ ภูมิภาคทะเลบอลติก ตะวันออกกลาง ทะเลจีนใต้ และเกาหลีเหนือ

โดยเฉพาะโครงการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลแก่ประชาคมโลกมานานกว่า 20 ปี

และนับวันความน่ากังวลยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

เพราะผู้นำประเทศ คิม จอง อึน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เป็นนโยบายสูงสุดของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

AFP PHOTO / KCNA VIA KNS

คิมพูดย้ำอีกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่จะใช้ปฏิบัติการทางนิวเคลียร์ในลักษณะเป็นฝ่ายเปิดการโจมตีก่อนในอนาคตข้างหน้า โดยพยายามทดสอบขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป

วันนี้ภูมิภาคเอเชียเหนือได้เข้าสู่ “ขั้นตอนใหม่ของภัยคุกคาม” โดยคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ประชุมฉุกเฉิน และออกแถลงการณ์ประณามการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือว่าเป็นการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

เกาหลีเหนือจึงเป็นจุดอันตรายระดับโลก ในประเภทที่ต้อง “แจ้งเตือนภัยอันตรายสูงสุด”

ต่อคำถามที่ว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ และควรมีวิธีการอย่างไรเพื่อลดความตึงเครียดและแก้ปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

นายคีริลล์ บาร์สกี้ (His Excellency Kirill Barsky) ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะเอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

“เห็นได้ชัดว่า ในวันนี้เราได้ร่วมรับรู้ถึงหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญและร้ายแรงที่สุดของพัฒนาการบนคาบสมุทรเกาหลี อันจะไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สันติภาพในภูมิภาคนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเร่งการเผชิญหน้ากันอย่างร้อนแรงซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการใช้วาจาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คนทั่วโลกเริ่มคาดเดาว่าจะมีสงครามใหญ่หรือไม่ ในสถานการณ์ดังกล่าวหากมีการเคลื่อนไหวใดๆ ที่ไม่ระมัดระวัง หรือตีความผิดพลาดอาจนำไปสู่ผลที่ไม่สามารถย้อนกลับได้”

โดยความเสี่ยงที่ว่านี้ อาจมาจากการเข้าใจผิด หรือการคาดการณ์ผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“เราให้ความสำคัญกับประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งที่เป็นอันตรายในภูมิภาคนี้ เพราะรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมของเราที่จะต้องมีความกังวล แน่นอนว่า เราประณามการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมากลับกลายเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยของเรา”

“เราเข้าใจดีถึงความรู้สึกของเพื่อนบ้านของเรา เมื่อเริ่มมีการยิงขีปนาวุธจากดินแดนของเกาหลีเหนือโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งทำให้การเดินเรือและการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนชีวิตของประชาชนคนธรรมดาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย”

“เราไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวของเกาหลีเหนือ สภาวะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนของรัสเซียต่อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 2270 และ 2321 ในเรื่องการลงโทษต่อเกาหลีเหนือ รัสเซียเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ต้องห้าม โดยกลับไปสู่สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และอยู่ภายใต้การควบคุมของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)”

“แต่ก็เห็นได้ชัดว่า เกาหลีเหนือจะไม่ยอมยุติอาวุธนิวเคลียร์ของตน เว้นแต่จะมั่นใจว่า จะไม่มีภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ ในขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือก็ถูกยั่วยุจากการฝึกซ้อมร่วมทางทหารโดยสหรัฐและพันธมิตรที่จัดขึ้นตามปกติในภูมิภาค ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลและตึงเครียดแก่กรุงเปียงยาง”

ทั้งนี้เพราะสหรัฐ เกาหลีใต้ และพันธมิตรทางทหารอีกหลายชาติเดินหน้าซ้อมรบหน้าบ้านของเกาหลีเหนือ แม้ว่าเกาหลีเหนือจะขู่ว่า พร้อมที่จะตอบโต้การยั่วยุหรือภัยคุกคามนี้ด้วยการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์

“อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบในภูมิภาคนี้คือ การตัดสินใจของกรุงวอชิงตันและกรุงโซลเมื่อปีที่แล้ว โดยสหรัฐส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธเพดานบินสูงชื่อ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้”

“เราเน้นย้ำหลายครั้งว่า ขั้นตอนดังกล่าวจะไม่เพียงทำให้กรุงเปียงยางโกรธ แต่จะเป็นการทำลายความสมดุลทางทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัสเซียและจีน เราขอเรียกร้องให้สหรัฐและสาธารณรัฐเกาหลีพิจารณาทบทวนการตัดสินใจนี้อีกครั้ง และเราหวังว่าประเทศอื่นๆ จะไม่เข้าร่วมมาตรการที่ทำให้เกิดความไม่สงบเหล่านี้” เอกอัครราชทูตบาร์สกี้กล่าวเตือน

การที่สหรัฐส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธชื่อ THAAD เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้ทันทีนั้น เพื่อเป็นการปกป้องเกาหลีใต้และทหารสหรัฐ 2 หมื่นกว่านายที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ หากเกิดการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ

แต่ก็ทำให้จีนและรัสเซียกังวลว่า ระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD มีสมรรถนะที่เกินขอบเขตการปกป้องเกาหลีใต้

เพราะสามารถจับตาการเคลื่อนไหวต่างๆ สามารถสอดส่องอาณาเขตและบ่อนทำลายความมั่นคง ทำลายความสมดุลของอำนาจในภูมิภาค ขณะที่ความตึงเครียดเหนือคาบสมุทรเกาหลีก็ไม่ได้ลดลงเลย

“ในขณะที่มีการสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรตามกฎระหว่างประเทศต่อเกาหลีเหนือ เราควรร่วมมือกับกรุงเปียงยางในการเจรจาที่สร้างสรรค์ เพราะต้องเข้าใจว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยใช้วิธีการลงโทษและสร้างความกดดันเท่านั้น”

“การคว่ำบาตรไม่ควรใช้เพื่อกีดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ และไม่ควรทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของประเทศเลวร้ายลงไป อีกทั้งไม่ควรมีที่ว่างให้ข้อจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดกฎหมายไปกระทบต่ออุตสาหกรรมของพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับโครงการขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การลงโทษดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือ”

“ถึงแม้จะเห็นได้ชัดว่า เกาหลีเหนือปฏิบัติไม่เหมาะสมในการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ถูกต้องตามกฎของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ในมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่การใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ ก็ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะอาจมีผลร้ายแรงโดยรวม ต่อคาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การดำเนินการทางการทูต จึงควรเป็นทางเลือก”

อย่างไรก็ตาม หากมีการเจรจาเพื่อหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จะเป็นประโยชน์สำหรับสหรัฐ คือป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือก้าวข้ามความสามารถทางยุทธศาสตร์ และประโยชน์สำหรับจีน คือการรักษาให้ระบบเกาหลีเหนือยังคงอยู่ ทั้งยังเป็นรัฐกันชนให้กับจีน

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรสงบสติอารมณ์และมีความยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลัง ไม่ควรมีใครใช้วิธีซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้น”

“นับเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างเงื่อนไขสำหรับเขตปลอดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในอนาคต ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากภาวการณ์ปกติของสถานการณ์ทางการทหารและการเมือง ปราศจากการปฏิเสธในการเพิ่มกำลังรบ ปราศจากการลดขนาดของการฝึกทหาร ปราศจากการสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคนี้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจะไม่มีทางเลือกอื่นใดในการตกลงทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหานิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี บนพื้นฐานของแถลงการณ์ร่วมในรอบที่สี่ของการเจรจาหกฝ่าย เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.2005”

เอกอัครราชทูตคีริลล์ บาร์สกี้ ให้ข้อคิดว่า

“จากพัฒนาการที่เกิดขึ้นล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ในภูมิภาคนี้ไม่สมควรที่จะถูกละเลย ดังมีคำกล่าวที่ว่า A bad peace is better than a good fight-สันติภาพที่ย่ำแย่ก็ยังดีกว่าการสู้รบที่เยี่ยมยอด”